ผลตรวจตะกอนดินพบ 4 จว.ค่าโลหะหนักพุ่ง ชาวบ้าน 6 พื้นที่ ตบเท้าร้องรัฐแก้ปัญหาด่วน (28 มิ.ย. 60)
Green News สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม 28 มิถุนายน 2560
ผลตรวจตะกอนดินพบ 4 จว.ค่าโลหะหนักพุ่ง ชาวบ้าน 6 พื้นที่ ตบเท้าร้องรัฐแก้ปัญหาด่วน
มูลนิธิบูรณะนิเวศ พร้อมชาวบ้าน 6 จังหวัด ยื่นหนังสือถึง ‘บิ๊กตู่’ เร่งแก้ปัญหาโลหะหนักในตะกอนดินพุ่ง โดยเฉพาะ “ระยอง เลย ปราจีนบุรี สมุทรสาคร” เกินเกณฑ์มาตรฐาน
นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ พร้อมด้วยตัวแทนชาวบ้านซึ่งได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม 6 จังหวัด ประกอบด้วยระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระบุรี ขอนแก่น และเลย รวม 20 คน เดินทางมายังศูนย์บริการประชาชน บริเวณสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2560 เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แก้ไขปัญหาใน 5 ประเด็น
ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการมาตรการอย่างเร่งด่วน เพื่อควบคุมมลพิษและลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมให้ได้ในพื้นที่ในเขตพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีการสะสมของสารโลหะหนักในปริมาณสูง จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ ระยอง เลย ปราจีนบุรี และสมุทรสาคร 2.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการศึกษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมในพื้นที่ที่มีการสะสมของสารโลหะหนักในอีก 4 จังหวัดที่เหลือ
3.ขอให้รัฐบาลดำเนินการศึกษาศักยภาพของพื้นที่ในการรองรับมลพิษก่อนดำเนินการขยายพื้นที่อุตสาหกรรมสำหรับพื้นที่ที่รัฐบาลมีนโยบายขยายอุตสาหกรรมเพิ่มเติม 4.ขอให้มีการปฏิรูประบบการจัดการมลพิษอุตสาหกรรมของประเทศ 5.ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนผู้ร้องเรียนขึ้นมาสำรวจและแก้ไขปัญหาร่วมกัน
นางเพ็ญโฉม กล่าวว่า ได้ทำการเก็บตัวอย่างตะกอนดินจากแหล่งน้ำผิวดิน 95 ตัวอย่าง จากเขตอุตสาหกรรมใน 8 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรปราการ สมุทรสาคร ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระบุรี ขอนแก่น และเลย มาวิเคราะห์หาสารโลหะหนัก เพื่อประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของสารเหล่านี้ โดยแบ่งเป็นตะกอนดินในแหล่งน้ำผิวดิน 93 ตัวอย่าง และตะกอนดินชายฝั่งทะเล 2 ตัวอย่าง
ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบพบว่า มีสารโลหะหนักหลายสารสูงเกินเกณฑ์คุณภาพตะกอนดินในแหล่งน้ำผิวดินเพื่อคุ้มครองสัตว์หน้าดิน ตาม (ร่าง) ประกาศกรมควบคุมมลพิษ เรื่องเกณฑ์คุณภาพตะกอนดินในแหล่งน้ำจืด และในจำนวนนี้มีถึง 4 จังหวัดที่มีค่าโลหะหนักหลายอย่างสูงในระดับที่รัฐควรมีมาตรการจัดการโดยด่วน ประกอบด้วย ระยอง เลย ปราจีนบุรี และสมุทรสาคร
นางเพ็ญโฉม กล่าวว่า ผู้แทนรัฐบาลจากได้รับปากภายหลังรับหนังสือว่าจะส่งข้อเรียกร้องทั้งหมดไปยังนายกรัฐมนตรีโดยตรง และอาจจะลงพื้นที่ตรวจสอบตามข้อเรียกร้องในบางประเด็น และในบางเรื่องอาจจะส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ พร้อมทั้งจะประสานกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้ามาดูแลในประเด็นข้อเรียกร้อง รวมทั้งติดตามแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ก็จำเป็นต้องใช้เวลาดำเนินการ
อนึ่ง ผลการตรวจสอบดังกล่าว เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับสมาคมอาร์นิก้า สาธารณรัฐเช็ค เพื่อศึกษาการปนเปื้อนสารโลหะหนักในตะกอนดินของแหล่งน้ำผิวดินบริเวณพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม 8 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระบุรี ขอนแก่น และเลย ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสหภาพยุโรป (อียู)
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อศึกษาระดับและขอบเขตการปนเปื้อนของสารโลหะหนักที่สะสมอยู่ในตะกอนดินของแหล่งน้ำผิวดินในเขตพัฒนาการอุตสาหกรรม และเพื่อประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของสาร โดยศึกษาจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหา เช่น การปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานรีไซเคิลของเสีย โรงหล่อหลอมโลหะ โรงไฟฟ้าถ่านหิน และเหมืองแร่ทองคำ เป็นต้น