จากมินามาตะถึงวังสะพุง นักวิจัยญี่ปุ่นชี้ผลกระทบจากเหมืองแร่ แนะใช้พลังชุมชนสู้ (29 มิ.ย. 60)
จากมินามาตะถึงวังสะพุง นักวิจัยญี่ปุ่นชี้ผลกระทบจากเหมืองแร่ แนะใช้พลังชุมชนสู้-วางแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมผสมภูมิปัญญาท้องถิ่น มูลนิธิบูรณนิเวศเผยผลศึกษาตะกอนดินยังพบสารหนู-แคดเมียม ปนเปื้อน จี้ทุกหน่วยงานเร่งแก้ไข
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560 ที่อาคารเคยูโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีสัมมนาวิชาการเรื่อง “ข้อเท็จและความจริง เหมืองทองคำ จังหวัดเลย” ครั้งที่ 2 จัดโดย มูลนิธิบูรณะนิเวศ และศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา มหาวิทยาลัยคุมาโมโต กักกุเอ็ง ประเทศญี่ปุ่น
ศ.ดร. ทาคาชิ มิยากิตะ ผู้อำนวยการภาคสนาม ศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา กล่าวว่า กรณีปัญหาเหมืองแร่วังสะพุงนั้น เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบหลายด้านซึ่งด้านหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีสัตว์ คนและระบบนิเวศที่สูญเสียไป ในที่นี้ขอยกตัวอย่างว่า สถานการณ์เหมืองแร่ในตอนนี้คล้ายกับการสูญเสียครั้งญี่ปุ่นประสบปัญหาโรคมินามาตะ (Minamata-byō ) เมื่อ 61 ปีก่อน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากพิษจากสารปรอท โดยมีอาการของเด็กขาดสารอาหาร มีอาการวิกลจริตอย่างอ่อนๆ กรีดร้อง นัยน์ตาดำขยายกว้างเล็กน้อย ลิ้นแห้ง แต่ไม่พบสาเหตุของการผิดปกติ แขนขาเคลื่อนไหวลำบาก มีการกระตุกตัวแข็ง แขนขาบิดงออย่างรุนแรง ซึ่งผู้ป่วยมีผู้ป่วยจากสารดังกล่าวราว2-3แสนราย แต่กว่ารัฐจะยอมรับอย่างเป็นทางการมันก็นาน
ศ.ดร.ทาคาชิ กล่าวว่าถึงตอนนี้แม้ประเทศไทยจะยังไม่มีการยืนยันว่า ชาวบ้านป่วยจากสารโลหะหนักเหล่านี้ก็ตาม แต่อยากจะย้อนให้ฟังว่า การจะรอแค่การแพทย์ยืนยันนั้นเป็นเรื่องยาก อย่างกรณีมินามาตะนั้นมีรายหนึ่งที่ป่วยตั้งแต่อายุ2 ปี ขณะนี้เวลาผ่านไปก็ยังนอนป่วยอยู่เช่นเดิม รักษาไม่ได้ ก็ได้แต่เป็นตัวอย่างศึกษาให้แก่หลายๆส่วน จนกระทั่งเวลาผ่านไปชาวบ้านได้ผ่านการต่อสู้มาเนิ่นนานแต่แล้วการฟื้นฟูก็ทำได้โดยชาวบ้านในพื้นที่เอง ไม่ใช่รัฐบาลหรือบริษัทที่ลงทุน ดังนั้นในครั้งนี้อยากให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่หันมามองต้นทุนทรัพยากรของบ้านเกิดตัวเองแล้วเดินหน้าฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ไปพร้อมๆกับกระบวนการต่อสู้รูปแบบอื่น โดยคนเมืองมินามาตะนั้นได้หันมาสร้างหมู่บ้านให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตแล้วเปิดชุมชนให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตด้วยการสร้างอาชีพ ปรับปรุงสภาพแวดล้อม สร้างเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองในชุมชน เช่นเริ่มทำไร่ชา เปิดการท่องเที่ยวทางทะเล ฯลฯแล้วทำข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกันโดยเริ่มจากหลักการง่ายๆ ที่จับต้องได้ เช่น เมื่อแหล่งน้ำสกปรกก็เริ่มรณรงค์ไม่ทิ้งขยะ เน้นการบำบัดน้ำเสีย ปลูกป่าและทำพืชออแกนิค เพื่อเยียวยาสภาพเดิม ซึ่งปัจจุบันมีชาวบ้านมากกว่า 440 หลังคาเรือน ประสบความสำเร็จในการตั้งพิพิธภัณฑ์และพร้อมเปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามาเรียนรู้ทั้งจากบทเรียนความเจ็บป่วยและบทเรียนการฟื้นฟูชุมชน
“ผมเชื่อในความเข้มแข็งของชาวบ้าน และผมเชื่อว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ จำเป็นต้องพึ่งพากันอยู่แล้ว ถ้าเราสร้างความตระหนักระหว่างกัน ผมเชื่อว่าชาวบ้านจะทำได้ เพราะวังสะพุงนั้นเห็นพี่น้องมีอาชีพเกษตรกันหลายคน ดังนั้นช่วงนี้เป็นช่วงที่เราต่อสู้ เราก็ลองมองหาต้นทุนกันก่อนมีอะไรบ้างที่แปรรูปได้ เท่าที่ผมไปดูมามีฝ้าย ที่มีกลุ่มทอผ้า มีพืชผลหลายอย่าง มัน ถั่ว หน่อไม้ แถมมีอาหารพื้นบ้านด้วย ผมคิดว่าถ้าพัฒนาชุมชนต้องเริ่มที่การรวมตัวของ 6 หมู่บ้านที่มีปัญหาเหมือง แล้วเริ่มเล่าปัญหาสู่สังคม เริ่มจากหมู่บ้านใกล้ๆ ต่อมาเป็นเมืองเลย เป็นจังหวัดอื่น เป็นประเทศ และระหว่างประเทศ จากนั้นค่อยๆ วางแผนฟื้นฟูด้านสิ่งแวดล้อมโดยผสมเข้ากับภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ไม่นาน คนจะรู้จักวังสะพุงเอง ตอนคราวมินามาตะก็กว่าจะก่อตัวได้ก็ราวปี 2542 แล้ว แต่เมื่อสำเร็จเป็นรูปร่างผลลัพธ์ก็น่าสนใจ ” ศ.ดร. ทาคาชิ กล่าว
ด้านนายอัครพล ตีบไธสง ฝ่ายเทคนิคและวิชาการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ผลจากการศึกษาการปนเปื้อนในตะกอนดินรอบเหมืองวังสะพุงบริเวณห้วยเหล็ก ห้วยผุก ห้วยฮางลิน ลำน้ำฮวย (แบ่งพื้นที่เก็บตัวอย่างเป็น 20 จุด ทั้งใต้บ่อกักเก็บกากแร่ น้ำผิวดิน และขุมเหมือง ) โดยศึกษาหาโลหะหนัก 7 ชนิด ได้แก่ สารหนู ปรอท สังกะสี แคดเมียม ทองแดง โรคเมียม และตะกั่ว ครั้งล่าสุดในปี 2559 ภายใต้ความร่วมมือของมูลนิธิฯ กับสมาคมอนิก้า สาธารณรัฐเช็ก พบว่า มีโลหะหนัก 3 ตัวยังมีปริมาณสูงเกินจะยอมรับได้ ได้แก่ สารหนู แคดเมียม ทองแดง พบมากที่สุดบริเวณใต้บ่อกักเก็บแร่ฝั่ง ภูเหล็ก พบสารหนูมากถึง 39.18 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ขณะที่ใต้บ่อกักเก็บแร่ฝั่งตรงข้าม พบมากถึง 162.17 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ขณะที่ปริมาณแคดเมียมพบจุดแรก 15.33 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมและฝั่งตรงข้ามพบ 39.25 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งจากการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพนั้นพบว่า สัดส่วนความเสี่ยงอยู่ในระดับอันตรายหากมีการสัมผัสและควรมีการเฝ้าระวัง
นายอัครพล กล่าวด้วยว่า จากผลการวิเคราะห์นี้เป็นเวลาหลายปีมาแล้ว แม้ขณะนี้เหมืองจะปิดอยู่ก็ตามแต่ยังพบการปนเปื้อนอยู่ จึงมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ ควรมีการติดตามการปนเปื้อนต่อเนื่อง และศึกษาเฝ้าระวังเพิ่มเติม พื้นที่ที่แนะนำคือ ร่องนาหนองบง ร่องนาดินดำ และร่องห้วยโป่ง และจากนี้ควรลดการปนเปื้อนด้วยการปิดช่องทางการรั่วไหลของสารโลหะหนัก ทั้งนี้ยังพบอีกว่า บริเวณใต้บ่อกักเก็บแร่นั้นมีสารโลหะหนักสูงและมีความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ไม่อาจยอมรับได้ ควรมีแนวทางป้องกันโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วจากนั้นควรมีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูตามรูปแบบของชุมชนเอง กรณีที่พบสารปนเปื้อนในเขตประทานบัตรบริษัทควรมีบทบาทในการแก้ปัญหาร่วมกับรัฐบาล