รอข้ามคืน หวังคุยปัญหาสำรวจแร่โปแตช แต่นายอำเภอวานรนิวาสกลับรับหนังสือกลุ่มหนุนก่อน (10 พ.ค. 61)
ประชาไท 10 พฤษภาคม 2561
รอข้ามคืน หวังคุยปัญหาสำรวจแร่โปแตช แต่นายอำเภอวานรนิวาสกลับรับหนังสือกลุ่มหนุนก่อน
หลังจากชาวบ้านวานรนิวาสพบว่ามีการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจแร่โปแตซ โดยไม่ชัดเจนว่าทำตามกฎหมายหรือไม่ ก็ออกมารวมตัวคัดค้าน พร้อมเรียกร้องนายอำเภอให้เดินทางมารับฟังปัญหา แต่สุดท้ายรอข้ามคืน ก่อนนายอำเภอเดินทางมาได้ออกไปรับหนังสือของกลุ่มหนุนเหมืองก่อน
10 พ.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. มีรถของบริษัท บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้เข้าไปในพื้นที่ขุดสำรวจแร่โปแตซ ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวบ้านในเขต ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เพื่อขุดเอาอุปกรณ์สำหรับการขุดเจาะ แต่เนื่องจากเจ้าของที่ดินได้ยกเลิกสัญญาแล้ว และทางบริษัทได้เข้าไปโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้าก่อน เจ้าของที่ดินจึงได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจข้อหาบุกรุก แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้รับเรื่องแจ้งความ แต่ของให้มีการไกล่เกลี่ยตกลงกันจนได้ข้อยุติ
หลังจากนั้นชาวบ้านในพื้นที่ได้เริ่มเฝ้าระวังการเข้ามาของบริษัทอีกครั้ง โดยในวันที่ 9 เวลาประมาณ 11.00 น. ได้ขนย้ายอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจแร่โปแตชอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้จะเป็นการไปสำรวจในพื้นที่ใหม่ ที่ชุมชนบ้านน้อยหลังวัดโนน โดยมี เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร คอยอำนวยความสะดวกในการขนย้ายอุปกรณ์
เครือข่ายชาวบ้าน์อำเภอวานรนิวาส ซึ่งประกอบไปด้วยชาวบ้านหลายหมู่บ้านในพื้นที่อำเภอวานรนิวาส ที่คัดค้านการสำรวจเหมืองแร่โปแตช ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือจี้ให้เจ้าหน้าที่รัฐ หยุดกระบวนการสำรวจแร่โปแตช และให้มีการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฏหมายแร่ ปี 2560
โครงการเหมืองแร่โปแตชอำเภอวานรนิวาส และอำเภออื่น ๆ ในจังหวัดสกลนคร
คนวานรนิวาสร่วม 500 ค้านเหมืองโปแตซ หลัง'ไชน่าหมิงต๋า' จัดเวทีผู้รู้มาเล่า
ณัฐพร อาจหาญ สมาชิกขบวนการอีสานใหม่ ได้ให้ข้อมูลว่า ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายแร่ฉบับใหม่ที่มีผลใช้บังคับแล้ว ได้ระบุไว้ชัดเจนในมาตรา 188 ว่าบรรดาคำขอทุกประเภทที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นคำขอตามพระราชบัญญัตินี้ และให้พิจารณาดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ด้วยเหตุนี้เองเมื่อกฎหมายแร่ฉบับใหม่ออกประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรังวัดกำหนดเขตคำขอตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 บังคับใช้ จึงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแร่ฉบับใหม่อย่างเคร่งครัดด้วยการตรวจสอบพื้นที่ที่ยื่นคำขอว่าเป็นพื้นที่ที่ห้ามยื่นขอตามกฎหมายว่าด้วยแร่หรือกฎหมายอื่นหรือไม่
“ชาวบ้านเขาขอสอบถามเพราะว่าตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่บอกว่า แม้จะเป็นพื้นที่ที่ได้อาชญาบัตรพิเศษ ก็ต้องมีการดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งระบุว่าในอาชญาบัตรจะต้องมีการชี้แจ้งรายละเอียดของพื้นที่ คือในพื้นที่ที่เขาได้รับอาชญาบัตรในการเข้ามาสำรวจ 120,000 ไร่ บริษัทต้องแจกแจงมาให้หมดว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ประเภทไหนตามการจัดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ และเป็นพื้นที่สงวนหรือพื้นที่ต้องห้ามตามกฎหมายอื่นๆ หรือไม่ ตรงนี้กฎหมายกำหนดว่าต้องชี้แจงทั้งหมดก่อนจะดำเนินการใดๆ” ณัฐพร กล่าว
แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ที่นำขบวนรถขนย้ายอุปกรณ์ของบริษัท กลับพยายามอ้าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ โดยชี้ว่าการรวมตัวของชาวบ้านอาจเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และขอให้ชาวบ้านเปิดทางให้กับบริษัทขนอุปกรณ์เจาะสำรวจแร่ แต่ชาวบ้านยืนยันสิทธิในการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรของชุมชน และใช้สิทธิพลเมืองในการแสดงความคิดเห็นอย่างสงบ
จนกระทั่งเวลา 14.00 น. รถขนอุปกรณ์สำรวจโปแตชได้เคลื่อนออกจากพื้นที่ เพื่อนำอุปกรณ์ไปเก็บไว้ ณ.ที่ตั้งของบริษัทในอำเภอวานรนิวาส จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ได้มาบันทึกวิดีโอความต้องการของชาวบ้าน โดยแจ้งว่าจะนำไปปรึกษากับผู้บังคับบัญชาต่อไป
ชาววานรนิวาสโวย อุตสาหกรรมจังหวัดจงใจปกปิดข้อมูลสำรวจแร่โปแตชสกลนคร
กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส ใช้พิธีกรรมต่อสู้เพื่อต้านเหมืองแร่โปแตช
ณัฐพล ให้ข้อมูลต่อว่า ชาวบ้านมีความต้องการที่จะคุยกับนายอำเภอ โดยเรียกร้องให้นายอำนาจเดินทางเข้ามาในพื้นที่ โดยชาวบ้านได้อยู่เป้าพื้นที่หลุมขุดเจาะดังกล่าวจนข้ามคืน เข้าสู่วันที่ 10 พ.ค. จึงมีเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจเข้ามาพูดคุยอีกครั้ง แต่นายอำเภอซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงยังไม่ได้เดินทางมา ทั้งยังทราบข่าวว่าในช่วงบ่ายนายอำเภอได้ออกมารับหนังสือของกลุ่มสนับสนุนเหมืองแร่โปแตซ จนกระทั่ง 16.00 น. นายอำเภอจึงจะเดินทางมาพบกับชาวบ้าน และรับหนังสือของชาวบ้านที่ไม่เห็นกับการทำเหมืองแร่ แต่ยังไม่ทันได้พูดคุยอะไรมาก ก็จำเป็นต้องแยกย้ายออกจากพื้นที่ทั้งหมดเนื่องจากมีฝนตกอย่างหนัก
“ประเด็นที่สำคัญที่เรายังติดใจอยู่ก็คือ การไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลของอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร คือยังไม่มีการเปิดเผยแผนที่แนบท้ายโครงการว่ามีพื้นที่ใดบ้างที่อยู่ในแผนการสำรวจของบริษัท ชาวบ้านเราขอมาตลอดยื่นเรื่องของมาตลอด หน่วยงานก็ตอบกลับมาว่าไม่สามารถให้ได้เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกับสิทธิของบริษัท จากนั้นชาวบ้านก็ไปยื่นขอกับคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร ให้เปิดเผยข้อมูลส่วนนี้ ล่าสุดก็มีการส่งเรื่องกลับมาว่ามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อให้พิจารณาว่าจะเปิดเผยข้อมูลได้หรือไม่ ซึ่งก็จะเห็นว่าชาวบ้านยังไม่เคยเข้าถึงข้อมูลของโครงการเลย โดยมีความพยายามกีดกันไม่ให้ชาวบ้านเข้าถึงข้อมูล และระหว่างนั้นบริษัทกลับดำเนินการไป”