"อาหารเน่า" แชมป์เรื่องร้องเรียนซุปเปอร์มาร์เก็ต ‘อ็อกแฟม’ เปิดผลธรรมาภิบาลค้าปลีกไทย มี.ค.นี้ (10 ม.ค. 61)

Green News TV 10 มกราคม 2561
‘อาหารเน่า’ แชมป์เรื่องร้องเรียนซุปเปอร์มาร์เก็ต ‘อ็อกแฟม’ เปิดผลธรรมาภิบาลค้าปลีกไทย มี.ค.นี้ 

วงเสวนาเผยสถิติร้องเรียนปัญหาซุปเปอร์มาร์เก็ตปี 2560 ระบุ ปัญหาที่ผู้บริโภคพบมากที่สุดคือเรื่อง อาหาร

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยในงานเสวนา “มนุษย์ซุปเปอร์ (มาร์เก็ต)” จัดโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก ร่วมกับองค์การอ็อกแฟมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2561 ตอนหนึ่งว่า จากสถิติในรอบปี 2560 พบว่ามีเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับซุปเปอร์มาร์เก็ตโดยตรงทั้งสิ้น 60 เรื่อง ประเด็นที่มีการร้องเรียนมากที่สุด เช่น อาหารหมดอายุ อาหารขึ้นรา อาหารเสีย อาหารไม่สะอาด มีแมลงสาบ

น.ส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก กล่าวว่า สำหรับซุปเปอร์มาร์เก็ตและบริษัทค้าปลีกอาหารชั้นนำทั่วประเทศ ทั้งขนาดใหญ่และเล็กมีอยู่ประมาณ 2 หมื่นร้าน คิดเป็น 70% ของส่วนแบ่งการตลาด ขณะที่ผู้ประกอบการค้าขายดั้งเดิมมีประมาณ 8 แสนร้าน แต่คิดเป็น 30% ของส่วนแบ่งการตลาดเท่านั้น นั่นหมายความว่าบริษัทค้าปลีกได้เงินไปจำนวนมาก และความรับผิดชอบควรมีมากขึ้นเช่นกัน

น.ส.กิ่งกร กล่าวว่า แม้ว่าสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตจะมีทั้งส่วนที่นำมาขายเอง และพื้นที่เช่า หรือฝากขาย แต่เมื่อเกิดปัญหาซุปเปอร์มาร์เก็ตจะต้องมีส่วนรับผิดชอบโดยตรง ที่ผ่านมาพบว่าแต่ละห้างมีความกระตือรือร้นในการปัญหาไม่เท่ากัน บางส่วนค่อนข้างกระตือรือร้น บางส่วนไม่สนใจแก้ไขอะไรสักเท่าไร

นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานด้านนโยบายและรณรงค์ องค์การอ็อกแฟมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จะมีการเปิดตัวรายงานการประเมินความโปร่งใสและความรับผิดชอบของบริษัทค้าปลีกไทย ซึ่งเป็นการประเมินภาคเอกชนรายสำคัญในธุรกิจค้าปลีกอาหารสดของไทย จำนวน 8 ราย ในวันที่ 13 มี.ค.2561

ทั้งนี้ กรอบการประเมินดังกล่าวจะครอบคลุมใน 4 มิติสำคัญ ประกอบด้วย ด้านความโปร่งใสและความรับผิดชอบของบรรษัทต่อสาธารณะ ด้านการเคารพสิทธิแรงงาน ด้านการส่งเสริมผู้ผลิตรายย่อย และด้านการสนับสนุนบทบาทและสิทธิสตรี

“ทุกวันนี้ร้านค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ หรือซุปเปอร์มาร์เก็ต กลายเป็นสิ่งที่คนเมืองห่างไม่ได้ ซึ่งธุรกิจโมเดิร์นเทรดมีมูลค่ารวมสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท นับเป็น 15% ของจีดีพีประเทศ อันดับสองรองจากอุตสาหกรรม ดังนั้นร้านค้าปลีกจึงไม่ได้กำหนดแค่วิถีชีวิต แต่ยังมีส่วนกำหนดเศรษฐกิจของประเทศ เป็นภาคธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับผู้คนในหลากหลายมิติ หลากหลายอาชีพ” นายจักรชัย กล่าว