ชงปฏิรูปพลังงานหาพื้นที่ผุดปิโตรเคมีระยะยาวแทนอีสเทิร์นซีบอร์ด (18 ม.ค. 61)

MGR Online 18 มกราคม 2561
ชงปฏิรูปพลังงานหาพื้นที่ผุดปิโตรเคมีระยะยาวแทนอีสเทิร์นซีบอร์ด

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานหวังผนึกแผนเป็นยุทธศาสตร์ชาติ เม.ย.นี้ กางข้อเสนอปฏิรูปกิจการไฟฟ้า ปิโตรเลียม มุ่งเน้นดูแลประชาชนและความมั่นคงประเทศ แนะหาที่ใหม่ผุดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะยาวแทนอีสเทิร์นซีบอร์ดที่กินบุญเก่าใกล้หมดแล้ว

นายพรชัย รุจิประภา ประธานคณะกรรมการประเทศด้านพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้แผนแม่บทปฏิรูปพลังงานแล้วเสร็จ และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อจัดทำแผนในภาพรวมพร้อมกับคณะกรรมการปฏิรูปในด้านต่างๆ ในวันที่ 22 ม.ค.นี้ และคาดว่าที่ประชุมจะพิจารณาแล้วเสร็จในวันที่ 24 ม.ค. จากนั้นจะจัดส่งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อนำไปจัดทำข้อสรุปในขั้นตอนสุดท้ายในเดือน ก.พ. ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน มี.ค. เพื่อเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาก่อนประกาศใช้เพื่อเป็นแผนปฏิรูปประเทศไทยในทุกๆ ด้าน หรือแผนยุทธศาสตร์ชาติในเดือน เม.ย.นี้

สำหรับสาระสำคัญของแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน (โรดแมป) ในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2561-2565) จะดำเนินการปฏิรูปใน 6 ด้าน ครอบคลุม 17 ประเด็น เช่น ไฟฟ้าเสนอปฏิรูป เช่น ปรับแผน PDP ใหม่ที่คํานึงถึงความสมดุลรายภาค ส่งเสริมกิจการไฟฟ้าเสรีที่ใช้พลังงานทดแทนที่ผลิตและซื้อขายไฟฟ้ากันเองภายในชุมชน และปรับโครงสร้างการบริหารกิจการไฟฟ้าโดยบูรณาการหน่วยงานกิจการไฟฟ้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการไฟฟ้าและการลงทุนของประเทศ

ด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมี มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติและสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่จากปิโตรเคมี เช่น สร้างโอกาสให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้า LNG ของภูมิภาค การพัฒนาปิโตรเคมี ระยะที่ 4 เพื่อสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจากฐานการผลิตปัจจุบันในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก รวมถึงการกำหนดพื้นที่ใหม่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะยาว

“ผมเห็นว่าประเทศไทยกินบุญเก่าหมดแล้ว คือผลประโยชน์ที่ได้จากโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกหรืออีสเทิร์นซีบอร์ดที่จังหวัดระยอง ดังนั้นจึงต้องสร้างบุญใหม่เพื่อประโยชน์แห่งอนาคตคือโครงการปิโตรเคมีระยะที่ 4 ที่หากเกิดขึ้นสำเร็จจะก่อให้เกิดการลงทุนมูลค่า 300,000 ล้านบาทเพื่อเป็นการต่อยอดให้กับอุตสหากรรมทุกประเภท”

การสนับสนุนพลังงานทดแทนเพื่อส่งเสริมการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ปฏิรูปใน 4 ประเด็น เช่น ปฏิรูประบบบริหารจัดการเชื้อเพลิงไม้โตเร็วสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล, ส่งเสริมการนำขยะไปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า, ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรี ฯลฯ

นายมนูญ ศิริวรรณ หนึ่งในกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า แนวทางการปฏิรูปฯ แผนระยะสั้นปี 2561-2562 จะมีศูนย์บริการแบบครบวงจร (One Stop Service) ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและธุรกิจไฟฟ้าพร้อมเกิดศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตพื้นที่การตั้งโรงไฟฟ้าจะเกิดจากประชาชนเสนอเองเป็นครั้งแรก เป็นต้น ขณะที่แผนระยะกลาง ปี 2563-2565 จะทำให้การบริหารจัดการด้านพลังงานมีธรรมาภิบาลได้รับการยอมรับจากประชาชน ลดการผูกขาด สร้างการแข่งขันในทุกกิจการพลังงาน ประชาชนเข้าถึงการใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม มีการลงทุนด้านพลังงานทั้งพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมใหม่