‘การบิน’ เฟื่องฟู … คาร์บอนท่วมฟ้า นานาประเทศเตรียมอำลาเชื้อเพลิง ‘ฟอสซิล’ (19 เม.ย. 61)

Green News TV 19 เมษายน 2561
‘การบิน’ เฟื่องฟู … คาร์บอนท่วมฟ้า นานาประเทศเตรียมอำลาเชื้อเพลิง ‘ฟอสซิล’

การเปิดตัวของสายการบินใหม่โดยเฉพาะสายการบินโลวคอส ทำให้ผู้คนเข้าถึงการเดินทางที่รวดเร็วและสบายกระเป๋า แต่ในขณะเดียวกันธุรกิจการบินก็นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยะสำคัญ

เว็บไซต์ของคณะกรรมมาธิการยุโรป ระบุว่า เมื่อคนหนึ่งนั่งเครื่องบินไปกลับบนเส้นทางลอนดอน-นิวยอร์ค จะผลิตก๊าซเรือนกระจกเท่ากับการทำความร้อนในบ้านตลอด 1 ปี

การเดินเครื่องของเครืองบินก่อให้เกิดความร้อนและก๊าซเรือนกระจกจากการสันดาปของเครื่องยนต์และการรักษาสภาพภายในตัวเครื่อง แม้จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิง สัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมการบินก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ประมาณการณ์ว่า การบินปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสัดส่วน 2% ของแหล่งเกิดก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด และจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 5% ภายในปี 2593 เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินที่เติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการเปิดเส้นทางการบินใหม่ของสายการบินต่างๆ

International Air Transport Association คาดการณ์ว่า ภายในปี 2579 ผู้โดยสารบนสายการบินทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหรือประมาณ 7,800 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการบินมีแนวโน้มเติบโตถึง 300-700% เทียบระหว่างปี 2548 และ 2593 หากไม่มีการบังคับใช้มาตรการลดก๊าซเรือนกระจก สัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมการบินอาจเพิ่มเป็น 15% ของแหล่งที่มาก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

—– แหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ถูกมองข้าม —–

เชื้อเพลิงที่ใช้ในการบินเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ถูกมองข้าม

เครื่องบินใช้น้ำมันและก๊าซคุณภาพสูงในการเดินเครื่อง อย่างไรก็ตามข้อตกลงการบินนานาชาติยังคงยกเว้นภาษีนำเข้าเชื้อเพลิงที่บรรจุในเครื่องบิน เพราะถือว่าเชื้อเพลิงนั้นอยู่ในตัวเครื่องบิน มิได้นำเข้าประเทศหนึ่ง แม้ว่าเครื่องบินจะร่อนลงจอดบนแผ่นดินประเทศนั้น

การไม่ได้คิดภาษีเชื้อเพลิงทำให้สัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการบินถูกมองข้าม เมื่อเกิดธุรกิจสายการบินโลวคอสได้รับความนิยม มีการแข่งขันสูงเพื่อลดราคาตั๋วเครื่องบิน ทำให้การคิดภาษีเชื้อเพลิงเป็นอุปสรรคต่อการควบคุมต้นทุนในการบิน

ในเดือน ต.ค. 2559 องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ซึ่งเป็นหน่วยงานพิเศษของสหประชาชาติเพื่อวางระเบียบข้อบังคับ สำหรับกิจกรรมการบินระหว่างประเทศ มีมติจัดทำมาตรการและแนวทางเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมการบิน โดยวางแผนว่าจะมีกรอบการทำงานและมาตรการที่ชัดเจนภายใน 4 ปีข้างหน้า

สายการบินทั่วโลกต้องนำมาตราการมาปรับใช้เพื่อมอนิเตอร์และควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินการสายการบินของตนภายหลังปี 2563 เป็นต้นไป มาตรการดังกล่าวอาจเริ่มต้นด้วยความสมัครใจของสายการบิน และอาจยกเว้นการใช้มาตรการในสายการบินที่มีกิจกรรมการบินไม่มากนัก

มีการตั้งเป้าให้อุตสาหกรรมการบินตัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบระหว่างปี 2548 และ 2593 อย่างไรก็ตามองค์กรติดตามนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกอย่าง Climate Action Network ให้ความเห็นไว้ว่าเป้าหมายนี้มิอาจเป็นจริงได้ หากยังมีการใช้เชื้อเพลิงฟอซซิลในการเดินเครื่องบิน

—– พัฒนาเครื่องบินไฟฟ้า ทางออกอุตสาหกรรมการบิน? —–

“หลายคนพูดว่าเราต้องยกเลิกการเดินทางทางอากาศ เพราะเราจะไม่สามารถจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเสียงรบกวนจากการบินได้ นั่นเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ล้าสมัย” Ketil Solvik–Olsen รัฐมนตรีประจำกระทรวงการขนส่งและการสื่อสารนอร์เวย์ กล่าวในระหว่างการประชุมด้านการบินในกรุงออสโล

แม้ว่าประเทศนอร์เวย์จะเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ของยุโรป รัฐบาลกลับมีนโยบายในการทำให้นอร์เวย์เป็นผู้นำด้านการขนส่งด้วยไฟฟ้า และตั้งเป้าว่ารถทุกคันในประเทศต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2568

อุตสาหกรรมการบินกำลังมองหาทางออกจากเทคโนโลยีขับเคลื่อนยานยนต์ด้วยไฟฟ้าเช่นกัน

สายการบินขนาดเล็ก Wideroe Airlines ซึ่งเปิดเส้นทางเฉพาะทางตอนเหนือของประเทศนอร์เวย์วางแผนจะเปลี่ยนไปใช้เครื่องบินไฟฟ้าภายใน 12 ปีข้างหน้า ขณะที่ Dag Falk–Petersen ผู้อำนวยการบริษัทของรัฐบาล Avinor ซึ่งทำหน้าที่ดูแลสนามบินในประเทศ เชื่อว่าอุตสาหกรรมการบินในนอร์เวย์จะสามารถเปลี่ยนไปใช้เครื่องบินไฟฟ้า 100% ภายใน 20 ปีข้างหน้า

บริษัทนานาชาติอื่นๆ เช่น บริษัท Zunum Aero กำลังพัฒนาเครื่องบินไฮบริดจ์ที่สามารถสลับใช้ไฟฟ้าและเชื้อเพลิงฟอซซิลในการเดินเครื่อง โดยบริษัทเชื่อว่าค่าใช้จ่ายในการเดินเครื่องด้วยไฟฟ้าจะมีราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงฟอซซิล และยังก่อให้เกิดมลพิษทางเสียงน้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นที่ถกเถียงว่าแหล่งที่มาของไฟฟ้าเพื่อนำมาใช้เดินเครื่องบินจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงไร หากแหล่งที่มาของไฟฟ้าคือเขื่อนหรือโรงไฟฟ้าที่ก่อมลพิษและปัญหาสิ่งแวดล้อม

นี่ยังคงเป็นโจทย์ที่ต้องคิดต่อไปเพื่อสร้างอุตสาหกรรมการบินสีเขียวที่แท้จริง

ที่มา:
https://ec.europa.eu/clima/policies/transport/aviation_en
http://www.straitstimes.com/world/europe/faced-with-global-warming-aviation-industry-eyes-electric-powered-aircraft