ปัดฝุ่นทวายดึงยุ่น ปรับไซซ์โครงการ "ตู่"เยือนเมียนมาร์ (22 ก.ย. 57)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 22 กันยายน 2557
ปัดฝุ่นทวายดึงยุ่น ปรับไซซ์โครงการ "ตู่"เยือนเมียนมาร์
รัฐบาลปัดฝุ่นเดินหน้า "โครงการทวาย" จับตา "บิ๊กตู่" เยือนเมียนมาร์ 1-2 ตุลาคมนี้ ล่าสุด สศช.ดอดคุยญี่ปุ่น ลุ้นคัมแบ็กร่วมลงทุนเฟสแรก "ณรงค์ชัย" คาดไตรมาส 4 ทุกอย่างชัดเจนทั้งโครงการลงทุน-พันธมิตร
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย จะมีการเดินหน้าต่ออย่างแน่นอน เพราะเป็นโครงการที่ดี เหมือนกับอีสเทิร์นซีบอร์ด เพียงแต่เป็นโครงการที่ต้องใช้ระยะเวลาในการลงทุนนานพอสมควร
"จะเดินหน้าอย่างไร ต้องรอฟังนโยบายรัฐบาลในเรื่องนี้อีกที โดยในวันที่ 1-2 ต.ค.นี้ นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) จะเดินทางไปเยียนเมียนมาร์ เพื่อแนะนำตัวหลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 29"
ด้านแหล่งข่าวทางคณะทำงานโครงการลงทุนทวายเปิดเผยว่า ทางเมียนมาร์ต้องการให้เดินหน้าโครงการต่อ โดยอยากให้เริ่มเดินหน้าเฟสเริ่มต้น (Initial Phase) ในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการให้สนับสนุนการเดินหน้าโครงการนี้ หลังจากผู้นำทหารของเมียนมาร์ได้มาเยือนไทยครั้งก่อนหน้านี้ และทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำลังเจรจากับญี่ปุ่นให้เข้ามาร่วมลงทุน
"วันที่ 22 ก.ย.นี้ ทางเมียนมาร์ขอให้ผู้ที่สนใจลงทุนในเฟสเริ่มต้น ส่งรายละเอียดโครงการ (Proposal) ไปให้ทางเมียนมาร์พิจารณาโดยตรง โดย ITD (บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์) จะยื่นแน่นอน ส่วนอีกรายคือญี่ปุ่น ซึ่งต้องรอผลหลังจากที่ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ที่เข้าหารือกับนายอาคม รมช.คมนาคม ในวันที่ 19 ก.ย.นี้ก่อน" แหล่งข่าวกล่าว
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการ สศช.กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า รัฐบาลยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดที่เกิดขึ้นคือทางตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้าหารือกับเมียนมาร์ เพื่อขอรับทราบข้อมูลรายละเอียดโครงการเพิ่มเติม ซึ่งสะท้อนว่าทางญี่ปุ่นก็ยังมีความกระตือรือร้นจะเข้าร่วมโครงการทวายอยู่
"ญี่ปุ่นก็สนใจและแอ็กทีฟมากขึ้น ล่าสุดเขาก็ไปคุยกับเมียนมาร์ ขอข้อมูลเพื่อให้มั่นใจเรื่องข้อมูลสภาพภูมิประเทศและพื้นที่ ส่วนมูลค่าของทั้งโครงการจะถึง 1.6 ล้านล้านบาทหรือไม่ ไม่แน่ใจว่าใช้ข้อมูลนี้อยู่หรือไม่" นายอาคมกล่าว
ในด้านกระบวนการทำงานในฝั่งไทยนั้น นายอาคมกล่าวว่า ทางบริษัท ทวาย เอสอีแซด ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ (เอสพีวี) ที่ตั้งขึ้นร่วมกันระหว่างไทยกับเมียนมาร์ ยังคงเดินหน้าทำงานร่วมกันในระดับเจ้าหน้าที่ เพียงแต่โครงสร้างคณะกรรมการระดับนโยบายอาจสะดุดไป ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้มอบหมายให้ สศช.ปรับปรุงโครงสร้างการทำงานจากเดิมมี 3 ระดับ ได้แก่ คณะทำงานร่วมระดับสูงไทย-พม่า (JHC) คณะกรรมการประสานงานไทย-พม่า (JCC) และคณะทำงานระดับปฏิบัติการ (Task Force) ก็จะปรับให้เหลือ 1-2 ระดับ ได้แก่ คณะทำงานระดับสูงและคณะทำงานเท่านั้น เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในทางปฏิบัติ ซึ่ง สศช.จะเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ในเร็ว ๆ นี้
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายว่า ภายในไตรมาส 4 นี้น่าจะมีความชัดเจน ทั้งรูปแบบโครงการที่จะลงทุนในโครงการทวาย และพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในกับรัฐบาลไทย ซึ่งเบื้องต้นทุกด้านกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาและหาข้อสรุป ซึ่งรัฐบาลชุดนี้มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมผลักดันเต็มที่ เพราะเชื่อว่ามีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะข้างหน้า
"ตอนนี้ยังไม่สรุป กำลังตกลงร่วมกันว่ารูปแบบโครงการจะเป็นอย่างไร ใครจะเข้ามาลงทุนบ้าง พันธมิตรจะให้ใครเข้ามา ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งคุยอยู่แล้ว คุยกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องกันมาตลอด ก็คาดว่าน่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 4 นี้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องผลักดัน เพราะมีประโยชน์กับประเทศมาก หากโครงการนี้เกิดขึ้น" นายณรงค์ชัยกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ผ่านมา บริษัท ทวาย เอสอีแซด ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัท Ernst & Young Consortium กับ Siam Premier International และ "COT" เป็นที่ปรึกษาทำ Due Diligence เพื่อประเมินมูลค่าทรัพย์สินและการลงทุนที่ ITD ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ โดยผู้ที่เข้ามาลงทุนเฟสเริ่มต้นจะเป็นผู้จ่ายเงินคืนให้ ITD
"ปัจจุบันผลศึกษาเสร็จแล้ว แต่ต้องรอการเจรจาต่อรองระหว่างเมียนมาร์กับ ITD ก่อน ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าเงินลงทุนที่จะต้องคืน ITD อาจไม่ถึง 6,000 ล้านบาท ตามที่ ITD เคยประเมินไว้"
สำหรับการลงทุนเฟสเริ่มต้นจะอยู่ภายนอกเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย จะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น อาทิ ถนนเชื่อมนิคมทวายมายังประเทศไทยที่ด่านพุน้ำร้อน และการสร้างท่าเรือขนาดเล็กที่อยู่นอกนิคม เพื่อจะได้ส่งสินค้าเข้ามา เพราะหากไม่มี 2 ส่วนนี้ก็ไม่สามารถเข้าไปพัฒนานิคมทวายได้ ซึ่งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 3 หมื่นไร่ คิดเป็น 1 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมดของโครงการ 1.2 แสนไร่ มูลค่าลงทุนเฟสเริ่มต้นนี้ประมาณ 1 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ผู้ลงทุนเฟสเริ่มต้นจะได้สิทธิประโยชน์บางส่วนในพื้นที่อุตสาหกรรมด้วย เช่น อาจให้บริหารบางส่วนในนิคมทวาย หรือทำโรงไฟฟ้าขนาดย่อย เพื่อขายให้นิคม หรือทำน้ำประปา เป็นต้น