นักวิชาการผังเมือง ชี้กทม.มีศักยภาพพอเป็นเมืองเดินดี เชื่อมย่านลดการใช้รถ-มลพิษ (20 ม.ค. 61)

สำนักข่าวอิศรา 20 มกราคม 2561
นักวิชาการผังเมือง ชี้กทม.มีศักยภาพพอเป็นเมืองเดินดี เชื่อมย่านลดการใช้รถ-มลพิษ

นักวิชาการผังเมือง มองกรุงเทพฯ มีศักยภาพพอเป็นเมืองเดินดี แต่ต้องขจัดอุปสรรคด้านทางเท้า ชี้ข้อดีช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ลดปัญหารถติด มลพิษทางอากาศ เชื่อมคน

เมื่อวันที่ 19 ม.ค.61 ในงานเสวนา “เมืองหน้าอยู่ยุค 4.0 หรือ 0.4” จัดโดย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ดร.พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ รองผู้อำนวยการ Urban Design and Development Center (UddC) กล่าวถึงการออกแบบเมือง ผ่านโครงการเมืองเดินได้เดินดีว่า เมืองใหญ่ปัญหาเยอะ ประเด็นสิ่งแวดล้อม ขนส่ง มลพิษ PM2.5 ซึ่งหนึ่งในต้นเหตุมาจากภาคขนส่ง คนเมืองอยู่บนท้องถนนหายใจเข้าเอามลพิษขนาดเล็กพวกนี้ไปโดยไม่รู้ตัว นี่คือภัยเงียบ ดังนั้นการลดมลพิษสามารถทำได้หลายอย่าง แต่งานที่ UddC ทำคือโจทย์ว่า ทำอย่างไรให้ส่งเสริมการเดินในเมือง  เมื่อเมืองเดินได้ ก็จะสามารถปั่นได้ด้วยเช่นกัน

ดร.พรสรร กล่าวถึงเมืองเดินได้เดินดีมีนัยว่า เมื่อเราเดินเท่ากับได้ออกกำลัง ลดความอ้วนได้ เป็นโอกาสของร้านค้าขนาดเล็กตามรายทาง เป็นโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจ การกระตุ้นการเดินเป็นเรื่องพื้นฐานของปากท้อง การสร้างย่านสร้างสรรค์ พื้นที่สาธารณะ  รวมไปถึงเรื่องความเท่าเทียมกันในเมือง หากเมืองไหนให้พื้นที่คนเดินได้มาก เท่ากับว่าเมืองนั้นเห็นคนเท่ากัน

“วันนี้ทั่วโลก อยากโคเปนเฮนเก้น เดนมาร์ก ใช้เวลา 50 ปี เปลี่ยนเมืองให้เดินได้ โดยการยกให้ย่านเมืองเก่ายกเลิกรถยนต์ออกไป บริบทกรุงเทพเป็นได้ไหมนั้น หากลองดูในช่วงที่ผ่านมา กรุงเทพฯ อยู่ในความเปลี่ยนแปลง จากเดิมเราเป็นเมืองน้ำก็เราเปลี่ยนล้อเมื่อร้อยปี เริ่มมีตัดถนน ตอนนี้กรุงเทพฯกำลังเริ่มเปลี่ยนเป็นเมืองแห่งราง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ คือวิถีคนสมัยใหม่”  ดร.พรสรร กล่าว และว่า หากดูจากงานวิจัยพบว่าคนที่ใช้ระบบรางจะเดินมากกว่าปกติถึง 2 เท่า  การพัฒนาระบบรางจะเป็นตัวแปรให้เมืองเปลี่ยนโฉม

ดร.พรสรร กล่าวว่า สิ่งที่ไม่ถูกปรับคือสภาพเมืองที่ไม่ได้ถูกปรับให้เหมาะสมกับการเดินเท้า  วันนี้คนเดินเท้าถูกผลักให้เดินขึ้นสะพานลอย ขณะที่เรากำลังสังคมผู้สูงอายุ พื้นที่ทางเดินถูดเบียดบัง  นี่คือสิ่งที่เป็นความจริงของกรุงเทพ  จากข้อมูลจากการศึกษาพบว่า ระยะที่คนกรุงเทพฯเดินในพื้นที่เมืองคือ ระยะทาง 800 เมตร ใช้เวลา 10 นาที ซึ่งตัวเลขนี้ไม่ต่างจากญี่ปุ่น อเมริกา มากกว่าฮ่องกงด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่บ้านเราเจอคืออุปสรรคการเดิน อาทิ มีสิ่งกีดขวาง พวกสะพานลอย ป้อมตำรวจ ป้ายโฆษณา แผงลอย นอกจากนี้ยังขาดร่มเงา สภาพอากาศที่ร้อน และแสงสว่างไม่เพียงพอ เหล่านี้ก็เป้นปัจจัย

“ในข้อมูลในเชิงสถิติ การพัฒนาเป็นเมืองเดินได้ ต้องเริ่มจากปัจจัยสองอย่าง คือจุดหมาย ต้องเป็นย่านที่มีจุดหมายในการเดิน เช่นเป็นแหล่งทำงาน มีพื้นที่สาธารณะ สามารถทำธุรกรรม และปัจจัยที่สอง คือสภาพแวดล้อม ที่เอื้อให้คนเดินมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นเมืองเดินได้ จึงไม่ใช่เมืองที่เดินดี และหากปัจจัยสิ่งแวดล้อมเอื้อ จะช่วยทำให้เมืองเดินดี” 

ดร.พรสรร กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าย่านสีลม อโศก สยาม เหล่านี้มีคนเดินเยอะมาก ดังนั้นถ้ารัฐจะพัฒนาเพื่อให้เมืองเดินได้สามารถเริ่มจากจุดเหล่านี้ก่อน  และจากการศึกษาคุณภาพของสภาพทางเท้า 34 พื้นที่  ใน 965 ถนน เราพยายามสำรวจ ดึงเงื่อนไขแดดและฝน หาบเร่แผงลอย ทั้งปัจจัยคนเดิน และสิ่งกีดขวาง ซึ่งสามารถตีความว่าสิ่งเหล่านั้นบริหารจัดการได้ ซ้ำยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนดัชนีเมืองเดินดี   ดร.พรสรร กล่าวว่า คือหนึ่ง ความปลอดภัย เรื่องแสงสว่าง ปัจจัยที่สองความสะดวกสบายที่มากพอต่อการเดิน มีร่มเงา ปัจจัยเรื่องสาม ความมีชีวิตชีวา มีร้านค้า เรื่องสีเขียว ขนาดทางเท้า  วันนี้ถนนราชวงศ์ได้คะแนนสูงสุด 33 คะแนน เป็นเส้นที่เดินดี ทั้งๆ ที่มีการขายของอยู่เต็ม ซึ่งเราตีความว่าขายของเป็นกิจกรรมในเชิงบวก แต่ไม่ได้บอกว่าสภาพทางเท้าดี แต่หมายถึงว่าที่นี่ปรับปรุงได้ มีศักยภาพพอ ต้องการการจัดการให้ดีพอ ซึ่งรัฐทำ ยังไงคนก็เอาด้วยเพราะคนเดินอยู่เเล้ว แต่ประเด็นคือ กรุงเทพฯเป็นเมืองที่รถยนต์เป็นใหญ่ เราต้องเปลี่ยนทัศนคติ อีกประการคือมุมมองต่อรถเมล์ รถเมล์ไม่ได้ของคนจน เมืองนอกเป็นอย่างนั้น ดังนั้นถ้าจะลดในแง่มลพิษทางอากาศ พัฒนาเมือง เราควรจะปรับขนส่งมวลชน ขมสก.ต้องพิจารณาทั้งระบบ