เจาะแผนสู้โลกร้อนสู่ขั้นตอน ‘ปฏิบัติ’ เปลี่ยนรัฐบาลต้องไม่กระทบทิศทางชาติ (18 ม.ค. 61)
Green News TV 18 มกราคม 2561
เจาะแผนสู้โลกร้อนสู่ขั้นตอน ‘ปฏิบัติ’ เปลี่ยนรัฐบาลต้องไม่กระทบทิศทางชาติ
แม้ “ความตกลงปารีส” ที่เกิดขึ้นจากการประชุมภาคีสมาชิกกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งที่ 21 (COP21) ในปี 2558 จะกลายเป็นความหวังของมวลมนุษยชาติในการต่อสู้กับสภาวะโลกร้อน และเป็นสิ่งที่หลายประเทศพยายามผลักดันให้เป็นกรอบการดำเนินการ
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเจรจาทั้งหมดที่มีความพยายามมาอย่างยาวนานอาจไม่มีความหมายและสูญสลายไปกับกาลเวลา หากเป้าประสงค์ร่วมกันเหล่านั้นไร้ซึ่งการปฏิบัติ ดังนั้นเมื่อพูดถึงการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกหนึ่งส่วนสำคัญที่จะต้องพูดถึงลึกลงไปภายใต้กฎกติกาก็คือการบังคับใช้จริงภายใต้สถานการณ์ที่มีอยู่ปัจจุบัน
สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews) ได้ร่วมพูดคุยกับ “บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์” ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อวิเคราะห์ลงรายละเอียดข้อตกลงปารีสให้ดียิ่งขึ้น
—— เจาะลึก ‘ไทย’ เตรียมอะไรสู้โลกร้อน —–
บัณฑูร เริ่มต้นฉายภาพผ่านสถานการณ์ประเทศไทยว่า สิ่งที่เราเตรียมตัวไปในความตกลงปารีส คือการสำรวจสิ่งที่มีอยู่ในมือว่าจะสามารถทำส่วนใดได้บ้าง โดยหลักๆ คือในส่วนของภาคพลังงาน ซึ่งเรามีทั้งแผนพลังงานทางเลือก แผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน หรือแผนในภาคขนส่งที่เปลี่ยนจากระบบล้อไปสู่ระบบรางมากขึ้น เป็นที่มาของการกำหนดโจทย์เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ 20% และเพิ่มเป็น 25% หากได้รับความช่วยเหลือระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ เขามองว่าเป้าหมาย 20-25% ที่เราประกาศ อยู่ในวิสัยที่ไม่ยากสำหรับประเทศไทยในขั้นต้น ขณะที่โจทย์การบ้านถัดไปจะอยู่ที่การทบทวนเป้าหมายอีกครั้งในปี 2563 และอีกทุกๆ 5 ปี เพื่อนำไปสู่การตอบโจทย์เป้าหมายของโลกที่ 1.5 องศาเซลเซียสให้ได้มากกว่า
อย่างไรก็ตาม ภายหลังมีความตกลงปารีสออกมา ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ทำการศึกษาว่าภายใต้กฎกติกาดังกล่าว ประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อมรองรับอย่างไรบ้าง โดยส่วนหลักคือการจัดทำรายงานทุก 2 ปี และการเตรียมความพร้อมในการทบทวนเป้าหมายทุก 5 ปี
เมื่อมีแผนรองรับในภาพรวมทั้งหมด ก็ได้มีการจัดทำโรดแมปแบบเดียวกันเพื่อให้เกิดความชัดเจน ว่าในเป้าหมาย 20% ที่เราประกาศไว้ แต่ละช่วงปีไหนจะลดเท่าไร มีภาคการผลิตส่วนใดบ้างที่จะต้องมาร่วมกันรับผิดชอบ ซึ่งในสองส่วนที่ว่ามาข้างต้นได้ทำเสร็จไปแล้ว
ปัจจุบันจึงอยู่ในระหว่างเริ่มทำแผนปฏิบัติการที่จะลงไปในรายละเอียดมากขึ้น ทั้งในส่วนของการลดก๊าซเรือนกระจก และในส่วนของการปรับตัวรองรับผลกระทบ คือ National Adaptation Plan (NAP) ซึ่งส่วนนี้อยู่ในข้อกำหนดความตกลงปารีส ให้แต่ละประเทศควรมีแผนระดับชาติเพื่อรองรับและปรับตัวกับผลกระทบจากภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สำหรับตัว NAP ได้มีการกำหนด 7 ภาคการผลิตสำคัญที่จะต้องเตรียมพร้อมรองรับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน เช่น การท่องเที่ยว การเกษตร ทรัพยากรป่าไม้ สาธารณสุข หรือเมืองที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นภาพของประเทศไทยตอนนี้จึงเห็นว่ามีการเตรียมพร้อมไว้แล้ว
—– ‘การเมือง’ ต้องไม่สะเทือนนโยบายสู้โลกร้อน —–
บัณฑูร เล่าอีกว่า ในประเทศไทยได้มีคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นกรรมการระดับชาติที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปฏิรูป จึงมีอีกส่วนที่เข้ามาเกี่ยวข้องคือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งประกอบด้วย 6 ด้าน หนึ่งในนั้นคือด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่มีเรื่องเกี่ยวข้องกับโลกร้อนเป็นหนึ่งในหัวข้อใหญ่ เป็นหลักประกันว่าเรื่องโลกร้อนเป็นการบ้านสำคัญที่จะอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ เป็นการวางเส้นทางยาว
“เรื่องโลกร้อนมาแน่ ผลกระทบเรื่องโลกร้อนมาแน่ เราต้องมีแผนระยะยาวที่รองรับ แผนในที่นี้หมายความว่าบางเรื่องมันต้องทำต่อเนื่อง ไม่ถูกเปลี่ยนเพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง” เขาระบุ
เขาอธิบายว่า เมื่อรัฐมนตรีเปลี่ยน นโยบายก็เปลี่ยน คณะรัฐมนตรี (ครม.) เปลี่ยน มีการยุบสภา ก็ต้องมาปรับแผนกันใหม่ ถ้ารัฐบาลที่มาใหม่หลังยุบสภาหรือหลังการเลือกตั้งไม่ใช่พรรคเดิม ก็มักจะไม่สานต่อนโยบายหรือสิ่งที่รัฐบาลเดิมทำเอาไว้ สิ่งเหล่านี้คือสภาพทางการเมือง
ทว่าเรื่องของโลกร้อน ถ้าถูกเปลี่ยนแปลงจากการเมืองบ่อยๆ เราจะรับมือกับปัญหาที่ต้องการการทำงานอย่างต่อเนื่องยาวนานไม่ได้ ฉะนั้นยุทธศาสตร์ชาติเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นหลักประกันให้การทำงานในเรื่องนี้มีความต่อเนื่อง
แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าหากว่าตัวข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เปลี่ยน กติกาโลกเปลี่ยน สิ่งเหล่านี้สามารถเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติได้ เช่น ในตอนนี้เรายังทำงานด้วยความเชื่อว่าอุณหภูมิโลกจะต้องถูกควบคุมไม่ให้เกิน 2 องศาฯ ภายใน ค.ศ.2100 แต่หากผ่านไปอีก 5 ปี แต่ละประเทศเริ่มอ้างเหตุปัจจัยเรื่องการเมือง เรื่องเศรษฐกิจ มีแนวโน้มที่จะลดตามเป้าหมายไม่ได้จริง หรือเริ่มชัดเจนว่าอุณหภูมิโลกจะเพิ่มไปถึง 3 องศาฯ ถ้าเป็นเช่นนั้นยุทธศาสตร์ชาติที่เขียนไว้ภายใต้สถานการณ์ว่าเราต้องคุมที่ 2 องศาฯ ก็อาจต้องเปลี่ยน กลับมาทบทวนและเขียนยุทธศาสตร์ใหม่
เขามองว่าปัจจัยความสำเร็จ จึงอยู่ที่นโยบายของรัฐที่จะต้องมีความต่อเนื่อง แต่ถึงอย่างไรนั่นก็ยังเป็นเพียงแค่ส่วนเดียว เพราะยังมีอีก 2 ส่วนสำคัญคือภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จ
—– ปัจจุบัน ‘เอกชน’ ขานรับพร้อมปรับตัว —–
ประเด็นถัดมาที่บัณฑูรพูดถึง คือกระแสเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งเกิดขึ้นในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) เมื่อปลายเดือน ก.ย.2558 อันมีส่วนที่ทำให้ความตกลงปารีสคลอดออกมาได้ในอีก 2 เดือนถัดมา
กระแสของ SDGs นี้เองเป็นที่ตื่นตัวกันอย่างมากในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งใน 17 เป้าหมายของ SDGs หนึ่งในนั้นคือเป้าหมายที่ 13 ได้พูดถึงการรับมือกับเรื่องโลกร้อนโดยตรง ดังนั้นกระแสความตื่นตัวของ SDGs ที่ทำให้ภาคเอกชนลุกขึ้นมาทำกิจกรรมมากมาย จึงมีส่วนที่ไปตอบโจทย์กับเรื่องโลกร้อนด้วยเช่นกัน
สำหรับภาคเอกชน ความตื่นตัวนั้นได้ทำให้มีการขยับระดับจากความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) มาสู่การปรับตัวในภาคธุรกิจหลักของตนเอง การปรับในกระบวนการผลิตโดยตรง เช่นบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่อย่าง บางจาก ได้ว่าจ้างบริษัท ไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์ (PwC) เข้ามาทำกิจกรรมสำรวจว่าการดำเนินธุรกิจของตนจะเกี่ยวโยงกับ 17 เป้าหมายของ SDGs ได้อย่างไรบ้าง ซึ่งได้ออกมาเป็น 4 เป้าหมายที่บางจากเกี่ยวข้องโดยตรง หนึ่งในนั้นเป็นเรื่องโลกร้อน
นอกจากนี้ยังมีวงใหญ่ๆ อย่างข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) ซึ่งถูกตั้งโดย UN ผลักดันให้บริษัทธุรกิจเข้ามาร่วมขับเคลื่อนให้ SDGs เกิดผลสำเร็จ เนื่องจาก UN วิเคราะห์ว่าที่ผ่านมาความก้าวหน้าเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดขึ้นน้อย เพราะขาดความร่วมมือที่ไม่เพียงพอจากภาคธุรกิจ
ในส่วนของ UN Global Compact ที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทย ขณะนี้มีสมาชิกประมาณ 35 บริษัทที่เข้าร่วม ซึ่งแต่ละบริษัทก็จะมีศักยภาพ ทรัพยากร และความสนใจที่แตกต่างกัน บางบริษัทเน้นด้านการศึกษา บางบริษัทเน้นเรื่องน้ำ บางบริษัทเน้นเรื่องโลกร้อน แต่สุดท้ายการดำเนิน SDGs ทั้ง 17 เป้านั้นมีผลเชื่อมโยงกัน ถ้าจัดการน้ำได้ดี จัดการป่าได้ดี ก็จะมีผลต่อการลดก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น
ขณะเดียวกันเขามองว่าภาคเอกชนยังได้ประโยชน์จากการปรับตัวนี้ เช่น การลดการสูญเสียพลังงาน หรือการลดของเสียในกระบวนการผลิต ล้วนเป็นการลดต้นทุนของภาคธุรกิจเอง โดยสินค้าที่ผลิตนี้ยังเป็นประเภทที่ลดคาร์บอนต่อหน่วยการผลิต (Carbon Footprint) สามารถเข้าไปแข่งในตลาดประเทศพัฒนาแล้วที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ
สำหรับภาคเอกชนแล้ว จึงนับได้ว่าเป็นผลประโยชน์ที่วิน-วิน ของผู้ที่ปรับตัวในทิศทางนี้ สามารถรักษาประโยชน์ในภาคธุรกิจและตอบโจทย์ของประชาคมโลก
—– อุปสรรคคือ ‘ประชาชน’ ยังไม่ตื่นตัว —–
ทว่าในส่วนที่เป็นจุดอ่อนตามมุมมองของบัณฑูร คือในส่วนของภาคประชาชน ที่เขามองว่ายังจะต้องเร่งทำงานให้มากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะแม้จะมีการรณรงค์เรื่องฉลากลดโลกร้อน เรื่องถุงผ้า หรือเรื่องปิดไฟ แต่ที่ผ่านมากลับเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมของวิถีชีวิตผู้คนน้อย
“มีครั้งที่ทางเทสโก้ โลตัส พยายามรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก ซึ่งได้สำรวจข้อมูลผู้ที่มาใช้บริการโดยสอบถามเกี่ยวกับปัญหาเรื่องโลกร้อน ว่าผู้บริโภคจะร่วมแก้ไขหรือทำอย่างไร คำตอบจำนวนมากบอกว่าถ้าร้อนก็เปิดแอร์ นั่นสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจที่ยังไปไม่ถึงตัวผู้บริโภคอีกเป็นจำนวนมาก ถือว่าเป็นการบ้านใหญ่ ถ้าหากว่าความเข้าใจเรื่องโลกร้อนของผู้บริโภคยังมีช่องว่างขนาดนี้” บัณฑูรย์ ระบุ
อีกสิ่งหนึ่งที่ข้อมูลดังกล่าวได้รับ คือเสียงสะท้อนว่าผู้บริโภคไม่ได้สนใจดูตัวฉลากสินค้า แม้จะมีผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากลดโลกร้อนออกมาเกือบพันรายการแล้วก็ตาม
อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์เรื่องนี้ บัณฑูรมองว่าปัจจัยแรกอาจเป็นเพราะเรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องระยะยาว คนที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจะยังไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากนัก ขณะที่ปัจจัยหนึ่งอาจเป็นเรื่องของตัวระบบที่รองรับ เพราะแม้คนบางส่วนอาจมีจิตสำนึก แต่สิ่งที่รองรับอาจจะไม่พอ
“เรื่องขยะถือว่าชัดที่สุด เรามีการรณรงค์ มีหลักสูตรการเรียนรู้ที่เข้าไปในโรงเรียน แสดงให้เห็นแล้วว่านักเรียนต้องช่วยกันเรื่องการแยกขยะ แต่เมื่อเขาเห็นการปฏิบัติจริงว่าขยะที่แยกไป พอถูกเก็บก็เอาไปรวมกันเหมือนเดิม หรือตามถนนต่างๆ ที่เราเห็นอยู่ว่าถังขยะก็ยังไม่มีระบบให้แยก จิตสำนึกที่เกิดขึ้นจึงไม่มีระบบรองรับให้สามารถปฏิบัติได้” เขายกตัวอย่าง
บัณฑูรย์ ชี้ประเด็นทิ้งท้ายว่า อีกหนึ่งอุปสรรคของการขับเคลื่อนนโยบายคือระบบไม่รองรับ เพราะแม้ว่าคนจะตระหนักและพร้อมจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว แต่ระบบก็ยังไม่เอื้ออำนวย ฉะนั้นนี่จึงเป็นการบ้านสำหรับประเทศไทย