มูลนิธิบูรณะนิเวศ แถลงพบปรอทตกค้างในเส้นผม 99% เกินมาตรฐานในพื้นที่ระยอง ปราจีนฯ (18 ก.ย. 60)
สำนักข่าวอิศรา 18 กันยายน 2560
มูลนิธิบูรณะนิเวศ แถลงพบปรอทตกค้างในเส้นผม 99% เกินมาตรฐานในพื้นที่ระยอง ปราจีนฯ
มูลนิธิบูรณะนิเวศ แถลงพบปรอทตกค้างในเส้นผม 99% เกินมาตรฐานในพื้นที่ระยอง ปราจีนฯ เสี่ยงต่อระบบประสาท และการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ นอกจากนี้ยังพบปลาช่อนในพื้นที่ 82% เกินค่ามาตรฐาน
Mercury 180917
18 ก.ย. 2560 ที่ห้องประชุมสถาบันวิจัยสังคม อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับ Arnika Association จัดแถลงข่าวนำเสนอผลการศึกษา เรื่อง “สารปรอทในปลาและร่างกายมนุษย์ ในพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2559 – 2560”
นางสาวอัฏฐพร ฤทธิชาติ หนึ่งในคณะวิจัย กล่าวถึงผลการศึกษาสารปรอทในเส้นผม ว่า การศึกษาครั้งนี้จะเป็นการศึกษาโดยสุ่มตัวอย่างจากกลุ่มสตรีเจริญพันธุ์ระหว่างอายุ 18-44 ปี จำนวน68 ตัวอย่างใน จำนวน2 พื้นที่ คือในพื้นที่มาบตาพุด และต.เนินพระ จ.ระยองและต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากและมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน
งานวิจัยพบว่า 99% ของจำนวนกลุ่มตัวอย่างมีปริมาณสารปรอทในเส้นผมสูงกว่า 0.58 ppm ซึ่งเป็นระดับที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า เป็นจุดเริ่มต้นของความเสียหายทางระบบประสาทของทารกในครรภ์
น.ส.อัฏฐพร กล่าวอีกว่า จากจำนวนกลุ่มตัวอย่างของไทย 74% มีอัตราสารปรอทในเส้นผมในระดับเกิน 1 ppm ซึ่งเป็นระดับที่ส่งผลกระทบด้านระบบประสาทและผลกระทบต่อไตและหัวใจ
ทั้งนี้หากดูค่าเฉลี่ยของสารปรอทที่ตกค้างพบว่า พื้นที่มาบตาพุดมีค่าเฉี่ลยที่สูงที่สุดในระดับ 4.339 ppm
ส่วนพื้นที่ ท่าตูม ปราจีนบุรีมีค่าเฉลี่ยระดับ 1.814 ppm ซึ่งเมื่อดูผลการศึกษาจาก 35พื้นที่ใน 25 ประเทศทั่วโลก ระดับค่าเฉลี่ยการตกค้างของปรอทของไทยนั้นอยู่ในลำดับที่ 9 มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.077 ppm
“การเก็บเส้นผมเป็นวิธีที่สะดวกและง่าย เส้นผมมนุษย์เป็นตัวบ่งชี้การสะสมสารปรอทของร่างกายคนที่ดี แตกต่างจากการตรวจวัดระดับสารปรอทในเลือดหรือปัสสาวะ นอกจากนี้เส้นผมยังบ่งชี้ได้ดีถึงการได้รับปรอทอินทรีย์ที่ถ่ายทอดและสะสมในปริมาณเพิ่มขึ้นผ่านห่วงโซ่อาหาร” น.ส.อัฏฐพรกล่าวและว่า การปลดปล่อยสารปรอทของอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารปรอทในปลา และส่งผลต่อการสะสมของสารปรอทในร่างกายมนุษย์
ในส่วนของผลการศึกษาปรอทในตัวอย่างปลาและหอยในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา เลย ขอนแก่น และจันทบุรี นั้น นายอัครพล ตีบไธสง นักวิจัย กล่าวว่า ปลากินเนื้อขนาดใหญ่จากพื้นที่ที่ปนเปื้อนมีแนวโน้มที่จะมีระดับปรอทสูงกว่าปลากินพืชจากที่เดียวกัน
ตัวอย่างเช่น ปลาช่อนมีค่าเฉลี่ยสารปรอท 0.257 ppm ซึ่งพบว่า ปลาช่อนร้อยละ 82 มีสารปรอทเกินค่ามาตรฐาน
และผลการศึกษาจากตัวอย่างทั้งหมด 39 ตัวอย่าง แบ่งเป็น ปลาทะเลจำนวน 14 ตัวอย่างมีปริมาณสารปรอทเกินเกณฑ์ฯ (0.5ppm)จำนวน2ตัวอย่าง และปลาน้ำจืด25ตัวอย่างเกินเกณฑ์ฯ (0.02ppm)จำนวน18ตัวอย่าง
ทั้งนี้ระดับของสารปรอทแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดของปลาและพื้นที่หรือชนิดของแหล่งกำเนิดมลพิษ โดยแหล่งปนเปื้อนสำคัญ คือพื้นที่มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง และพื้นที่ ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี
นางอัครพล กล่าวอีกว่า ความเสี่ยงของปริมาณสารปรอทอินทรีย์ของ US.EPA กำหนดไว้ที่ 0.0001 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักต่อวัน ผลการศึกษาปรอทในตะกอน ในปลาและในเส้นผมมนุษย์ยืนยันให้เห็นการสะสมของสารปรอทในสิ่งมีชีวิต โดนเพิ่มขึ้นตามลำดับขั้นการกินในห่วงโซ่อาหาร และสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนในพื้นที่ 8 จังหวัดของไทยมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากสารปรอท
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การนำเสนอผลการศึกษาของมูลนิธิบูรณะนิเวศครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาสารปรอทในสตรีวัยเจริญพันธุ์ใน 25 ประเทศและการศึกษาสารปรอทในปลาในพื้นที่อุตสาหกรรมของไทย โดยหน่วยวิเคราะห์สารปรอทในเส้นผมคือ สถาบันวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Research Institute:BRI) ของสหรัฐอเมริกา และหน่วยงานผู้วิเคราะห์สารปรอทในปลาคือ State Veterinary Institute ของกรุงปราก สาธารณรัฐเชก โดยในระหว่างวันที่ 23029 กันยายน 2560 นี้ ประเทศไทยจะเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 1 (COP1) ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส