งานศิลปะเปื้อน “ฝุ่น” (18 ม.ค. 61)
Thai PBS 18 มกราคม 2561
งานศิลปะเปื้อน “ฝุ่น”
ศิลปินดังร่วมกับกรีนพีซ สร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากฝุ่นในประเทศไทย 23 ชิ้น สะท้อนชีวิตผู้คนในพื้นที่ที่ต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศ กลายเป็นประติมากรรมขนาดเท่าคนจริง และใบไม้เคลือบด้วยเรซิ่นใส จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.-28 ม.ค.2561
วันนี้ (18 ม.ค.2561) กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดงานนิทรรศการศิลปะ "Right to clean Air - The Art Exhibition ขออากาศดีคืนมา" ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.-28 ม.ค.2561 โดยนายเรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล ศิลปินที่ร่วมมือกับกรีนพีซสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ กล่าวว่า คือ งานศิลปะที่จัดแสดงในครั้งนี้มีด้วยกัน 2 ชุด คือ งานศิลปะจัดวาง หรือ Memory เป็นประติมากรรมขนาดเท่าคนจริง ซึ่งมี 3 ชิ้น 4 คน ได้แก่ ลุงกลับหัว แม่อุ้มลูก และคนแก่ สะท้อนให้เห็นถึงอดีต และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่เลือกให้ห้อย ลอยอยู่บนอากาศ เนื่องจากต้องการสื่อถึง สภาพไร้กาลเวลา ไม่มีน้ำหนัก จับต้องไม่ได้ หรือการถูกละเลย เป็นเหมือนตัวแทนของผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษที่สร้างขึ้นด้วยเทคนิค เปเปอร์มาเช และเคลือบด้วยฝุ่นที่เก็บมาจากสถานที่ต่าง ๆ ในหลายจังหวัดของไทย
โดยวิธีเก็บฝุ่น คือ เดินหาซอกตึก หรือบริเวณที่เป็นมุมอับลม แล้วหยิบขึ้นมา อย่างแฟลตดินแดง หรือสยามในกรุงเทพมหานคร ส่วนต่างจังหวัดบางจังหวัดแค่เดินในเมืองเสื้อผ้าก็มีฝุ่นเกาะเต็มไปหมด อย่างที่สระบุรี มีโรงโม่หิน เข้าไปรับประทานข้าวในร้านอาหาร ลองใช้มือลูบที่โต๊ะก็เจอแต่ฝุ่นทั้งนั้น
“เราบอกตัวเองว่าเราอยู่ไม่ได้แน่ ๆ แต่ทำไมคนที่นี่เขาอยู่ได้ จริง ๆ เขาก็รู้สึกไม่ดี แต่ทำอะไรไม่ได้ เลยต้องทนจนกลายเป็นความเฉยชา ส่วนคนที่ไม่เฉยชาก็ทำได้เพียงอพยพออกไป อย่างที่ลำปาง แม่เมาะ เคยไปตาม มี 5 หมู่บ้านที่ถูกสั่งให้อพยพออก ตอนนี้ก็มีลูกจ้างของโรงงานในบริเวณนั้นอาศัยอยู่ ปัญหามันอยู่ตรงนี้ คนเก่าออกไป คนใหม่เข้ามา ถามว่าอะไรที่เหมือนเดิม มันก็คือฝุ่น มลพิษทางอากาศที่ต้องเจอไม่รู้จบ บางพื้นที่อย่างมาบตาพุด อากาศดูใส สะอาดมาก แต่พอใช้เครื่องตรวจสอบฝุ่น ทำให้เห็นว่าค่าสูง บางทีสิ่งที่มองไม่เห็นก็ไม่ได้แปลว่ามันไม่มี”
นายเรืองศักดิ์ กล่าวต่อว่า งานศิลปะชุดที่ 2 คือ ชุด Monolith Souvenir ซึ่งเป็นงานศิลปะที่สร้างสรรค์จากใบไม้ ที่ปนเปื้อนมลพิษจำนวน 20 ชิ้น นำมาสต๊าฟไว้ให้หยุดนิ่งในเรซิ่นใส ในตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะเก็บใบไม้มาทำเป็นงานศิลปะ แต่เมื่อลงไปในพื้นที่จริง แล้วได้เห็นต้นไม้สีเทา พอเข้าไปใกล้ ๆ ลองเอามือลูบ ปรากฏว่าใบไม้กลายเป็นสีเขียวปกติ ผมตกใจนะ สีมันเหมือนมีคนเอาสเปรย์สีมาฉีดใส่ แต่จริง ๆ แล้วมันคือฝุ่นหนาที่เกาะอยู่ สิ่งนี้มันสะท้อนถึงผลกระทบจากฝุ่นพิษที่ไม่เฉพาะมนุษย์เท่านั้นที่ได้รับ แต่ธรรมชาติรอบตัวเราก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาประเทศไปสู่อนาคตที่ดีกว่า แต่สุขภาพผู้คนกลับกำลังย่ำแย่ลง
นายเรืองศักดิ์ กล่าวว่า การเก็บใบไม้มาทำงานชุดนี้ จะเลือกใบที่หนา สามารถกักเก็บฝุ่นได้ เนื่องจากเดินทางไปไกล กว่าจะกลับมาถึงกรุงเทพฯ ใบไม้ก็พังหมดแล้ว โดยพื้นที่ที่ลงไปเก็บเป็นพื้นที่ที่มีรายงานมลพิษทางอากาศ มีค่าฝุ่นที่สูง อย่างใบมะม่วงที่เจออยู่ ต.หน้าพระลาน จ.สระบุรี เก็บได้ที่หลังโรงโม่หิน มีลักษณะฝุ่นสีขาวคล้ายแป้งเคลือบอยู่หนามาก หรือพริกขี้หนู พบบริเวณใกล้กัน มีฝุ่นเคลือบจนเห็นได้ชัด ทำให้คิดว่าผักที่ใช้รับประทานเพราะคิดว่าใบไม้ที่มีฝุ่นเกาะเป็นเหมือนตัวแทนของคนในพื้นที่ที่เขากำลังถูกเกาะกิน ทั้งที่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของการทานทน แต่เป็นสิทธิที่ทุกคนจะเรียกร้องเพื่อคุณภาพชีวิตของตัวเอง