“อุทยานธรณีโลกสตูล” อวสานท่าเรือน้ำลึกปากบารา?! (19 เม.ย. 61)
MGR Online 19 เมษายน 2561
[In Clip] “อุทยานธรณีโลกสตูล” อวสานท่าเรือน้ำลึกปากบารา?!
โจทย์ที่ท้าทายยิ่งต่อเรื่องนี้สำหรับรัฐบาลไทย และจังหวัดสตูลคือการบริหารจัดการ “อุทยานธรณีสตูล” แห่งนี้ให้มีความยั่งยืนได้อย่างไร ใครจะรู้หรือไม่ว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา อันเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสั่งยกเลิก หรือจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปนั้น ได้ตั้งอยู่ตรงใจกลางของแหล่งอุทยานธรณีวิทยาสตูล (Satun Geopark ) จึงเป็นอีกโจทย์หนึ่งของรัฐบาลที่จะต้องเลือกตัดสินใจ
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้จังหวัดสตูลเป็นพื้นที่แห่งอุทยานธรณีแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นลำดับที่ 5 ในอาเซี่ยน หลังจากความพยายามผลักดันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา โดยกำหนดพื้นที่อุทยานธรณี ตั้งหน่วยงานบริหารจัดการ จัดทำแผนบริหารจัดการ และดำเนินการตามแผนฯ และได้เริ่มประกาศจัดตั้งอุทยานธรณีสตูล (Satun Geopark) เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557
จนเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเสนอให้อุทยานธรณีสตูลเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Globat Geoparks) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และได้มอบหมายให้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการเสนออุทยานธรณีสูตลเป็นสมาชิกธรณีโลกของยูเนสโกต่อสำนักเลขาธิการยูเนสโก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานว่า อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Globat Geoparks) เป็นโครงการด้านการอนุรักษ์มรดกทางธรณีวิทยา โบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม ขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) อุทยานธรณีโลกะต้องเป็นขอบเขตพื้นที่ที่ประกอบด้วยแหล่งที่มีคุณค่าด้านธรณีวิทยา โบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม
มีการบริหารจัดการแบบองค์รวมระหว่างการอนุรักษ์ การให้ความรู้ การศึกษาวิจัย และการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ เชื่อมโยงความสำคัญของมรดกทางธรณีวิทยาผ่านการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก จำนวนทั้งสิ้น 120 แห่ง ใน 33 ประเทศ โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอุทยานธรณีธรณีโลกของยูเนสโกแล้ว จำนวน 4 แห่ง ใน 3 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย 1 แห่ง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม 1 แห่ง และสาธารณรัฐอินโดนีเซีย 2 แห่ง
“อุทยานธรณีสตูล” (Satun Geopark) มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ 2,597.21 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ครอบคลุม 4 อำเภอของจังหวัดสตูล คือ ทุ่งหว้า มะนัง ละงู และอำเภอเมือง ด้วยลักษณะภูมิประเทศเฉพาะของจังหวัดสตูลที่มีเทือกเขาหินปูน มีเกาะน้อยใหญ่จำนวนมาก และยังมีชายหาดที่สวยงามมากมายที่สามารถดึงดูดนัท่องเที่ยวให้เข้ามาสัมผัสกับธรรมชาติอันบริสุทธิ์แห่งนี้ได้ไม่ยากนัก ประกอบกับพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ของที่แห่งนี้ได้เชื่อมโยงชีวิตและวิถีวัฒนธรรมของผู้คนที่นี้ให้ดำรงอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน และมีความสงบสุขอย่างเห็นได้ชัด ด้วยความเป็นเมืองเล็กๆที่มีประชากรไม่มากนัก แต่มีความความหลากหลายของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมมากมาย
ได้มีการค้นพบว่าแหล่งธรณีวิทยาแห่งนี้ถือเป็นเป็นหลักฐานสำคัญของโลกใต้ทะเลเมื่อ 500 ล้านปีก่อน ที่มีการค้นพบสิ่งมีชีวิตยุคโบราณจำนวนมาก และยังเป็นแหล่งสร้างออกซิเจนให้กับโลกในช่วงเวลานั้น จนทำให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก จนเมื่อมีการยกตัวของเปลือกโลกก่อเกิดเป็นเทือกเขา และถ้ำ ซึ่งได้กลายเป็นบ้านหลังแรกของมนุษย์โบราณ ปัจจุบันผู้คนก็ยังดำรงชีวิตโดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของแผ่นดินนี้อยู่ และก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะที่ชัดเจน
ด้วยความโดดเด่นทางธรณีวิทยา ภูมิประเทศและธรรมชาติของอุทยานธรณีสตูล ก่อให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวแนวผจญภัย เช่น ล่องแก่ง ดำน้ำ เที่ยวถ้ำ การท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจที่น้ำตก ชายหาด รวมถึงเลือกซื้อของฝากผลิตภัณฑ์ชุมชน และสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลาย และภาพโปรโมทหลักที่ทางยูเนสโกได้นำมาโชว์แสดงบนหน้าเวปไซร์ก็เป็นภาพของเกาะเขาใหญ่ ที่กำลังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นอย่างยิ่งในปัจจุบัน และบริเวณแห่งนี้ยังมีหลักฐานทางธรณีวิทยาสำคัญจนเป็นที่ยอมรับของนักธรณีวิทยาที่เข้าสำรวจ
ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์นี้ได้ และเป็นที่ประจักษ์ในช่วงสองปีที่ผ่านมาว่าสถานที่ท่องเที่ยวใกล้ชายฝั่งทะเลที่มีความสวยงามอย่างเกาะเขาใหญ่ และพื้นที่ใกล้เคียงสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเชื่อว่าจากนี้ไปอุทยานธรณีสตูล (Satun Geopark) จะกลายเป็นพื้นที่ทางธรณีวิทยาระดับโลกที่มีความโดดเด่นไม่แพ้แหล่งธรณีวิทยาในประเทศอื่นๆที่ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้แล้ว และประเทศไทยอันหมายถึงจังหวัดสตูลก็จะกลายเป็นพื้นที่ที่คนทั้งโลกให้ความสนใจมากขึ้นหลังจากนี้อย่างไม่อาจจะปฏิเสธได้
โจทย์ที่ท้าทายยิ่งต่อเรื่องนี้สำหรับรัฐบาลไทย และจังหวัดสตูลคือการบริหารจัดการ “อุทยานธรณีสตูล” แห่งนี้ให้มีความยั่งยืนได้อย่างไร ซึ่งจะต้องเป็นพื้นที่แห่งการเรียน เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงมรดกทางธรรมชาติ มรดกทางสิ่งแวดล้อม และวิถีวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ ทั้งนี้จะต้องทำให้คนในพื้นที่และคนในประเทศไทยได้เห็นถึงคุณค่าความสำคัญของสิ่งนี้ได้อย่างแท้จริง
แล้วใครจะรู้หรือไม่ว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา อันเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสั่งยกเลิก หรือจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปนั้น ได้ตั้งอยู่ตรงใจกลางของแหล่งอุทยานธรณีวิทยาสตูล (Satun Geopark ) จึงเป็นอีกโจทย์หนึ่งของรัฐบาลที่จะต้องเลือกตัดสินใจให้ชัดเจนว่าท่านต้องการให้อนาคตของจังหวัดสตูลเป็นอย่างไร ? (ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์อุทยานธรณีวิทยาสตูล)