กรณีเตาเผาขยะ เทศบาลนครหาดใหญ่: ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์ (2 ม.ค. 61)

มติชนออนไลน์ 2 มกราคม 2561
กรณีเตาเผาขยะ เทศบาลนครหาดใหญ่ : ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์

กว่า 20 ปีของการทำงานในแวดวงขยะต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนและหน่วยงานหลากหลาย ตั้งแต่ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่รัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ นักธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีทั้งความสำเร็จ ความล้มเหลว พบกับการมีส่วนร่วมและการต่อต้านคัดค้านแม้กระทั่งการข่มขู่นานารูปแบบ ปัญหาขยะจึงไม่ใช่แค่ปัญหาทางวิชาการหรือปัญหาทางเทคนิค มันรวมเอาปัญหาเงินๆ ทองๆ ผลประโยชน์ ปัญหาสังคม จนถึงปัญหาการเมือง

เตาเผาขยะของเทศบาลนครหาดใหญ่เป็นอีกตัวอย่างของระบบกำจัดขยะแบบเตาเผาที่เอกชนลงทุนก่อสร้างและเดินระบบเพื่อให้บริการแก่ท้องถิ่น เริ่มเดินระบบตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 ช่วงเวลา 3 ปี
ผลของการเดินระบบไม่ค่อยราบรื่น มีการร้องเรียนจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบบ่อยครั้ง จนเกิดคำถาม “เกิดอะไรขึ้นกับเตาเผาแห่งนี้”

เมื่อครั้งที่ทำพิธีวางศิลาฤกษ์งานก่อสร้างเตาเผาขยะแห่งนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2554 เทศบาลนครหาดใหญ่ได้ให้ข้อมูลกับชาวบ้านว่า เทศบาลได้ว่าจ้างเอกชนลงทุนก่อสร้างและเดินระบบเตาเผาขยะที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้า เป็นเตาเผาแบบ Gasification Ash Melting รองรับปริมาณขยะได้ 250 ตันต่อวัน และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 6 เมกะวัตต์ ต่อมาเมื่องานก่อสร้างแล้วเสร็จจึงเริ่มเดินระบบเพื่อให้บริการกำจัดขยะแก่เทศบาลนครหาดใหญ่และท้องถิ่นอื่นๆ ในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ ในเดือนพฤศจิกายน 2557

อะไรคือเตาเผาแบบ Gasification Ash Melting มีประสิทธิภาพแตกต่างจากเตาเผาทั่วไปอย่างไร จึงทำให้เทศบาลนครหาดใหญ่เลือกให้เป็นเทคโนโลยีนี้

ผู้ผลิตเตาเผาจากประเทศญี่ปุ่นรายหนึ่งได้อธิบายประสิทธิภาพของเตาเผาแบบนี้ว่า เป็นระบบเตาเผาที่ได้รับการพัฒนาจากการวิจัยค้นคว้าและได้รับการติดตั้งเดินระบบเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นในปี 2549 มีประสิทธิภาพในการเผาทำลาย จึงเหลือเศษและเถ้าเพียง 3% และทำให้ไม่เกิด Dioxin ทั้งในรูปของก๊าซหรือสารปนเปื้อนในเศษและเถ้าจากการเผา จากภาพผังกระบวนการทำงานของเตาเผานี้พอเข้าใจได้ว่ามีกระบวนการทำงาน 2 ส่วน คือส่วนของ Gasification และส่วนที่เป็น Ash Melting

ในทางวิชาการมีคำอธิบายเกี่ยวกับกระบวนการ Gasification ว่า “เป็นการเปลี่ยนรูปพลังงานจากชีวมวลให้เป็นเชื้อเพลิงก๊าซ โดยให้ความร้อนที่อุณหภูมิสูงกว่า 700.C ผ่านตัวกลางของกระบวนการเช่น อากาศ ออกซิเจนที่มีจำนวนจำกัด หรือไอน้ำ กระบวนการนี้แตกต่างจากกระบวนการเผาไหม้ในเตาเผาของจังหวัดภูเก็ตอย่างสิ้นเชิง ผลของกระบวนการ Gasification จะได้ก๊าซที่สามารถเผาไหม้ได้เพื่อนำไปสู่กระบวนการผลิตพลังงานไฟฟ้า”

ส่วนขั้นตอนของ Ash Melting มีคำอธิบายว่าเป็นการเผาต่อเนื่องพวกเศษและเถ้าด้วยอุณหภูมิสูงจนหลอมละลาย หดตัว ผู้ผลิตเตาเผาจากญี่ปุ่นระบุว่าเถ้าที่เหลือจากเตาเผาแบบนี้จะน้อยกว่าเตาเผาทั่วไปถึง 75% โดยปริมาตร

เดือนกุมภาพันธ์ 2559 ชาวบ้านรอบบริเวณเตาเผายื่นหนังสือร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา เรื่องผลกระทบกลิ่น ควันและฝุ่นจากเตาเผาแห่งนี้ และขอให้ตรวจวัดมลพิษที่เกิดขึ้น หลังจากการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง ในเดือนพฤษภาคม 2559 กรมควบคุมมลพิษเข้าไปเก็บตัวอย่างมลพิษที่ปลายปล่อง เพื่อนำไปตรวจสอบ ซึ่งผลจากการตรวจวัดพบค่ามลพิษที่ปลายปล่องของเตาเผาเกินค่ามาตรฐาน นอกจากนั้น เดือนพฤศจิกายน 2559 ในการสำรวจพื้นที่เตาเผาของคณะทำงานของจังหวัด พบว่าปริมาณเถ้าและเศษที่ไม่เผาไหม้มากกว่า 15% ถูกนำไปทิ้งในพื้นที่ฝังกลบเดิมอย่างไม่ถูกต้องและมีความเสี่ยงจะเกิดผลกระทบกับแหล่งน้ำธรรมชาติ

เหตุใดผลของการเผาจึงไม่เป็นไปตามคำอธิบายของเตาเผาแบบนี้ และไม่เป็นไปตามข้อกำหนดด้านเทคนิคที่เทศบาลและเอกชนนำเสนอต่อสาธารณะก่อนลงมือก่อสร้าง เรื่องนี้เอกชนได้ชี้แจงถึงสาเหตุสำคัญคือความชื้นของขยะที่สูงมากจนไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิในห้องเผาได้ เป็นเหตุให้ค่ามลพิษที่ปลายปล่องสูงกว่ามาตรฐานและยังทำให้มีปริมาณเถ้าและเศษที่ไม่เผาไหม้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้

ความชื้นของขยะเป็นอุปสรรคสำคัญของเตาเผาไม่ว่าจะเป็นเตาเผาแบบใด ข้อมูลเรื่องความชื้นและองค์ประกอบของขยะจึงมีความสำคัญมากสำหรับการออกแบบเตาเผาและระบบที่เกี่ยวข้อง กรณีเตาเผาของเทศบาลนครหาดใหญ่ ข้อมูลความชื้นและองค์ประกอบของขยะได้ให้ไว้ในเอกสารข้อกำหนดในการคัดเลือกเอกชนแล้วตั้งแต่ต้น ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นน่าจะเกิดจากการออกแบบระบบของเอกชนเองที่เชื่อมั่นว่าเครื่องจักรและกระบวนการทำงานส่วนหน้าของเตาเผาจะสามารถลดความชื้นของขยะได้

คำถามว่า เหตุใดเทศบาลนครหาดใหญ่จึงเลือกเอกชนที่นำเสนอเทคโนโลยีนี้ ทั้งที่เป็นเทคโนโลยีค่อนข้างใหม่เมื่อเทียบกับเตาเผาแบบเผาไหม้ (Combustion) ที่เทศบาลนครภูเก็ตใช้อยู่ เหตุเพราะเทศบาลไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่จะวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านเทคนิค และเข้าใจว่าเอกชนมีความรู้ด้านเทคนิคดีกว่าเทศบาลและเป็นฝ่ายรับความเสี่ยงเองหากเกิดปัญหาด้านเทคนิค

เหตุการณ์นี้คล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเทศบาลนครภูเก็ตในปี 2549 ที่ต้องสั่งหยุดการเดินระบบของโรงงานคัดแยกขยะที่ลงทุน ก่อสร้างและเดินระบบโดยเอกชนเพราะล้มเหลวในการคัดแยกขยะ ไม่สามารถช่วยลดปริมาณขยะที่เข้าสู่เตาเผาได้ นั่นก็เป็นความเสี่ยงของเอกชน แต่เมื่อเกิดปัญหาย่อมส่งผลกระทบต่อการจัดการขยะของเทศบาล

ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี สามารถหลีกเลี่ยงหรือทำให้น้อยลงได้ด้วยการเตรียมความพร้อมของเทศบาลเอง และหากเจ้าหน้าที่ของเทศบาลไม่มีความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยี ก็จำเป็นต้องหาที่ปรึกษามาทำการศึกษาให้รอบคอบ นี่ไม่ใช่แค่เรื่องการพิจารณาเทคโนโลยีที่เหมาะสม แต่เป็นเรื่องการกำกับให้เอกชนดำเนินการตามที่นำเสนอหรือที่กำหนดไว้ในสัญญา

ถึงวันนี้ ผลกระทบที่เกิดกับชุมชนรอบเตาเผาแสดงให้เห็นแล้วว่า การเดินระบบเตาเผาแห่งนี้ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เทศบาลและเอกชนได้นำเสนอต่อสาธารณะก่อนลงมือก่อสร้าง เราไม่รู้ว่าเอกชนได้ลงทุนก่อสร้างตามแบบที่เสนอต่อเทศบาลหรือไม่ และเราไม่รู้ว่าเตาเผานี้คือเตาเผาแบบ Gasification Ash Melting จริงหรือไม่

นี่คือปัญหาการเตรียมความพร้อมของท้องถิ่นที่ต้องกำกับดูแล เมื่อต้องการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์