วงเสวนาชี้ พัฒนาเศรษฐกิจไทยผูกพันการศึกษา ทัศนคติ ภาวะโลกร้อน (19 ม.ค. 61)

ประชาไท 19 มกราคม 2561
วงเสวนาชี้ พัฒนาเศรษฐกิจไทยผูกพันการศึกษา ทัศนคติ ภาวะโลกร้อน 


ซ้ายไปขวา: ธีรวุฒิ ศรีพินิจ, สันติธาร เสถียรไทย, ศิริรุจ จุลกะรัตน์, ชยันต์ ตันติวัสดาการ

แม้จีดีพีไทยสูงขึ้นแต่ปัญหารอบด้าน เศรษฐกิจอนาคตต้องการทัศนคติเปิดกว้าง โลกาภิวัฒน์เปลี่ยนเพิ่มเหลื่อมล้ำ การศึกษาปฐมวัยและช่วงทำงานเพื่อสร้างทัศนคติจะสำคัญ พัฒนาเศรษฐกิจอย่าลืมสิ่งแวดล้อม ลดก๊าซเรือนกระจกลำบากเพราะรัฐ ระบบราชการยังไม่กระฉับกระเฉง

18 ม.ค. 2561 ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการเสวนาประจำปีหัวข้อ  "Re-design Thailand ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน?" โดยในช่วงท้ายมีการจัดวงเสวนาสรุปงาน ร่วมเสวนาโดย รศ.ชยันต์ ตันติวัสดาการ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ธีรวุฒิ ศรีพินิจ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สันติธาร เสถียรไทย ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจเอเชีย ธนาคารเครดิตสวิส และ ศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

แม้จีดีพีไทยสูงขึ้นแต่ปัญหารอบด้าน เศรษฐกิจอนาคตต้องการทัศนคติเปิดกว้าง

ธีรวุฒิกล่าวว่า เวลาต้องการพัฒนาเศรษฐกิจมีความต้องการสามอย่าง คือความรุ่งเรือง ความมั่นคง และความยั่งยืน สิ่งที่เราเคยคุยมาตลอดคือการสร้างความรุ่งเรือง แต่ตอนนี้เราพูดถึงเรื่องความมั่นคงและยั่งยืนมากขึ้น พัฒนาการทางเศรษฐกิจไทยเติบโตผ่าน 1.0 มาถึงยุค 4.0 ผ่านระบบเศรษฐกิจการเกษตร อุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมหนัก และสังคมที่มุ่งสร้างคุณค่าเพิ่มเติม (value-added)

เศรษฐกิจไทยโตด้วยการส่งออก แต่ตอนนี้ความเก่งเรื่องการส่งออกถดถอยลง ภาคบริการที่โตขึ้นมานั้นเป็นที่พึ่งพาเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้เพราะไม่มีผลผลิตอะไรออกมาได้เอง ทรัพยากรที่ทำให้เราเติบโตขึ้นมาก็ถูกประเทศอื่นแย่งไป ทั้งยังมีอิทธิพลจากภายนอกประเทศเข้ามา

ในยี่สิบปีที่ผ่านมาไทยมีอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ที่โตขึ้น การบริโภคต่อหัวสูงขึ้น โดยได้รับอิทธิพลจากการส่งออกและนำเข้าเป็นกำลังสำคัญ สิ่งที่ดีขึ้นคือเงินสดสำรองระหว่างประเทศเยอะจนสามารถใช้หนี้ทั้งประเทศได้ทันที แต่อีกด้านหนึ่งคือไทยมีหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นซึ่งถือเป็นพฤติกรรมที่น่าเป็นห่วง เพราะหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาเป็นการกู้ยืมเพื่อบริโภค สัดส่วนหนี้ที่กู้เพื่อการศึกษาน้อยลงเรื่อยๆ อัตราก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี คอร์รัปชันเพิ่มขึ้น มันเคยลดลงนิดหนึ่งแต่ก็ขึ้นไปอีก

ศิริรุจกล่าวว่า ประเทศไทยติดกับดักสามด้าน ทั้งด้านรายได้ ไม่มีความเท่าเทียม ไม่มีความสมดุล เรื่องสิ่งแวดล้อม เมื่อหาสาเหตุจากอดีตก็พบว่าในอดีตเราใช้ความได้เปรียบทั้งทางทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานที่ราคาถูกแต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว ค่าแรงสูงขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติเริ่มหมดไป โครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยน เมื่อดูนโยบายต่างประเทศของประเทศใหญ่ๆ ทั้งหลาย ประเทศที่เสรีสุดโต่งอย่างสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มกลับไปปิดตัวเอง สหภาพยุโรปก็เน้นการฟื้นฟูภายในซึ่งสะท้อนถึงสภาวะปิดกั้นตัวเอง เศรษฐกิจดิจิทัลที่หลายคนคิดว่าทันสมัยและสะดวกก็เป็นดาบสองคม อย่างอาลีบาบา บริษัทขายสินค้าออนไลน์ขนาดใหญ่จากจีนที่ขายได้ แต่ถ้าเข้าถึงอาลีบาบาไม่ได้ก็ตาย เมื่อหันมามองที่ไทยแล้วก็ต้องถามว่าเราพร้อมแค่ไหน  ถ้าไม่พร้อมหรือทำไม่ได้นั่นหมายถึงไทยกำลังทิ้งโอกาสด้านการค้า หรือโอกาสในการไปมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจโลก เพราะการค้าในอนาคตต่างก็จะอยู่บนพื้นที่ดิจิทัล สิ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมทำตอนนี้คือสร้างศักยภาพกับผู้ประกอบการมากขึ้น ให้ธุรกิจ SME มีระบบดิจิทัลเข้ามามีส่วนในการค้าและกระบวนการทั้งหลาย ตนเคยได้ยินเด็กรุ่นใหม่พูดว่าเขาไม่ได้มีอาชีพเพียงอาชีพเดียว อนาคตต้องการคนที่มีความสามารถหลายอย่าง เศรษฐกิจในอนาคตก็คงเป็นแบบนั้น คือเชื่อมโยงและไปถึงกันให้ได้ การเชื่อมโยงในอนาคตต้องใช้ระบบดิจิทัล คนจึงต้องมีองค์ความรู้ที่ดี ทัศนคติที่เปิดรับองค์ความรู้มากขึ้น

โลกาภิวัตน์เปลี่ยนเพิ่มเหลื่อมล้ำ การศึกษาปฐมวัยและช่วงทำงานเพื่อสร้างทัศนคติจะสำคัญ

สันติธารกล่าวว่า โจทย์ที่ยากและต้องถามก่อนคือการหาภาพร่างว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ธีมที่สำคัญคิดว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัตน์ 3 มิติ หนึ่ง การค้าโลกที่เหมือนเป็นแกนโลกาภิวัตน์เก่าที่แผ่วลง สัดส่วนการค้าต่อจีดีพีโลกอยู่ในขาลงหลังวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ กับวิกฤตการณ์การเงินยุโรป การแข่งขันในตลาดจะรุนแรงขึ้น ทุกประเทศมียุทธศาสตร์คล้ายๆ กันกับที่ไทยจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 ที่น่ากลัวคือจีนเพราะมีทั้งกำลังคน กำลังเงิน และตลาดใหญ่ สมมติว่าถ้าในอนาคตไทยมีสมรรถนะ สามารถแข่งขันได้ ก็ต้องมาถามว่าคนที่จะได้อานิสงส์จากชัยชนะจะมีสักแค่ไหนในเศรษฐกิจเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ถ้าเราชนะด้วยการจ้างงานคนน้อยลง ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น คนที่ได้ประโยชน์ก็กระจุกตัว ความเหลื่อมล้ำอาจจะแย่ลง

สอง ผู้นำโลกาภิวัตน์เปลี่ยน สมัยก่อนเป็นอเมริกา อนาคตอาจเป็นจีนและเอเชีย ตอนนี้มีกระแสการมาของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) จำนวนดีลทางเทคโนโลยีของจีนที่เข้ามาในอาเซียนมากขึ้นเป็น 3-4 เท่า การโตขึ้นของอีคอมเมิร์ซก็เป็นดาบสองคม ธุรกิจระดับเล็ก กลาง ใหญ่ อาจขยายตลาดได้ผ่านโลกออนไลน์ แต่ทางลบคือ ธุรกิจเหล่านั้นก็จะถูกตีตลาดโดยยักษ์ใหญ่ของอีคอมเมิร์ซได้เช่นเดียวกัน

สาม มิติด้านข้อมูล เมื่อก่อนมีสงครามแย่งน้ำมัน แต่ปัจจุบันเป็นการแย่งชิงข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องน่าถามว่า ในอนาคต กรรมสิทธิ์ของข้อมูลควรเป็นของใคร วันนี้เราให้ข้อมูลผู้ให้บริการง่ายไปหรือเปล่า การเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัตน์ทำให้ความเหลื่อมล้ำถ่างออกและจะมีผลกระทบกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นในปีที่แล้วที่มีกระแสคำถามว่า เศรษฐกิจดีแล้วทำไมคนไม่รู้สึก

สันติธารตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรจะพัฒนาคนให้ทันโลกยุคใหม่ การศึกษาต่อไปจะไม่ใช่เรื่องประถม มัธยม มหาวิทยาลัย แต่การศึกษาช่วงต้นคือปฐมวัยกับช่วงปลาย หรือช่วงหลังจากเข้าทำงานจะมีความสำคัญขึ้นมาก การบ่มเพาะทัศนคติเป็นเรื่องที่สำคัญ สิ่งที่หุ่นยนต์แทนคนไม่ได้คือทักษะพฤติกรรม ทีมเวิร์กและความเข้าใจคนอื่น ซึ่งจะเปลี่ยนตอนนี้ก็ช้าไปแล้ว แต่เรื่องดีคือ หลายประเทศก็เปลี่ยนไม่ทันเหมือนกัน ยังคุ้นชินกับแบบแผนการศึกษาแบบเดิม

พัฒนาเศรษฐกิจอย่าลืมสิ่งแวดล้อม ลดก๊าซเรือนกระจกลำบากเพราะรัฐ-ระบบราชการยังไม่กระฉับกระเฉง

ชยันต์กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจต้องดูองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อมและการกระจายรายได้ เห็นด้วยว่ารัฐบาลมีวิสัยทัศน์ให้คนเห็นตรงกันว่าจะวิ่งไปทางไหน แต่ไม่ควรเปลี่ยนแปลงไม่ได้เพราะโลกเปลี่ยนเสมอ ส่วนตัวแค่อนาคต 5 ปีข้างหน้ายังไม่อยากจะเดาเลย สิ่งที่กังวลที่สุดคือ การเติบโตของประเทศที่เน้นการเจริญเติบโตมากไปจนลืมเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนในเรื่องความเหลื่อมล้ำและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน ดัชนีชี้วัดสมรรถภาพด้านสิ่งแวดล้อมของไทยอยู่ที่ร้อยละ 69.54 เรื่องสำคัญคือ ป่าไม้หายไปทุกปี ปัญหาด้านการประมงอย่างผิดกฎหมายและทำลายทรัพยากร

ปัญหาสิ่งแวดล้อมคือปัญหาใหญ่ที่เป็นผลกระทบต่อโลกทั้งใบ ปัจจุบันความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ประมาณ 401 ส่วนในล้านส่วน (PPM) อุณหภูมิโลกสูงจากปี 2423 มาแล้ว 0.85 องศาเซลเซียส และถ้าเพิ่มเกิน 2 องศาเซลเซียส โลกจะประสบปัญหาวิกฤต ปัจจุบันไทยมีสัญญาการลดก๊าซเรือนกระจก 2 ระดับ หนึ่ง เจตจำนงการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศไทย (Nationally Appropriate Mitigation Actions: NAMAs)  ที่ไทยสัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หลังจากร่วมลงนามกับข้อตกลงปารีสคือต้องลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ร้อยละ 20 และต้องทำให้ได้ภายในปี 2563 ที่ผ่านมาไทยลดก๊าซไปได้ร้อยละ 11 แล้ว ไม่น่าห่วง แต่ในระดับต่อไปที่ต้องลดให้ได้ร้อยละ 25 นั้นค่อนข้างยาก ส่วนหลักที่ต้องลดคือภาคพลังงานอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเป็นร้อยละ 37 ซึ่งภาคส่วนดังกล่าวไปอยู่ที่หน่วยงานราชการเป็นส่วนใหญ่

ชยันต์ตั้งข้อสังเกตว่า การลดก๊าซยังมีคำถามในเรื่องต้นทุนว่าการลดแบบไหนใช้ต้นทุนน้อย ส่วนไหนใช้ต้นทุนมาก นอกจากนั้น เมื่อดูจากระเบียบต่างๆ ในเรื่องนี้ยังไม่ระบุว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นปัญหาหลัก เรื่องสำคัญคือการสร้างจิตสำนึกกับผู้บริโภค ปัจจุบันเราทำงานกันในด้านผู้ให้บริการและผู้ประกอบการเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้น รัฐยังขาดความสนใจเรื่องการปรับตัวกับสภาวะสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป สาธารณูปโภคและพันธุ์พืชของไทยพร้อมกับสภาวะภูมิอากาศที่ไม่แน่นอนหรือไม่ เราจะจัดการกับการแย่งยื้อทรัพยากรอย่างไร