ญี่ปุ่นเฮ! ค้นพบขุมทรัพย์ ‘สินแร่หายาก’ ปริมาณมหาศาล คาดพลิกโฉมเศรษฐกิจโลก (20 เม.ย. 61)
มติชนออนไลน์ 20 เมษายน 2561
ญี่ปุ่นเฮ! ค้นพบขุมทรัพย์ ‘สินแร่หายาก’ ปริมาณมหาศาล คาดพลิกโฉมเศรษฐกิจโลก
เกาะมินามิโทริชิมะ
ทีมนักวิจัยญี่ปุ่นค้นพบแหล่งแร่มีค่าปริมาณมหาศาลถึง 16 ล้านตัน ที่นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า จะ “เปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจโลก” ได้ในอนาคต ฝังอยู่ในโคลนรอบเกาะมินานิโทริ ห่างจากชายฝั่งประเทศญี่ปุ่น 1,200 กิโลเมตร
การค้นพบดังกล่าวซึ่งรายงานผ่านซีเอ็นเอ็น และ ฟ็อกซ์61 ระบุว่าสินแร่มีค่าหายากดังกล่าวเป็นสินแร่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฮเทค อย่างสมาร์ทโฟน ระบบขีปนาวุธ ระบบเรดาร์ รวมไปถึงพาหนะไฮบริดจ์ ยกตัวอย่างเช่น แร่อิตเทรียม หนึ่งในสินแร่ที่ค้นพบในครั้งนี้ใช้สำหรับผลิตเลนส์กล้อง ซุปเปอร์คอนดักเตอร์ และหน้าจอสมาร์ทโฟน
รายงานระบุว่า สินแร่จำนวน 16 ล้านตันนั้น ประกอบไปด้วยแร่อิตเทรียม ปริมาณที่สามารถนำมาใช้ได้เป็นเวลานานถึง 780 ปี แร่ยูโรเพียม ใช้ได้ 620 ปี เทอร์เบียม ใช้ได้ 420 ปี และดิสโพรเซียม ใช้ได้ 730 ปี โดยรายงานการวิจัยระบุไว้ว่าสามารถป้อนสินแร่เหล่านี้สู่อุตสาหกรรมโลกได้ในแบบกึ่งอนันต์ หรือแทบจะไม่มีวันหมด
ด้านสำนักสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐระบุว่า ในขณะที่สินแร่ดังกล่าวมีจำนวนมากมายบนโลก แต่การที่จะสามารถเข้าถึงและนำออกมาใช้ได้ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้น้อยมาก นั่นทำให้การค้นพบในขนาดใหญ่ระดับนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
รายงานระบุว่าในเวลานี้จีนถือครองอำนาจในฐานะผู้ผลิตสินแร่หายากดังกล่าวเอาไว้เป็นสัดส่วน 95 เปอร์เซ็นต์ของผู้ผลิตทั้งหมดในโลก นับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา และนั่นทำให้ทั้งญี่ปุ่นและประเทศต่างๆ ต้องพึ่งพาการซื้อสินแร่หายากดังกล่าวจากจีน ที่เป็นผู้กำหนดปริมาณและราคาเองทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นได้ควบคุมเศรษฐกิจจากแหล่งแร่ที่ค้นพบใหม่ได้ทั้งหมด และงานวิจัยก็ระบุด้วยว่าตัวชี้วัดทั้งหมดก็คือแหล่งแร่ใหม่ที่พบซึ่งจะสามารถนำมาใช้ได้ในอนาคตอันใกล้นี้