เปิดผลศึกษากินปลามีสิทธิโง่เหตุ ‘ปรอท’ ท่วม จังหวัดอุตสาหกรรมอ่วมสารพิษ - ไอคิวเด็กต่ำ (19 ก.ย. 60)
Green News สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม 19 กันยายน 2560
เปิดผลศึกษากินปลามีสิทธิโง่เหตุ ‘ปรอท’ ท่วม จังหวัดอุตสาหกรรมอ่วมสารพิษ - ไอคิวเด็กต่ำ
ภาพ: กานต์ ทัศนภักดิ์
By ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม
เปิดผลศึกษา “สารปรอท” พื้นที่ 8 จังหวัดอุตสาหกรรม พบสารพิษเกินเกณฑ์ทั้งคน-ปลา ส่งผลจากแม่สู่ลูก-ทำคนไอคิวต่ำ
นายอัครพล ตีบไธสง นักวิชาการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยในงานแถลงข่าวและนำเสนอผลการศึกษา “สารปรอทในปลาและร่างกายมนุษย์ ในพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2559-2560” จัดโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับสมาคมอาร์นิก้า สาธารณรัฐเชก เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2560 ตอนหนึ่งว่า จากผลศึกษาตัวอย่างปลาและหอยในพื้นที่ 8 จังหวัด พบว่าปลาทะเล 2 ใน 14 ตัวอย่างมีสารปรอทเกินเกณฑ์มาตรฐานปลาทะเลและอาหารทะเลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ 0.5 ppm และปลาน้ำจืด 18 ใน 25 ตัวอย่างมีสารปรอทเกินเกณฑ์มาตรฐานอาหารของ สธ.ที่ 0.02 ppm
สำหรับการศึกษาดังกล่าว ได้ศึกษาในพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม 8 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ระยอง ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา เลย ขอนแก่น และจันทบุรี โดยพบว่าแหล่งปนเปื้อนสารปรอทที่สำคัญในการศึกษาครั้งนี้คือพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง และพื้นที่ ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งทั้งสองแห่งเป็นเขตอุตสาหกรรมหนาแน่นที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นส่วนประกอบ ขณะที่การศึกษาในพื้นที่ธรรมชาติที่อยู่ห่างเขตพัฒนาอุตสาหกรรมอีก 2 แห่ง คือเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.ปราจีนบุรี และอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง จ.จันทบุรี ก็พบว่ามีการปนเปื้อนสารปรอทในระดับสูงเช่นเดียวกัน
“ผลการศึกษายืนยันให้เห็นการสะสมของสารปรอทในสิ่งมีชีวิต โดยเพิ่มขึ้นตามลำดับขั้นการกินในห่วงโซ่อาหาร และสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนในพื้นที่ 8 จังหวัดของไทยมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากสารปรอท โดยสารปรอทสามารถเดินทางได้ไกลในชั้นบรรยากาศ และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ตรวจพบสารปรอทในบริเวณพื้นที่ธรรมชาติหรือชนบทห่างไกลแหล่งอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า อย่างในเขตอุทยานแห่งชาติ” นายอัครพล กล่าว
นายอัครพล กล่าวว่า ทั้งนี้ระดับสารปรอทที่พบในปลาจะแตกต่างกันไปตามชนิดของปลาและพื้นที่ โดยปลากินเนื้อขนาดใหญ่มีแนวโน้มที่จะพบสารปรอทสูงกว่าปลากินพืช เช่น ปลาช่อน ซึ่งเป็นปลาที่พบบ่อยและเป็นปลาเศรษฐกิจน้ำจืดที่สำคัญ มีปรอทเกินเกณฑ์ถึง 82% ของกลุ่มตัวอย่าง โดยมีค่าเฉลี่ยที่ 0.257 ppm ขณะที่ปริมาณสารเคมีที่ร่างกายสามารถรับได้ทุกวันโดยไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ (RfD) ของสารปรอทนั้น สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (EPA) สหรัฐอเมริกา ได้กำหนดไว้ที่ 0.0001 มก./กก.ของน้ำหนักตัวต่อวัน หากคำนวณตามค่ามาตรฐานคนไทยพบว่าการกินปลาช่อนกลุ่มตัวอย่างจะได้รับสารปรอทถึง 0.0005 มก./กก.
น.ส.อัฏฐพร ฤทธิชาติ นักวิชาการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ในส่วนของการศึกษาปริมาณสารปรอทในเส้นผมสตรีวัยเจริญพันธุ์ อายุระหว่าง 18-44 ปี จำนวน 68 คน ในพื้นที่รอบเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง และเขตอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษและโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.ปราจีนบุรี ก่อนนำไปตรวจวิเคราะห์ที่สถาบันวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ (BRI) สหรัฐอเมริกา พบว่า 50 คน หรือ 73.5% ของอาสาสมัครทั้งหมดมีสารปรอทเกินเกณฑ์มาตรฐานของ EPA ที่ 1 ppm ขณะที่ 67 คน หรือ 98.5% มีสารปรอทเกิน 0.58 ppm ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่นักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความเสียหายทางระบบประสาทของทารกในครรภ์
ขณะที่ภาพรวมของผลการศึกษาทั่วโลก ของหญิงวัยเจริญพันธุ์จำนวน 1,044 คน ใน 25 ประเทศ พบว่า 36% มีสารปรอทเกิน 1 ppm และ 55% มีสารปรอทเกิน 0.58 ppm โดยประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยของสารปรอทอยู่ที่ 3.077 ppm และอยู่ในลำดับที่ 9 ซึ่งข้อค้นพบจากงานศึกษาทั้งหมดพบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อปริมาณสารปรอทในร่างกาย ได้แก่ การรับประทานปลาเป็นประจำ การทำงานในเหมืองทองคำขนาดเล็ก และการอาศัยอยู่ใกล้พื้นที่อุตสาหกรรม และแสดงให้เห็นว่าการปนเปื้อนของสารปรอทที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ทำให้สารปรอทแพร่กระจายและสะสมตกค้างอยู่ในห่วงโซ่อาหาร
น.ส.อัฏฐพร กล่าวว่า พิษของสารปรอทสามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ทารกได้ ทำให้เด็กที่เกิดมีสภาพปัญญาอ่อน มีความผิดปกติในการเดิน การพูด การดูดนม การกลืนอาหาร และปฏิกิริยาการตอบสนอง หรือที่รู้จักในชื่อโรคมินามาตะ ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นช่วง ค.ศ.1950 โดยแหล่งปลดปล่อยสารปรอทที่สำคัญตามข้อมูลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ทั่วโลกมากที่สุดจากการผลิตทองขนาดเล็ก และการเผาไหม้ถ่านหิน ตามลำดับ ส่วนประเทศไทยมีแหล่งปลดปล่อยสำคัญจาก 1.การลักลอบทิ้งขยะทั่วไป 2.ปิโตรเลียม 3.ก๊าซธรรมชาติ 4.เตาเผาที่ไม่มีการควบคุม
น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ผลการประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากกรณีการปนเปื้อนสารปรอทในปลาและเส้นผมโดย นพ.ลีโอนาร์โด ทราซานเด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านกุมารแพทย์ เวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ซึ่งตีพิมพ์ในวารการจัดการสิ่งแวดล้อมเมื่อปี 2559 พบว่าการปนเปื้อนสารปรอทในพื้นที่ ต.ท่าตูม จ.ปราจีนบุรี จะส่งผลให้สมรรถภาพของบุคคลในการดำรงชีวิตและสร้างรายได้ลดลงตามระดับเชาว์ปัญญา (IQ) ที่ลดต่ำลง ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าราว 2.78 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10 ล้านบาทต่อปี และความเสียหายจากภาวะโรคที่จะเกิดขึ้นเป็นมูลค่า 1.57 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.5 ล้านบาทต่อปี
น.ส.เพ็ญโฉม กล่าวว่า จากการศึกษาและติดตามปัญหาสารปรอทในสิ่งแวดล้อมและร่างกายคนในพื้นที่ ต.ท่าตูม จ.ปราจีนบุรี ของมูลนิธิฯ ตั้งแต่ปี 2556 จนกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งให้จัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อแก้ไขปัญหาด้านมลพิษและสารปรอท บริเวณสวนอุตสาหกรรม 304 อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งได้มีมติให้ตรวจสอบหาที่มาของสารปรอทที่เป็นสาเหตุการปนเปื้อนในปลาและเส้นผมของคน และให้มีการฟื้นฟูคลองซึ่งเป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลาตามธรรมชาติให้มีระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมปลอดภัยดังเดิม แต่จนปัจจุบันการแก้ปัญหาดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
“การศึกษาของเราเป็นการศึกษาในเบื้องต้น เพื่อให้หน่วยงานรัฐได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปพิจารณาว่าควรแก้ไขปัญหาจริงจังแล้วหรือไม่ และเป็นฐานข้อมูลประกอบก่อนที่ไทยจะไปเจรจาในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท สมัยที่ 1 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 23-29 ก.ย.นี้ เพื่อพิจารณาแนวทางแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาฯ ของแต่ละประเทศ” น.ส.เพ็ญโฉม กล่าว