ผ่า กม.สิ่งแวดล้อม ก่อน สนช.เปิดไฟเขียว เอื้อประโยชน์เอกชน เมินส่วนร่วมประชาชน ? (19 ม.ค. 61)

Green News TV 19 มกราคม 2561
ผ่า กม.สิ่งแวดล้อม ก่อน สนช.เปิดไฟเขียว เอื้อประโยชน์เอกชน เมินส่วนร่วมประชาชน ? 

อีกไม่กี่ชั่วโมงนับจากนี้ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 19 ม.ค.2561 จะพิจารณาลงมติในวาระที่ 2 ของ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

การพิจารณากฎหมายฉบับดังกล่าว เป็นไปท่ามกลางเสียงคัดค้านอย่างหนักหน่วงจากทั้งเครือข่ายนักอนุรักษ์ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม รวมถึงนักวิชาการ ที่ต่างออกมาเรียกร้องให้ยุติพร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตหลากหลายประการ หนึ่งในนั้นก็คือกระบวนการรวบรัดและขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 ว่าด้วยการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย

ภายหลังที่ประชุม สนช.ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวในวาระแรกไปแล้ว สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews) ได้พูดคุยกับ สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ถึงสาระสำคัญของกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อถอดรหัสร่างกฎหมายฉบับนี้

—– หลักการคงเดิม ขัดรัฐธรรมนูญ ม.77 และ ม.58 —–

“หลักการไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม” คือคำจำกัดความจาก “สุภาภรณ์” ในฐานะนักกฎหมายที่ติดตาม ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างใกล้ชิด บทสนทนาระหว่างเราเริ่มต้นขึ้นด้วยบรรยากาศอันตึงเครียด น้ำเสียงเผยถึงความเหนื่อยล้าจากความพยายามหลากหลายครั้งที่จะยื่นหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้ทบทวน และเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายฉบับเดียวกันนี้ในทางที่ดีขึ้น

เธอเล่าย้อนว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญอธิบายว่า (ร่าง) พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ฉบับนี้เป็นไปตามมาตราที่ 77 มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างครบถ้วน แต่สำหรับตัวเธอเองกลับมองว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว ไม่ได้เป็นไปตามมาตรา 77 แต่อย่างใด นั่นเพราะประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมหรือาข้อเสนอในระหว่างร่างกฎหมาย แต่เมื่อกฎหมายถูกร่างโดยหน่วยงานรัฐเสร็จแล้ว จึงจะมารับฟังความคิดเห็นจากประชาชน

สุภาภรณ์ วิพากษ์ว่า การร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฉบับนี้ ไม่ได้นำข้อมูลการสรุปบทเรียนต่างๆ จากในอดีตมาใช้เป็นฐานในการร่างแต่อย่างใด ส่วนการนำร่างกฎหมายมารับฟังความคิดเห็นจากประชาชนนั้นช่วยได้เพียงทำให้กฎหมายดีขึ้นในระดับหนึ่ง แต่กระบวนการดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 77 ตามรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

“สิ่งที่ควรทบทวน เช่น หมวดว่าด้วยอีไอเอ (รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม) หน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องอย่างสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งเคยผ่านอีไอเอมาแล้วหลายฉบับ และรู้ถึงปัญหาอุปสรรคต่างๆ ควรทำการศึกษาว่าปัญหาเหล่านั้นคืออะไร แล้วนำมาร่วมกันคิด วางทิศทางการแก้ไขปัญหา ก่อนจะพัฒนามาเป็นกฎหมาย” เธอ ยกตัวอย่าง

ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมรายนี้ ให้ความเห็นต่อไปอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ยังไม่สอดคล้องกับมาตรา 58 ซึ่งจากการอ้างอิงของคณะกรรมาธิการวิสามัญ และ สนช. แม้หน่วยงานรัฐอ้างว่าการแก้เฉพาะหมวดเป็นไปตามมาตรา 58 แต่ก็ยังไม่สอดคล้อง โดยเฉพาะการบรรจุคำว่ากิจการใดๆ อีกทั้งฉบับที่ผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญไม่ได้ระบุเรื่องการประเมินผลกระทบเชิงศักยภาพอย่างชัดเจน

—– ชำแหละกฎหมายรายมาตราเอื้อเอกชน —–

สุภาภรณ์ เล่าต่อว่า ในส่วนของการเพิ่มคำนิยามการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในร่างกฎหมายไม่มีความชัดเจน กลายเป็นว่าการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องของการประเมินเพื่อนำไปสู่การอนุมัติ อนุญาตกิจการ หรือโครงการเท่านั้น ทั้งๆ ที่หลักการสำคัญของการประเมินต้องนำไปสู่ทางเลือกการพัฒนาระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม ศักยภาพ ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

ถัดจากนั้น สุภาภรณ์ได้หยิบร่าง พ.ร.บ.และข้อแก้ไขแบบรายมาตราที่เข้าสู่การพิจารณาของ สนช.มาชำแหละให้เราฟัง

เธอเริ่มต้นที่มาตรา 46/1 ที่ทางคณะกรรมาธิการเพิ่มขึ้นใหม่ในเรื่องการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ตามระบบเรียบกฎหมายอื่น ซึ่งแท้ที่จริงๆ แล้วต้องกำหนดในเรื่องของการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบอย่างชัดเจน ไม่ใช่การไปอ้างอิงจากกฎหมายอื่น

ต่อด้วยมาตรา 51/2 การประเมินผลกระทบในกรณีที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ไม่เห็นชอบ จากเดิมสามารถแก้ไขได้ภายใน 120 วัน แต่ฉบับใหม่ได้เพิ่มเป็น 180 วัน เธอมองว่าการเพิ่มจำนวนวันไม่ได้เป็นสาระสำคัญในการแก้ไข พ.ร.บ.แต่อย่างใด

มาตราที่ 51/3 เพื่อประโยชน์ในการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมสามารถให้ คชก. เข้าไปตรวจสถานที่ตั้งโครงการได้ เดิมระบุว่าสามารถทำได้ตามความเหมาะสมซึ่งกว้างอยู่แล้ว แต่ฉบับใหม่กลับมีการแก้ว่าต้องทำต่อหน้าหรือด้วยความยินยอมของผู้ดำเนินโครงการ หรือผู้ขออนุญาต

“การตรวจสอบต่อหน้าผู้ดำเนินโครงการเราโอเค เพราะว่าเจ้าของต้องอยู่ด้วยในการตรวจสอบเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่การที่ระบุว่าด้วยความยินยอมของผู้ดำเนินการ เรามองว่า คชก. ควรเข้าตรวจสอบโดยอำนาจหน้าที่ไม่ใช่ไปขอความยินยอม หรือขออนุญาต เพราะการเข้าไปตรวจสอบเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณา คิดว่าน่าจะมีปัญหาในเรื่องการเข้าไปตรวจสอบพื้นที่หากมีการบังคับใช้กฎหมาย” สุภาภรณ์ ระบุ

เธอเล่าถึง มาตราที่ 51/9 ที่ระบุว่า ผู้ใดหลีกเลี่ยงหรือไม่ปฏิบัติมาตรการตามการประเมินผลกระทบ กำหนดโทษให้สั่งระงับ หยุดการดำเนินการ หรือยุติการดำเนินการนั้นไว้จนกว่าจะปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในกฎหมายฉบับนี้กลับถูกตัดออก แต่กลับเพิ่มเติมมาตรา 51/6 ซึ่งเป็นมาตรการที่มีบทลงโทษอ่อนกว่าแทน

มาตรา 101/2 ว่าด้วยการไม่ส่งรายงานการประเมินผลกระทบและสิ่งแวดล้อมต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท จากเดิมที่มีโทษสั่งปิด พัก เพิกถอน หรือระงับโครงการด้วย ซึ่งมีการปรับแก้เหลือเพียงแค่โทษปรับเท่านั้น จะทำให้มาตรการขาดความเข้มข้นและเจ้าของโครงการไม่เกรงกลัว

—– กม.สอดไส้คำสั่ง คสช. —–

สุภาภรณ์ อธิบายรายละเอียดมาอีกหลายมาตราอย่างแม่นย้ำ ก่อนจะหยุด ถอนหายใจ และพูดต่อว่า “มาตรา 50 วรรคที่ 4 มันคือคำสั่ง คสช.ที่ 9/2559”

เธอระบุต่อไปว่า โครงการที่ต้องจัดทำรายงานอีไอเอ แต่กฎหมายกลับเปิดช่องให้ประมูลโครงการไปก่อน แม้ว่าล่าสุดมีการตัดเรื่องของความมั่งคงทางพลังงานออก แต่ก็ยังมีเรื่องการคมนาคม ชลประทาน โรงพยาบาล ที่อยู่อาศัยอยู่ เหมือนเก่า ซึ่งหลักการคือไม่ควรทำเช่นนั้น

“ปัจจุบันมีโครงการขนาดใหญ่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เช่นในเขตเศรษฐกิจพิเศษของภาคตะวันออก การคมนาคม รถไฟรางคู่ ถนนหนทางที่เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐ เพราะฉะนั้นกลายการเปิดช่องให้มีการประมูลก่อนที่จะมีรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม มองว่ารัฐปรับปรุงกฎหมายไปในทิศทางที่ถอยหลังลงคลองมากกว่าการที่จะปฏิรูปไปสู่ข้างหน้า” เธอกล่าวเสียงแข็ง

ก่อนสิ้นสุดบทสนทนา เธอเล่าว่า เจตนาที่แท้จริงในการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ. ก็เพื่อให้สอดคล้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งขณะนี้ทิศทางโลกเห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางด้านระบบนิเวศ เช่น การสูญพันธุ์ สารเคมีปุ๋ย ทว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับไม่ได้พูดถึงเลย

ท้ายที่สุด เธอตั้งคำถามว่า สนช. จะรับผิดชอบอย่างไรหากกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ เพราะแน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือความขัดแย้งและความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเกิดจากทิศทางการพัฒนาของภาครัฐในปัจจุบัน ทุกวันนี้มีโครงการขนาดใหญ่เยอะมาก และทุกโครงการอ้างเรื่องความเร่งรีบ

นั่นคือบทวิเคราะห์ที่สะท้อนภาพ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ฉบับใหม่ ของประเทศไทย ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในเร็ววันนี้