คำต่อคำ … ประธานสถาบันโลกร้อนศึกษา ก่อนที่น้ำจะกัดเซาะแผ่นดินจนสิ้นสูญ (19 ม.ค. 61)
Green News TV 19 มกราคม 2561
คำต่อคำ … ประธานสถาบันโลกร้อนศึกษา ก่อนที่น้ำจะกัดเซาะแผ่นดินจนสิ้นสูญ
แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีความพยายามอย่างสูงที่จะแก้ไขปัญหาเรื้อรังอย่าง “การกัดเซาะชายฝั่ง” แต่ในมุมมองใครบางคนอาจกล่าวได้ว่าความทุ่มเทนี้ไม่ต่างไปจากการเทงบละลายแม่น้ำ เพราะสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งในภาพรวมจนถึงขณะนี้ มีแต่ทวีความรุนแรงขึ้น
นอกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยมีน้ำมือมนุษย์เป็นสาเหตุโดยตรงแล้ว ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นผลพวงจากกิจกรรมของมนุษย์ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยเช่นกัน
สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews) ร่วมพูดคุยกับ ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานสถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย และหนึ่งในอาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น
อาจารย์ธรณีรายนี้ ระบุว่า จากตัวเลขที่เคยศึกษาให้กับธนาคารโลก (World Bank) เมื่อปี 2549 พบว่าประเทศไทยมีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ทั้งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามันอยู่ที่ประมาณ 590 กิโลเมตร จากชายฝั่งทั้งหมดกว่า 2,600 กิโลเมตร หรือเฉลี่ยประมาณ 22% โดยมีอัตราการกัดเซาะตั้งแต่ 3 เมตร ไปจนถึง 20-30 เมตรในบางพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการติดตามศึกษาอีกครั้งในปี 2556 พบว่าปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 800 กิโลเมตร หรือเฉลี่ยประมาณ 30% ซึ่งสภาพโดยรวมของทั้งประเทศคือปัญหาบางส่วนได้รับการแก้ไขในจุดนั้น แต่ปัญหากระจายไปจุดอื่น
ในส่วนของสาเหตุ เขาอธิบายว่าสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ธรรมชาติ ซึ่งพบว่าคลื่นลมลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ ได้พัดเข้ามาทำให้คลื่นที่เกิดขึ้นในทะเลมีขนาดใหญ่ขึ้นและทิศทางเปลี่ยน ต่อมาคือการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เป็นกลไกที่ทำให้ตะกอนเปลี่ยนแปลงไป
2.น้ำมือมนุษย์ เช่น การทำเขื่อนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งทำให้ตะกอนไหลลงสู่ทะเลลดลงประมาณ 70% หรือการสูบน้ำบาดาลในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ทำให้เกิดการทรุดตัวของแผ่นดิน รวมถึงการขุดลอกสันดอน จากความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งทำลายกลไกของธรรมชาติและทำให้เกิดการกัดเซาะรุนแรงมากขึ้น
เขากล่าวอีกด้วยว่าสาเหตุของปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ยังมาจากการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะด้วยการใช้โครงสร้างโดยที่ไม่ได้ศึกษาทั้งระบบ เมื่อแก้จุดหนึ่งได้ก็จะไปกัดจุดอื่น จึงเห็นได้ว่าบางครั้งยิ่งแก้ยิ่งทำให้ปัญหาลุกลาม
ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยจากสภาวะโลกร้อนที่ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งในส่วนของอ่าวไทยมีการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลประมาณ 4 มิลลิเมตรต่อปี นอกจากนี้ยังทำให้ลมมรสุมทั้ง 2 ตัวที่พัดเข้ามา ได้แก่ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เคยทำให้เกิดคลื่นในอ่าวไทยอยู่ที่ประมาณ 1-1.5 เมตร ขึ้นถึง 4 เมตรในช่วง 20 ปี และทิศทางก็เปลี่ยน ส่วนลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่เคยพาฝนมาในช่วงหน้าฝนทำให้เกิดคลื่นในอันดามันไม่เกิน 3 เมตร ก็พบว่าขึ้นมาถึง 6 เมตร และทิศทางเปลี่ยนด้วยเช่นกัน
“อย่าไปโทษเรื่องของธรรมชาติ มันคือคนด้วย และธรรมชาติด้วย แล้วปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไม่ใช่เจอเฉพาะประเทศไทย ทั่วโลกเจอหมด ประเทศที่อยู่ริมชายฝั่งทะเลมีปัญหาหมด เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30%” อาจารย์จุฬาฯ รายนี้ระบุ
เขาระบุว่า สำหรับประเทศไทย ส่วนของชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะมากที่สุดคือบริเวณอ่าวไทยตอนบน ในพื้นที่บ้านขุนสมุทรจีน ซึ่งถูกกัดเซาะไปแล้ว 1 กิโลเมตร ในระยะเวลา 30 ปี อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จะพบว่าประเทศเวียดนามถูกกัดเซาะไป 5 กิโลเมตร หรือประเทศจีนก็กัดเซาะไปแล้วกว่า 10 กิโลเมตร ในช่วงเวลาเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการรายนี้ชี้ว่าไม่มีระบบการป้องกันที่ตายตัว แต่ในเชิงวิชาการสามารถสรุปการแก้ไขได้เป็น 3 วิธี คือ 1.แบบแข็งหรือแบบใช้โครงสร้าง เช่น การทำกำแพงกันคลื่น ทำกลอย หรืออื่นๆ ในเชิงวิศวกรรม 2.แบบอ่อน เช่น การเติมตะกอน หรือเติมทราย และ 3.แบบผสมผสานทั้งแบบแข็งและแบบอ่อน
“แต่ว่าไม่มีวิธีไหนที่ดีที่สุด แล้วก็ไม่มีวิธีไหนที่ใช้ได้กับทุกพื้นที่ ส่วนใหญ่ก็ต้องศึกษาเฉพาะของใครของมัน ซึ่งขณะนี้ในส่วนของยุทธศาสตร์ชาติที่กำลังร่างกันอยู่ ก็ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องการกัดเซาะมากและเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะได้รับการดูแลแก้ไขรักษาตลอด 20 ปีข้างหน้า” อาจารย์ธนวัฒน์ กล่าว
เขายังทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ที่ดูแล แต่ว่ามีหลากหลายหน่วยงานและต่างคนต่างทำ ซึ่งดูเหมือนจะไม่ได้เชื่อมโยงบุคลากรกัน ทำให้พบว่าบุคลากรที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง ทั้งในส่วนของวิศวกรหรือนักวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในกระบวนการ มีจำนวนน้อยและอยู่ในข้อจำกัด ดังนั้นอีกส่วนหนึ่งที่้เป็นปัญหาคือหน่วยงานทั้งหลายที่ไม่ได้บูรณาการกัน