รัฐมนตรีพลังงานแจง8ข้อไม่ลดบทบาท กฟผ. ปตท. (18 ม.ค. 61)
energynews 18 มกราคม 2561
รัฐมนตรีพลังงานแจง8ข้อไม่ลดบทบาท กฟผ. ปตท.
รัฐมนตรีพลังงาน แจง 8 ข้อ ไม่มีนโยบายลดบทบาท กฟผ. ปตท. โดยยังคงให้ กฟผ.ดูแลสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ในขณะที่ ปตท. ดูแลเรื่องท่อก๊าซฯ คลัง LNG รวมทั้งการจัดหาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย พร้อมหนุนให้ กฟผ. และปตท. ร่วมมือกันทำธุรกิจรองรับเทคโนโลยีพลังงานยุคใหม่
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานยืนยันไม่มีนโยบายลดบทบาทรัฐวิสาหกิจทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)และบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)โดยยังคงให้ กฟผ.มีบทบาทในการรักษาสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และให้ส่วนที่เหลือซึ่งไม่เกี่ยวกับความมั่นคงพลังงานประเทศจะเปิดให้เอกชนรายอื่นเข้ามาร่วมแข่งขันได้กับทั้งกฟผ. ปตท. ภายใต้กฎกติกาที่เป็นธรรมพื้นฐานเป้าหมายราคาค่าไฟฟ้าต้องไม่แพง ทั้งนี้จะมีการพิจารณาสัดส่วนดังกล่าวภายหลังจากจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว(PDP) ฉบับใหม่เสร็จสิ้นเดือนมี.ค. 2561 นี้ต่อไป
สำหรับบทบาทของปตท. นั้น จะยังมีบทบาทในการดูแล ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ สายส่งไฟฟ้า รวมถึงสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) รวมทั้งการจัดหาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โดยเฉพาะแหล่งก๊าซเอราวัณและบงกช ซึ่งจัดเป็นแหล่งก๊าซที่ต้องรักษาความต่อเนื่องในการผลิต เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ
ทั้งนี้เนื้อหา 8ข้อ ที่ทางรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานแถลงข่าวด่วนต่อสื่อมวลชน มีรายละเอียดดังนี้
1.หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ปตท. กฟผ.มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
2.รัฐบาลมีนโยบายมอบหมายให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 หน่วยงานยังต้องมีบทบาทและหน้าที่ร่วมกันรักษาและเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างต่อเนื่อง
3.โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังานที่สำคัญต่อความมั่นคง ได้แก่ ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ สายส่งไฟฟ้า รวมทั้งสถานีก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)และโรงไฟฟาหลักที่จำเป็นในการสร้างเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าทั้งประเทศ จะยังอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 หน่วยงาน
4.ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าและจัดหาก๊าซธรรมชาติที่นอกเหนือจากที่จำเป็นสำหรับความมั่นคงแล้วจะเปิดให้เอกชนมีส่วนร่วมในระบบที่มีการแข่งขัน โดยทั้ง 2 หน่วยงาน ปตท.และ กฟผ.สามารถร่วมแข่งขันด้วยได้บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน โดยจัดให้มีการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานอย่างเป็นธรรม
5.บทบาทการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักของ กฟผ.และการจัดหาก๊าซธรรมชาติที่จำเป็นต่อความมั่นคง โดยปตท. เป็นหน้าที่สำคัญที่ทั้ง กฟผ.และปตท.ต้องร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างต่อเนื่อง
6.สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าหลักของ กฟผ. และการจัดหาก๊าซฯที่จำเป็นต่อความมั่นคงโดย ปตท. ที่เหมาะสม ให้เป็นไปตามผลการศึกษาที่จะมีการดำเนินการต่อไป
7.ส่วนย่อยโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เช่น สถานี LNG ที่จะเป็นการลงทุนของ ปตท. กฟผ. หรือโดยเอกชนจะต้องเป็นการพิจารณาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องทำการศึกษาอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงพลังงานของประเทศ
และ 8 ส่วนการบริหารจัดการภายในของ กฟผ.และ ปตท.เพื่อรองรับบทบาทหน้าที่ด้านความมั่นคงของระบบพลังงานของประเทศจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร เป็นหน้าที่ของผู้บริหารสูงสุดของทั้ง 2 หน่วยงาน ทั้งนี้หากจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยให้ความสำคัญต่ออนาคตในหน้าที่การงานของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน
ด้าน นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.กำลังเร่งปรับองค์กรรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีพลังงานในอนาคต ซึ่งจะต้องเรียนรู้ที่จะปรับองค์กรให้เป็น Business มากขึ้นจากปัจจุบันที่เป็นระบบราชการมากเกินไปทำให้การดำเนินงานไม่คล่องตัว โดยจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นมากขึ้นโดยเฉพาะที่เป็นรัฐวิสาหกิจด้วยกันก่อน เช่น ปตท. รวมถึงการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)
โดยในวันที่ 2 ก.พ. 2561 ทาง ผู้บริหารระดับสูงของทั้ง กฟผ.และ ปตท. จะลงนามความร่วมมือ (MOU) ร่วมกันครั้งสำคัญ เพื่อจะร่วมกันพัฒนาในทุกด้านของพลังงาน เช่น การแลกเปลี่ยนความรู้ การประสานด้านการเชื่อมต่อคลังก๊าซฯลอยน้ำ (FSRU) กับท่อก๊าซฯของ ปตท. และที่สำคัญการร่วมมือทางธุรกิจที่จะทำร่วมกันในเร็วๆนี้เป็นครั้งแรกด้วย
นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ กฟผ.จำเป็นต้องปรับองค์กรภายในให้แข็งแรงขึ้น ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพพนักงานให้ทันต่อเทคโนโลยี รวมถึงในปี 2561 นี้จะต้องลดจำนวนการเปิดรับพนักงานใหม่เหลือเพียง 15% ของพลังงานที่เกษียณอายุงาน
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ปตท. ไม่เคยรับนโยบายจากกระทรวงพลังงานเรื่องการลดบทบาทของ ปตท. มาก่อน และเห็นว่า ปตท.จะเป็นองค์กรที่ต้องเพิ่มบทบาทมาช่วยสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 และนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มากขึ้นด้วย
ในส่วนของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจุบัน ปตท.อยู่ระหว่างการสร้างท่อก๊าซฯ เส้นที่ 5 เชื่อมท่อก๊าซฯฝั่งตะวันตกและตะวันออกของประเทศ รวมถึงกำลังสร้างและขยายคลัง LNG เพิ่ม นอกจากนี้กำลังเปิดโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่อก๊าซฯและคลังก๊าซฯ ให้รายอื่นเข้ามาใช้บริการได้ด้วย
นอกจากนี้ ปตท. ยังเตรียมจัดหาก๊าซธรรมชาติจากประเทศโมซัมบิกเพิ่มเติม แต่ต้องรอดูความต้องการใช้ก๊าซฯของโรงไฟฟ้าในประเทศ ตามแผน PDP ฉบับใหม่ด้วย ซึ่งหากรัฐมองว่าการจัดหาก๊าซฯดังกล่าวจัดอยู่ในส่วนของความมั่นคงพลังงานประเทศ ปตท.ก็มีความพร้อมจะนำเข้า ซึ่งจะต้องพิจารณากันต่อไป ซึ่งในส่วนที่เป็นสัญญาระยะยาว (longterm contract) ที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศนั้น ปตท. จะเป็นผู้จัดหาหลัก แต่ในส่วนของการนำเข้าก๊าซฯระยะสั้นที่มีราคาตาม spot market ก็เห็นควรเปิดให้เอกชนรายอื่นๆ เข้ามาแข่งขันกับ ปตท.ได้