มูลนิธิบูรณะนิเวศ พบโลหะหนักเกินมาตรฐาน 4 จังหวัด (28 มิ.ย. 60)

PPTV 28 มิถุนายน 2560 
มูลนิธิบูรณะนิเวศ พบโลหะหนักเกินมาตรฐาน 4 จังหวัด

มูลนิธิบูรณะนิเวศ เผย ผลสอบโลหะหนักในตะกอนดิน พบเขตอุตสาหกรรมหลายจังหวัดมีค่าโลหะหนักสูงเกินมาตรฐาน 4 จังหวัด

วันนี้ (28 มิ.ย.60) การเคลื่อนไหวคัดค้านการผลักดันพื้นที่ต่างๆ เป็นเขตอุตสาหกรรม เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในแทบทุกจังหวัด ชาวบ้านส่วนใหญ่มองว่า เขตอุตสาหกรรมทำให้คนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงโดยเฉพาะด้านสุขภาพ สมมุติฐานนี้ดูจะชัดเจนมากขึ้นเมื่อผลตรวจสอบโลหะหนักในตะกอนดินของพื้นที่8จังหวัดที่ส่งไปให้สาธารณรัฐเช็กตรวจสอบ ออกมา พบว่า หลายพื้นที่มีโลหะหนักสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดไว้


ตัวแทนชาวบ้านจาก 8 จังหวัด ประกอบด้วย จ.สมุทรปราการ สมุทรสาคร จ.ระยอง จ.ฉะเชิงเทรา จ.ปราจีนบุรี จ.สระบุรี จ.ขอนแก่น และจ.เลย ที่เข้าร่วมกับมูลนิธิบูรณะนิเวศ เพื่อศึกษาปัญหามลพิษอุตสาหกรรม เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล มีจุดประสงค์เพื่อส่งมอบผลการศึกษาการปนเปื้อนสารโลหะหนักในตะกอนด้นของแหล่งน้ำผิวดิน ในพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม 8 จังหวัด เพื่อให้รัฐบาลผลักดันการแก้ปัญหาในพื้นที่ที่มีการพบค่าโลหะหนักสูงเกินกว่ามาตรฐาน


สำหรับผลการตรวจสอบดังกล่าว จัดทำโดยมุลนิธิบูรณะนิเวศ และสมาคมอาร์นิกา สาธารณรัฐเช็ก มีการส่งผลไปตรวจสอบในต่างประเทศเพื่อให้ได้รับผลที่แม่นย้ำที่สุด พบว่า มีอย่างน้อย 4จังหวัด ประกอบด้วย ระยอง เลย ปราจีนบุรี และสมุทรสาคร พบค่าโลหะหนัก เช่น สารหนู ปรอท แคดเมียม และ ตะกั่ว สูงเกินกว่ามาตรฐานและจากการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพพบว่า พื้นที่เหล่านี้ควรหาแนวทางลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชาชนอย่างเร่งด่วน เช่น การตรวจสอบตะกอนดิน ที่อ.วังสะพุง จ.เลย พบสารหนู162.17 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัมทั้งที่ตามหลักเกณฑ์ต้องมีสารหนูเฉลี่ยไม่เกิน 10มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ที่อ.เมือง จ.สมุทรสาคร พบค่าตะกั่วสูงถึง 484.89มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม ทั้งที่เกณฑ์มาตรฐาน อยู่ที่ 36มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง พบค่าสังกะสี สูงถึง1062.24มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ขณะที่เกณฑ์ตามมาตรฐานกำหนดไว้เพียง 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม


ส่วนอีก 4 จังหวัดที่มีการศึกษา แม้จะไม่พบว่ามีสารโลหะหนักสูงเท่ากับ 4 จังหวัดแรก แต่ก็พบว่ายังต้องศึกษาคุณภาพจองสิ่งแวดล้อมอื่นๆเพิ่มเติม โดยเฉพาะ คุณภาพอากาศ เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจรุนแรงขึ้น


สำหรับข้อเรียนร้องในการยื่นหนังสือครั้งนี้ กลุ่มชาวบ้านมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อขอให้รัฐบาลปฎิรูประบบการจัดการมลพิษในเขตอุตสาหกรรมของประเทศ รวมถึงหาแนวทางศึกษาศักยภาพจังหวัดที่รัฐต้องการขยายเขตพื้นที่อุตสาหกรรม