ปี ’62 กทม.เล็งซื้ออุปกรณ์ตรวจค่า ‘ฝุ่นจิ๋ว’ (19 เม.ย. 61)

มติชนออนไลน์ 19 เมษายน 2561
ปี’62 กทม.เล็งซื้ออุปกรณ์ตรวจค่า ‘ฝุ่นจิ๋ว’ 

เมื่อวันที่ 19 เมษายน นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ สำนักงานเขตราชเทวี รถตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในโรงเรียนหอวัง และเครื่องมือวัดคุณภาพอากาศที่ติดตั้งบนเสาเหล็ก บริเวณแยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร ว่า ที่ผ่านมา กทม.มักประสบปัญหาฝุ่นละอองในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อนทุกปี ทำให้ต้องเริ่มติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศครั้งแรก เมื่อปี 2539 ที่สำนักงานเขตราชเทวี ปัจจุบัน กทม.มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 4 สถานี รถตรวจวัด 5 คัน และเสาเหล็ก 46 จุด เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพอากาศและเสียง พร้อมหามาตรการรับมือได้ทันสถานการณ์

นายจักกพันธุ์กล่าวว่า สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นพบสถานีตรวจวัดบางแห่งสามารถตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) หรือค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ได้เพียงข้อมูลฝุ่นชนิดเดียว หรือบางสถานีสามารถวัดค่าฝุ่นหรือค่าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ อาทิ โอโซน ค่าทิศทางลม ความกดอากาศ ฯลฯ ทำให้มีข้อมูลไม่เพียงพอต่อการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ภาพรวมคุณภาพอากาศครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ

“ที่ผ่านมา กทม.พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการนำรถตรวจวัดอากาศแบบเคลื่อนที่ ตระเวนไปตรวจวัดอากาศตามพื้นที่สำคัญที่มีความเสี่ยงให้มากที่สุด แต่พบปัญหา คือ 1.แม้มีการติดตั้งเสาเหล็กครอบคลุมพื้นที่ 50 เขตแล้ว แต่ในพื้นที่ 1 เขตจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ตรวจวัดมากกว่า 1 จุด 2.เมื่อสำนักสิ่งแวดล้อม กทม.ได้ค่าตรวจวัดแล้วจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอย่างไร เนื่องจากปัจจุบัน กทม.มีจอแสดงผลคุณภาพอากาศติดตั้งอยู่ 8 จุดเท่านั้น จึงจำเป็นต้องติดตั้งจอแสดงผลเพิ่มในพื้นที่สำคัญ และ 3.กทม.ต้องการให้การตรวจวัดคุณภาพอากาศสามารถตรวจวัดค่า PM2.5 ได้ เนื่องจากเป็นค่ามาตรฐานสากลโลก จำเป็นต้องจัดหาอุปกรณ์วัดค่า PM2.5 เพิ่มเติม” นายจักกพันธุ์กล่าว

นอกจากนี้ นายจักกพันธุ์กล่าวว่า ปัจจุบันอุปกรณ์ที่วัดค่า PM2.5 ได้มีเพียงสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 1 แห่ง เสาเหล็ก 23 จุด และรถตรวจวัด 5 คันเท่านั้น สำนักสิ่งแวดล้อมจึงอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูล เพื่อจัดหาอุปกรณ์หรือเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ PM2.5 เช่นเดียวกับที่ใช้ตามหน่วยงานราชการต่างๆ และสามารถเคลื่อนที่ได้ ประเมินราคาเบื้องต้นราว 1.2 ล้านบาท มีราคาถูกกว่าการติดตั้งสถานี รถตรวจวัด และเสาเหล็กที่มีราคามากกว่า 5 ล้านบาท รวมถึงศึกษารายละเอียดบริเวณติดตั้งจอแสดงผลคุณภาพอากาศเพิ่มเติมบริเวณถนนสายสำคัญ โดยยึดหลักใช้งบประมาณอย่างประหยัดและคุ้มค่า หากศึกษาแล้วเสร็จ คาดจะจัดสรรงบประมาณจัดซื้อปี 2562