มลพิษอุตสาหกรรม ผลข้างเคียงจากการพัฒนา (21 มิ.ย. 60)

แนวหน้า 21 มิถุนายน 2560
มลพิษอุตสาหกรรม ผลข้างเคียงจากการพัฒนา

อุตสาหกรรม ถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้ประเทศไทยเป็นอันดับ 2 รองจากภาคบริการและมากกว่าภาคเกษตรกรรม ดังข้อมูลจากเอกสารชุด “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (เกษตรกรรม อาหาร และการพัฒนาที่ยั่งยืน)” จัดทำโดย ลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) สำหรับใช้ประกอบการบรรยายในงานประชุมสมัชชาความมั่นคงทางอาหาร ประจำปี 2559 ระบุถึงสัดส่วนเศรษฐกิจของไทยเอาไว้ว่า

..เป็นภาคบริการ ร้อยละ 53 ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 37 และภาคเกษตรกรรม ร้อยละ 10..

เป็นเวลากว่ากึ่งศตวรรษนับตั้งแต่แผนพัฒนาฯฉบับแรก ในปี 2504 ที่เน้นดึงเม็ดเงินลงทุนของเอกชนทั้งไทยและต่างชาติให้ลงไปในภาคอุตสาหกรรม พร้อมๆ กับผู้คนในจังหวัดต่างๆ ออกเดินทางจากบ้านเกิดเพื่อเข้าไปเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก มุมหนึ่งได้สร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จนประเทศไทยถูกเรียกว่า “ประเทศอุตสาหกรรมใหม่” (Newly Industrialized Country-NIC)แต่อีกมุมหนึ่ง อุตสาหกรรมที่ขาดการควบคุม ก็มีผลข้างเคียงที่น่าสะพรึงกลัว นั่นคือ

..“มลพิษ” จากสารอันตรายต่างๆ ที่รั่วไหลออกมาสู่ชุมชนโดยรอบ ทั้งในดิน แหล่งน้ำ และอากาศ..

ที่งานข่าว “ภาพรวมปัญหามลพิษอุตสาหกรรม 2558-2559 และผลการศึกษาโลหะหนักในตะกอนดิน 8 จังหวัด” ณ รร.เซ็นจูรี่พาร์ค แยกสามเหลี่ยมดินแดง กรุงเทพฯ อัฏฐพร ฤทธิชาติ ฝ่ายเทคนิคและวิชาการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยถึงสถานการณ์มลพิษในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง ในรอบ 2 ปีล่าสุด ว่า ในย่านอุตสาหกรรม พบสารเบนซิน (Benzene) และคลอโรฟอร์ม (Chloroform) เกินมาตรฐาน

ขณะที่บริเวณลุ่มน้ำที่ประชาชนใช้ทำการเกษตร ตรวจพบการปนเปื้อนของสารหนู ทองแดง และปรอท ในเนื้อดิน สอดคล้องกับข้อมูลที่ว่า “คนระยองเป็นมะเร็งมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ” ที่พบมากคือ มะเร็งปอด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว และความผิดปกติของไขกระดูก ไม่ต่างจาก จ.เลย ที่มีข้อพิพาทระหว่างอุตสาหกรรมเหมืองทองคำกับชาวบ้าน ก็พบว่า มีการปนเปื้อนสารหนูและไซยาไนต์ บริเวณลำห้วยใต้เขื่อนของเหมือง

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ปัญหาการควบคุมมลพิษจากอุตสาหกรรม อาจแบ่งได้ 3 ประการ คือ 1.มีการรายงานเฉพาะความเข้มข้นของสารอันตรายไม่กี่ชนิด 2.ขาดมาตรฐานในการควบคุมสารอันตรายอีกหลายประเภท และ 3.ไม่สามารถทราบชนิดและปริมาณของสารอันตรายที่โรงงานปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดเป็นปัญหาเดิมๆ ที่หน่วยงานภาครัฐทราบดี แต่ยังไม่มีการแก้ไข

เช่นเดียวกับ การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA หรือ EHIA) ที่ตามหลักแล้วการก่อสร้างโรงงานต้องทำหลังรายงาน EIA-EHIA ผ่านประเมิน และเมื่อโรงงานเปิดทำการแล้วก็ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในรายงานดังกล่าวด้วยเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนให้น้อยที่สุด อีกทั้งตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 96 ยังกำหนดให้ผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

ทว่าในความเป็นจริง โรงงานหลายแห่งสร้างขึ้นทั้งที่รายงาน EIA-EHIA ยังไม่แล้วเสร็จเมื่อเปิดทำการแล้วก็ละเลยมิได้ปฏิบัติตามคำแนะนำในรายงานอย่างเคร่งครัดครบถ้วน อีกทั้งเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว กลับกลายเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องเข้ามาเยียวยาชุมชน ชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ แทนที่จะเป็นฝ่ายโรงงานซึ่งเป็นตัวการปล่อยมลพิษ

อีกด้านหนึ่ง ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม มงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ยอมรับว่า มลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมมักจะเกิดจากโรงงานผลิตสารเคมี ได้แก่ โรงกลั่นน้ำมัน โรงผลิตไฟฟ้า โรงงานทำเบียร์ โรงงานกระดาษ โรงงานถลุงแร่ โรงงานย้อมผ้า โรงงานทำแก้ว โรงงานผลิตปุ๋ย ฯลฯ จากการเผาไหม้เชื้อเพลิง เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งก่อให้เกิดสารไฮโดรคาร์บอนต่างๆ ออกไซด์ของไนโตรเจน และกำมะถันในบรรยากาศ รวมถึงเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองต่างๆ

“ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2560 มีจำนวนเรื่องร้องเรียนด้านมลพิษทางอากาศ มายังกรมโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งหมด208 เรื่อง โดยจังหวัดที่มีเรื่องร้องเรียนมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ กรุงเทพมหานคร 76 เรื่อง สมุทรปราการ 19 เรื่อง และ ชลบุรี 14 เรื่อง ปัญหาที่ร้องเรียนมากที่สุด คือ กลิ่นเหม็น ฝุ่นละออง และไอสารเคมี” อธิบดีกรมโรงงานฯ ระบุ

ซึ่งโรงงานต่างๆ มีหน้าที่ต้องป้องกันไม่ให้สารอันตรายหลุดออกมาเป็นอันตรายต่อชุมชนโดยรอบ ขณะที่กรมโรงงานฯ ก็ต้องเข้าไปตรวจตรา หากพบโรงงานใดก่อมลพิษก็จะสั่งให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุง หรือต้องหยุดประกอบกิจการทันที ทั้งนี้ได้มีการนำ “รถโมบายอัจฉริยะตรวจวัดคุณภาพอากาศ” เพื่อนำออกตระเวนไปตรวจสอบมลพิษตามพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ด้วย

อธิบดีกรมโรงงานฯ อธิบายต่อไปว่ารถตรวจวัดคุณภาพอากาศที่นำมาใช้ ภายในตัวรถติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศ สามารถวิเคราะห์ก๊าซอันตรายในบรรยากาศได้ทันที ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) สารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศ (VOCs) และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน

ปัจจุบันมีรถตรวจวัดคุณภาพอากาศ ไปประจำอยู่ที่ ค่ายมหาสุรสิงหนาท อ.เมือง จ.ระยอง ซึ่งเป็นจุดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่หลายแห่ง ใช้เวลาประจำการในเบื้องต้นระหว่างเดือน เม.ย. 2560- มี.ค. 2561 และเร็วๆ นี้ จะนำออกไปลาดตระเวนตามจุดต่างๆ ที่คาดว่าเป็นพื้นที่เสี่ยง เพื่อเฝ้าระวังมลพิษอันเป็นการสร้างความอุ่นใจแก่ประชาชน จึงขอประชาสัมพันธ์มา ณ ที่นี้ว่า หากพบเห็นจุดเสี่ยง สามารถโทร.แจ้งที่สายด่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม 1564 โดยพร้อมให้บริการทั่วประเทศ

แม้การพัฒนาเศรษฐกิจบนเส้นทางสายอุตสาหกรรมจะมีความเสี่ยง แต่ก็เป็นความจริงที่ว่ามนุษย์คงไม่อาจย้อนกลับไปอยู่ในโลกใบเดิมก่อนหน้านั้นได้อีก ดังนั้นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องต้องพึงกระทำ คือการหาทางลดผลกระทบจากอุตสาหกรรมต่อสิ่งแวดล้อม
ให้เหลือน้อยที่สุด ด้านหนึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ 1 ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง กรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงทำงานเชิงพื้นที่มากขึ้น แต่สิ่งที่ดีที่สุดคงไม่ใช่การต้องรอให้ “ถูกตรวจพบ” ก่อนแล้วจึงลงมือแก้ไข หากแต่ผู้ประกอบการควร “ป้องกัน” ตามหลักวิชาการเสียตั้งแต่แรก เพราะถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม อีกทั้ง

ชุมชนกับอุตสาหกรรมย่อมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่าง “สันติ-ยั่งยืน” ไม่ต้องเกิดข้อขัดแย้ง ที่ไม่ใช่กระทบเพียงในพื้นที่เท่านั้น แต่จะลามไปเป็น “ภาวะเกลียดกลัวอุตสาหกรรม”จนส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวม!!!