มูลนิธิบูรณะนิเวศจี้รัฐทบทวนแผนจัดการขยะ หลัง 39 พื้นที่ค้านสร้างโรงไฟฟ้า (5 มิ.ย. 60)

สำนักข่าวอิศรา 5 มิถุนายน 2560
มูลนิธิบูรณะนิเวศจี้รัฐทบทวนแผนจัดการขยะ หลัง 39 พื้นที่ค้านสร้างโรงไฟฟ้า

มูลนิธิบูรณะนิเวศจี้รัฐทบทวนเเผนจัดการขยะใหม่ หลังดันเป็นวาระเเห่งชาติ ขณะที่ ปชช. 39 พื้นที่ ค้านก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ยกกรณีศึกษา 'มาบตาพุด' ก่อมลพิษ  - อ.เมืองระยอง มีผู้ป่วยมะเร็งมากสุดในจังหวัด

วันที่ 5 มิ.ย. 60 มูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับ ARNIKA Association แถลงข่าว  “ภาพรวมปัญหามลพิษอุตสาหกรรม 2558-2559 และผลการศึกษาโลหะหนักในตะกอนดิน 8 จังหวัด” ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ

น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ปัญหามลพิษอุตสาหกรรมปี 2558-2559 เกิดขึ้นหลายกรณี ซึ่งล้วนเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นมานานหลาย 10 ปี และยังหาทางแก้ไขไม่ได้ ซึ่งจะเห็นว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมายังคงเป็นการแก้ไขเฉพาะหน้าเท่านั้น ทั้งที่ปัญหาที่แท้จริงหรือที่มีผลกระทบทางอ้อมยังคงแก้ไขปัญหาไม่ได้ 

ปัญหาเด่น ๆ ที่นับว่าเป็นปัญหาสำคัญ เกิดจากโรงงานคัดแยกขยะ  ซึ่งในปัจจุบันมีการตั้งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมากยิ่งขึ้น และยังมีสินค้านำเข้าที่มาแยกขยะในประเทศไทยอีกด้วย

ขณะที่การคัดค้านโรงไฟฟ้าขยะที่รัฐบาลให้ความความสำคัญเรื่องขยะให้เป็น “วาระแห่งชาติ” ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ระบุว่า  แผนหรือนโยบายยังต้องมีการปรับปรุงหรือทบทวน เนื่องจากระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมามี 39 พื้นที่ออกคัดค้าน จากทั้งหมด 50 พื้นที่ นั่นสะท้อนให้ว่า การจัดการปัญหามลพิษของประเทศไทยยังเป็นการจัดการปลายเหตุ โดยเชื่อว่า เทคโนโลยีจะจัดการปัญหาหรือควบคุมได้ ทางที่ดีควรควบคุมที่ต้นเหตุโดยเริ่มที่การควบคุมมาตรฐานตั้งแต่ต้นทาง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระยะยาว

“หากประเทศไทยมีการปฏิรูปสิ่งแวดล้อมควรจะต้องมีการพัฒนาการควบคุมให้มากขึ้นไป ภายใต้ความร่วมมือของรัฐและผู้ประกอบการเอกชน เพื่อเป็นผลดีให้แก่ประเทศทั้งโดยตรงและทางอ้อม และไม่ให้เกิดปัญหาที่แก้ไม่ได้แล้วกลายเป็นปัญหาเรื้อรังในปีถัดไป” น.ส.เพ็ญโฉม กล่าว

ด้าน น.ส.อัฏฐพร ฤทธิชาติ ฝ่ายเทคนิคและวิชาการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงปัญหามลพิษในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง พบว่า มีสารก่อมะเร็งในอากาศเกินมาตรฐานตั้งแต่ปี 2558-2559 ทั้ง 3 ชนิด คือ สารเบนซีน , สาร1,2ไดคลอโรอีเทน และสาร1,3บิวทาไดอีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชุมชนที่ตั้งอยู่โดยรอบเขตนิคมอุตสาหกรรม

“ในอดีตประชาชนใน จ.ระยอง เป็นมะเร็งมากที่สุด ปัจจุบันก็ยังมีสถิติที่สูงอยู่อย่างนั้น” น.ส.อัฏฐพร กล่าว และว่า ประชาชนใน อ.เมือง จ.ระยอง เป็นโรคมะเร็งทุกชนิดและโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวสูงกว่าอำเภออื่น ๆ 

น.ส.อัฏฐพร ยังกล่าวว่า นอกจากนี้กรมควบคุมมลพิษยังพบ ตะกอนดินชายฝั่งทะเล ปนเปื้อนสารโลหะหนักหลายชนิด โดยมลพิษที่สูงที่สุดคือ "สารหนู ทองแดง ปรอท และสังกะสี" เกินเกณฑ์มาตรฐาน