ทุบ "กฟผ. – ปตท." คสช. ขอเวลาอีกไม่นาน ทุนพลังงานรอรับได้เลย! (13 ม.ค. 61)
MGR Online 13 มกราคม 2561
ทุบ “กฟผ. – ปตท.” คสช. ขอเวลาอีกไม่นาน ทุนพลังงานรอรับได้เลย!
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - งานยากที่รัฐบาลพลเรือนทำไม่ได้ ขอให้อดใจรออีกนิดรัฐบาลทหารพร้อมจัดให้ นั่นก็คือ การแปรรูปแบบซ่อนรูปรัฐวิสาหกิจพลังงานยักษ์ใหญ่ของชาติ ทั้ง “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ.ปตท.” ที่ขอซอยย่อยแตกไปเป็นเอกชนอีกครั้ง ภายใต้นโยบายเปิดเสรีพลังงาน คราวนี้รัฐบาล คสช. เลือกจังหวะที่ กฟผ.ต้นทุนทางสังคมต่ำลงหลังออกศึกรบกับมวลชนค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยไม่ฟังเสียงเตือนหากดันทุรังระวังจะพังเอาง่ายๆ
ส่วน “มือดี” ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งเข้ามาจัดการย่อยสลายแบบให้เนียนกิ๊ก คือ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน คนใหม่ล่าสุด ผู้ซึ่งสร้างภาพพจน์ดีมีศีลธรรมสูงส่งขนาดออกโรงปรามห้ามรับของขวัญราคาเกิน 3 พันบาท เป็นครั้งแรกของกระทรวงพลังงานกันเลยทีเดียว แต่ถ้าหากขุดโปรไฟล์กันแล้ว ดร.ศิริ ก็หาใช่อื่นไกล คนกันเองในกลุ่มก๊วนขาใหญ่ด้านกิจการพลังงานของประเทศที่ชำเลืองแลไปทางไหนก็เพื่อนพ้องน้องพี่ลูกศิษย์ลูกหากันทั้งนั้น โดยมีผลงานวางรากฐานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศเป็นเครื่องการันตีในดีกรีและฝีมือระดับปรมาจารย์
ความจริง ถ้าจะว่าไปแล้ว เรื่องการแปรรูปแบบซ่อนรูป กฟผ. กับ ปตท.ที่มีใครบางคนตั้งใจปล่อยให้รั่วออกมาในเวลานี้ อันที่จริงเป็นแผนที่มีการวางกันเอาไว้แบบยาวๆ มาก่อนหน้านี้แล้ว ดังจะเห็นได้ตั้งแต่ระดับนโยบายภาครัฐที่รัฐบาล คสช. ชูธงนำต้องการเปิดเสรีธุรกิจด้านพลังงานเต็มรูปแบบโดยรับไม้ผลัดที่ส่งต่อกันมาจากรัฐบาลก่อนๆ คราวนี้มาพร้อมกับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สอดรับกับนโยบาย
โดยร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหมายรวมถึงรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานด้วยนั้น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้ มีอยู่ 3 ร่าง คือ ร่าง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ... , ร่าง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... หรือเรียกกันว่า “ร่างกฎหมายซูเปอร์โฮลดิ้ง” ซึ่งต่างต้องการลดทอนความเป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลถือหุ้นใหญ่ลงไป และให้บริษัทลูกหลานที่แตกตัวออกไปกลายเป็นเอกชนเต็มตัว
กล่าวในส่วนของ บมจ.ปตท.นั้น จะเห็นความพยายามในการแยกธุรกิจที่ทำเงิน ทำกำไรออกไปตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยแผนการจะแตกออกไปตั้ง บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด หรือ PTTOR (PTT Oil And Retail Business Company Limited) ตามที่บอร์ด ปตท. อนุมัติ โดย ปตท.จะมีการเคลื่อนย้ายถ่ายโอนสินทรัพย์มากกว่า 120,000 ล้านบาท ไปยังบริษัทใหม่ดังกล่าว และที่สำคัญก็คือ บริษัท PTTOR จะมีสถานะเป็นบริษัทเอกชนเต็มตัวโดยวางแผนพร้อมที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯในช่วงต้นปี 2561
แต่อย่างไรก็ตาม แผนของ บมจ.ปตท.ในเรื่องดังกล่าวยังค้างเติ่ง เพราะสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วงและกังวลใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ ความมั่นคงทางพลังงาน สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่อาจถูกโอนย้ายไป และสัดส่วนการถือหุ้นที่ สตง.ต้องการให้ ปตท.ถือหุ้นเกินกว่า 50% ในบริษัท PTTOR แต่ ปตท. ยืนยันไม่มีความจำเป็น ขณะที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ฟังคำทักท้วงของ สตง. ทำให้การโอนทรัพย์สินธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกไปยัง PTTOR เลื่อนออกไปเป็นปี 2561 จากเดิมที่คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในเดือน ธ.ค. 2560 และยังไม่รู้ด้วยว่าจะสำเร็จเมื่อไหร่ ขอให้อดใจรอต่อไปคงอีกไม่นาน
ขณะที่เรื่องท่อก๊าซฯ ที่ยังถกเถียงกันเรื่อง “คืนครบ” หรือ “คืนไม่ครบ” นั้นก็ยังเป็นประเด็นคาราคาซัง และพ่วงไปถึงกรณีการเปิดให้ บุคคลที่ 3 (Third Party Access) เข้าใช้ประโยชน์ท่อก๊าซฯ เนื่องจากเวลานี้ มีเพียง ปตท.ได้รับสิทธิให้ใช้ประโยชน์เพียงรายเดียวจนถูกครหาว่าผูกขาดธุรกิจก๊าซฯ ของประเทศเอาไว้ในมือ
กระนั้นก็ดี หากพิจารณาแนวนโยบายการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซฯ ของรัฐบาล คสช. ซึ่งจะว่าไปก็รับไม้ต่อมาจากรัฐบาลก่อนๆ นั้น ขอให้ย้อนกลับไปดูมติที่ประชุม กพช. ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (กพช.) นั่งเป็นประธาน เมื่อเดือน ก.ค. 2560 ที่มีมติเห็นชอบในหลักการและแนวทางการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติทั้งระบบ โดยให้ดำเนินโครงการนำร่อง ระยะที่ 1 เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดแข่งขันเสรีเต็มรูปแบบในอนาคต โดยให้ กฟผ. เป็นผู้จัดการก๊าซแอลเอ็นจีรายใหม่ จากเดิมที่มีแต่ ปตท. เพียงรายเดียว ในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี เริ่มจัดหาภายในปี 2561 ใช้หลักเกณฑ์การนำเข้าเช่นเดียวกับ ปตท. และให้ กฟผ. แยกธุรกิจการจัดหาและจำหน่ายก๊าซออกจากกิจการผลิตไฟฟ้าให้เกิดความชัดเจน
ขณะเดียวกัน กพช. ยังกำหนดให้ ปตท. แยกธุรกิจท่อส่งก๊าซทางบัญชีออกจากระบบจัดหาและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้บริหารระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (Transmission System Operator หรือ TSO) ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ. ทั้งนี้ ให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) บริหารนโยบายการจัดหาก๊าซธรรมชาติ รวมถึงติดตามอุปสงค์และอุปทานของก๊าซ LNG ให้มีความเหมาะสม
พร้อมกับเห็นชอบแนวทางการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG เต็มรูปแบบ ตามที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)ได้มีมติวางแนวทางไว้ เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2560 โดยให้ยกเลิกการกำหนดราคาโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน และโรงอะโรเมติกส์ ยกเลิกการประกาศราคาขายส่ง ณ คลังก๊าซ เพื่อให้ตลาดก๊าซ LPG มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ โดยให้ สนพ. และกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ติดตามและรายงานเฉพาะราคาอ้างอิงเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำกับดูแลราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศ พร้อมมีกลไกการติดตามสถานการณ์ราคาอ้างอิงการนำเข้าก๊าซ LPG และต้นทุนโรงแยกก๊าซอย่างใกล้ชิดเป็นรายเดือน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค. 2560 เป็นต้นไป พร้อมเห็นชอบให้ ปตท. สามารถดำเนินธุรกิจคลังก๊าซภายใต้โครงการ LPG Integrated Facility Enhancement (โครงการ LIFE) ในเชิงพาณิชย์ได้
นั่นเป็นภาพใหญ่ที่รัฐบาล คสช. เปิดไฟเขียวให้เดินหน้าไปสู่การเปิดเสรีเต็มรูปแบบในธุรกิจก๊าซฯ ซึ่งจะมีระยะที่ 2และระยะที่ 3 ตามมาอีก
ขณะที่ในส่วนของ กฟผ.นั้น ต้องบอกว่าหลังจากรัฐบาลทักษิณ อกหักจากการแปรรูป กฟผ. แบบทางตรง ก็ใช่ว่า กฟผ. จะไม่ถูกเจาะให้ลดทอนการผูกขาดการผลิตพลังงานไฟฟ้า และจะว่าไป การเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมผลิตไฟฟ้าในรูปของ โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ หรือ ไอพีพี และโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก หรือ เอสพีพี ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำแนกแยกแยะว่าโรงไฟฟ้าเอกชนจะใช้เชื้อเพลิงประเภทไหนเพื่อกระจายความเสี่ยงอย่างที่กล่าวอ้างว่าไม่อยากให้โรงไฟฟ้าพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงซึ่งมีสัดส่วนอยู่มากกว่า 70%
ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงเห็นไอพีพี ใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงเกิดขึ้นจนล้นเกินความต้องการ ดูจากสำรองไฟฟ้าที่เกินมาตรฐานอย่างล้นเหลือ โดยรัฐบาลรับประกันผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างงดงามอีกต่างหาก เรียกได้ว่าเป็นสัญญาการลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยงใดๆ ขอให้ช่วงชิงสัมปทานมาได้รับรองไม่มีวันเจ๊ง
ขณะที่โรงไฟฟ้าเอกชนที่ใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงเกิดขึ้นอย่างไร้ข้อจำกัด รัฐบาลได้โยนโจทย์หินที่เป็นไปได้ยากมากๆ ให้กับ กฟผ. โดยผลักให้ กฟผ.รับผิดชอบในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน หรือไม่งั้นก็ไปโน่นถึงนิวเคลียร์กันเลยทีเดียว โดยที่รู้ๆ กันว่า โอกาสที่จะเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นยากยิ่ง ส่วนนิวเคลียร์นั่นปิดประตูตายได้เลย
เมื่อ กฟผ. สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ไม่ได้ สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่ กฟผ.ถือครองได้ลดต่ำลงเรื่อยๆ ไม่ต้องพูดถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ เพราะเมืองไทยไม่สามารถสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้มาตั้งนานแล้วที่มีอยู่ก็ซื้อมาจากประเทศเพื่อนบ้านที่บริษัทเอกชนไทยเข้าไปลงทุน
นอกจากนั้น พลังงานแห่งอนาคต เช่น โซลาเซลล์ ชีวมวล กำลังมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไหนจะโรงไฟฟ้าจากขยะที่มหาดไทยกำลังเป็นตัวตั้งตัวตีอีก ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ลดทอนบทบาทในการผลิตไฟฟ้าแบบโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของ กฟผ. ทั้งสิ้น
และยังไปไกลถึงขนาดที่ว่ามีการเตรียมส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ มาตรา 56 ที่ระบุว่า โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่า 50% มิได้นั้น หากจะต้องมีการลดสัดส่วนดังกล่าวลงเพื่อเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจไฟฟ้ามากขึ้นจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
กระแสข่าวร้อนข้างต้น ทำให้ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2561 ถึงกรณีมีการเผยแพร่เอกสารที่แจกในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2560 เกี่ยวกับแนวทางบริหารจัดการด้านพลังงานว่า ได้ส่งเอกสารดังกล่าวไปให้ กฟผ. และ บมจ.ปตท. ไปศึกษาและพิจารณาแล้วโดยย้ำเป้าหมายที่จะทำให้ราคาพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าต่ำลง จากแผนเดิมเฉลี่ยค่าไฟปลายปี 2579 จะอยู่ที่ 5.55 บาทต่อหน่วย ขณะที่ปัจจุบันที่ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ระดับ 3.60 บาทต่อหน่วย ซึ่งควรจะทบทวนให้ลดลง โดยให้ส่งแผนภายในไม่เกิน 31 มี.ค.2561 เพื่อนำไปประกอบกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ใหม่
สำหรับสายส่งไฟฟ้า นายศิริ ยืนยันว่า ยังคงเป็นของ กฟผ. เช่นเดียวกับท่อก๊าซฯ ก็ยังคงเป็นของ ปตท. ซึ่งเป็นของรัฐเพื่อความมั่นคง แต่จะมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เข้ามาดูแลกติกาที่จะเปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้บริการได้ เพื่อก่อให้เกิดการแข่งขัน โดยในส่วนของการผลิตไฟฟ้านั้น ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขันเสนอขายไฟฟ้าอยู่แล้ว ทั้งรายเล็กและผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) โดยแผนพีดีพีใหม่ จะศึกษาถึงการผลิตไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นต้องกำหนดโควตาว่าใครจะผลิตไฟเท่าใด หากแต่จะมุ่งเน้นการแข่งขันเพื่อให้ค่าไฟฟ้าต่ำลงมากกว่า หมายถึง กฟผ. ก็ต้องแข่งขันราคาด้วยบนกติกาที่เท่าเทียมกัน
“กรณีที่ กฟผ. เสนอทำพลังงานทดแทน 2,000 เมกะวัตต์ ความเห็นของผมไม่ควรกำหนดโควตาใดๆ แต่ใครทำได้ราคาต่ำก็ได้ไปเลย โดยวิธีเปิดประมูล และไม่เห็นด้วยว่าควรจะกำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนในพีดีพีว่าควรจะเป็นอย่างไร เพราะอนาคตเทคโนโลยีเปลี่ยนไปและจะมีการเปิดเสรีโซลาร์รูฟท็อปอยู่แล้ว ซึ่งการเปิดเสรีโซลาร์รูฟท็อปนี้ จะมีความชัดเจนในกลางปีนี้ ส่วนโครงการรับซื้อไฟจากVSPP Semi Firm ก็ต้องรอพีดีพีใหม่ก่อน” นายศิริอธิบาย
ส่วนท่อก๊าซฯ ก็ให้ ปตท. ไปดูในเรื่องของราคาก๊าซฯ และค่าผ่านท่อ เพื่อตอบให้ได้ว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้า จะลงทุนอะไรบ้าง และต้องโปร่งใสว่าเพราะอะไร และต้องส่งเสริมให้เกิดการจัดหาก๊าซ (Supply Gas) ที่มีผู้เล่นมากขึ้น
ขณะเดียวกัน นายพรชัย รุจิประภา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า ร่างปฏิรูปพลังงานที่จัดทำแล้วเสร็จ โดยนอกจากจะมองถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในอนาคต ซึ่งจะทำให้เป็นจุดเปลี่ยนพลังงานที่สำคัญ ทั้ง ปตท. และ กฟผ. ยังคงความเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่จำเป็นต้องปรับบทบาทเพื่อประสิทธิภาพที่ดีขึ้นในอนาคต เช่นเดียวกับการจัดทำพีดีพีต้องปรับใหม่ โดยคำนึงถึงการกระจายแหล่งเชื้อเพลิง
สำหรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากภาครัฐ จะเป็นหนึ่งในประเด็นที่คณะกรรมการปฏิรูปชุดใหญ่ที่ต้องหารือกันว่าควรจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความมาตรา 56 ว่าหมายความว่าอย่างไร และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปประเทศหรือไม่ เนื่องจาก ม.56 ดังกล่าว ระบุว่า โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่า 50% มิได้
หลังการปล่อยข่าวลดบทบาทของ กฟผ. และ ปตท. โดยอ้างว่าเพื่อให้ราคาพลังงานถูกลง มีข้อสังเกตและทักท้วงจาก นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. ตามมา
นายธีระชัย ระบุว่า การลดบทบาทของ กฟผ. และ ปตท. ถ้าไม่ระวังจะเป็นการเปิดช่องเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางรายได้ รัฐวิสาหกิจของไทยได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้ทำเรื่องสาธารณูปโภค ดังนั้น ถ้าใครอยากหากประโยชน์จากกิจการสาธารณูปโภควิธีการหนึ่งคือถ่ายโอนออกมาให้เป็นของเอกชน อย่างกรณีโรงไฟฟ้าที่เปิดให้เอกชนสร้างโดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซฯ แล้วขายไฟให้กฟผ. หลังดำเนินนโยบายนี้มาพบปัญหาว่าเกิดโรงไฟฟ้าเอกชนที่ผลิตไฟโดยใช้ก๊าซฯ มากมาย กำลังสำรองไฟฟ้าเกินไปมากอีกไม่กี่ปีข้างหน้าอาจขึ้นไปถึง 40% จากมาตรฐานสากลอยู่ที่ 15% ทำให้รัฐบาลต้องรับภาระค่าใช้จ่าย เป็นอาการที่แสดงว่าต้องมีบางอย่างที่ผิดพลาด เอกชนถึงรุมกันสร้างโรงไฟฟ้า ต้องมีอะไรจูงใจที่บิดเบือน
นายธีระชัย กล่าวอีกว่า ในความเห็นตน ประเด็นที่ต้องทบทวน ประการแรก ให้เอกชนเอาก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากกว่า กฟผ. สมมติฐานนี้จริงหรือเปล่า เพราะการค้าขายก๊าซในไทยไม่ได้เสรีอย่างแท้จริง เพราะกระบวนการในการขนส่งก๊าซยังใช้ระบบท่อ ซึ่งยังไม่โอนมาเป็นของรัฐ ใช้แหล่งก๊าซเดียวกัน ระบบท่อเดียวกัน จะทำให้เอกชนซื้อก๊าซได้ถูกกว่าจริงหรือ รัฐบาลควรศึกษาและตีแผ่ต่อสาธารณะ
อีกประเด็น หากเรามีรัฐวิสาหกิจไม่ควรให้แข่งกับเอกชนมากเกินไป ควรทำแค่พอตัว รัฐวิสาหกิจของเรารัฐธรรมนูญกำหนดชัดเจนด้วยว่าไม่ควรแข่งขันกับเอกชน แต่ถ้าเปิดให้มีการแข่งขันเสรี หลักมันต้องเป็นแบบนี้ คือเอกชนที่เข้ามาผลิตไฟฟ้าแล้วขาย ต้องทำในเชิงธุรกิจจริงๆ ราคารับซื้อต้องเป็นไปตามสภาวะธุรกิจ สมมติการสำรองสากลอยู่ที่ 15 ของเรามี 10 เป็นรัฐอาจยอมซื้อแพงหน่อย แต่พอมันเพิ่มไป 20 ต้องกดราคาลง เพื่อให้สภาวะตลาดทำงานได้เอง จะค้างราคาเดิมไว้เพื่ออะไร
ประเด็นต่อมา ขบวนการของปริมาณ การประกันผลตอบแทนให้เอกชนจนไม่มีความเสี่ยงเชิงธุรกิจ ทำให้เอกชนใช้วิธีจัดสรรปันส่วนโดยได้โควตา จนไม่มีใครเข้ามาแข่งในโควตานี้ได้ แต่บอกว่าเปิดเสรี คิดว่าสิ่งนี้ทำให้เอกชนเฮกันเข้ามา ไม่รู้มีการวิ่งใต้โต๊ะหรือเปล่า สิ่งที่ควรทำคือยกเลิกโควตาเดิม และเปิดใหม่ให้เป็นเชิงธุรกิจจริงๆ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเอาเอกชนเข้ามาแบบจอมปลอม เข้ามาแบ่งเค้กกันสบาย
นายธีระชัย ยังเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ทบทวนการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพลังงานของรัฐ โดยขอให้ทบทวนการให้เอกชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ, ทบทวนการหยุดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใหม่, ทบทวนข้อเสนอให้ กฟผ. แยกระบบสายส่งไฟฟ้า และขอให้เผยแพร่เงื่อนไขการประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณให้ประชาชนอย่างเต็มที่อีกด้วย
นอกจากนั้น ยังโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแฟนเพจ Thirachai Phuvanatnaranubala ในหัวข้อ “หลักการที่เลือนลาง” แสดงความเห็นต่อกรณีที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2560 มีการเสนอนโยบายเรื่องพลังงาน ลดบทบาทของ กฟผ. และ ปตท. เพื่อให้เอกชนดำเนินงานบางอย่างแทนว่าเรื่องนี้ใหญ่มาก เป็นเรื่องของผลประโยชน์เงินทองเต็มๆ เพราะหลายกิจกรรมของทั้ง กฟผ. และ ปตท. ตั้งอยู่บนพื้นฐานสิทธิผูกขาดซึ่งเกิดจากอำนาจมหาชนของรัฐ ถ้าหากทำโครงการเหล่านี้ได้ถูกต้อง ประเทศชาติจะได้ประโยชน์อย่างมาก เพราะจะขีดเส้นจำกัดขอบเขตรัฐวิสาหกิจอย่างเหมาะสม และเปิดให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการในกิจกรรมบางอย่างที่มีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ถ้าหากทำไม่ถูกต้อง จะเปิดช่องให้เอกชนบางรายสามารถเข้ามาหาประโยชน์ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งผู้ที่จะต้องรับเคราะห์ก็หนีไม่พ้นที่จะเป็นประชาชน
“เนื่องจากโครงการเหล่านี้ ถ้าแม้นเอียงไปเอียงมาแต่เพียงไม่กี่องศา ก็สามารถจะนำเงินสู่กระเป๋าบุคคลต่างๆ ได้อย่างมหาศาล ประกอบกับยุครัฐบาล คสช.เป็นห้วงเวลาพิเศษที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยมีนายทุนระดับชาติ นายแบงก์ โบรกเกอร์ มาชุมนุมกัน ช่วยกำหนดนโยบายต่างๆ ที่จะกลายเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติผูกมัดรุ่นลูกรุ่นหลานไปถึง 20 ปี ดังนั้น ถ้าไม่ตั้งหลักการที่เป็นธรรมแก่ประเทศชาติ ก็อาจจะเกิดกรณีที่มีเอกชนบางคนบางกลุ่มฉกฉวยเอาสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือเอกสิทธิของประชาชน ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนของคนเฉพาะกลุ่มเกิดขึ้นได้ ซึ่งเราเคยเห็นมาแล้วในอดีต ซึ่งแม้นว่าภาคประชาชนจะต่อสู้ผ่านศาลปกครองมายาวนาน ก็ยังไม่สามารถแก้ไขในสิ่งที่ผิดได้เลย"
ด้าน น.ส.รสนา ตั้งคำถามว่ารัฐบาลจะแปรรูป กฟผ. ด้วยวิธีล้วงไส้ เอกชนที่เข้ามาอ้างว่าประมูล พอได้สัญญาขายไฟให้ กฟผ. ก็กลายเป็นเสือนอนกินเลย 25 ปี ประเด็นคือ ถ้าช่วงนั้นความต้องการไฟฟ้าลดลง ก็เจอปัญหาที่ว่าใช้หลัก Take or Pay คือ เอกชนผลิต กฟผ. ใช้หรือไม่ใช้ไม่รู้แต่ต้องจ่ายเงินให้เอกชน อย่างสัญญา 1,000 เมกะวัตต์ ผลิตได้ 800 เมะวัตต์ กฟผ. ก็ต้องซื้อ 800 เมกะวัตต์ ทั้งๆ ที่ต้องการใช้แค่ 500 เมกะวัตต์ กฟผ. ก็ต้องลดการผลิตตัวเองลงเพื่อซื้อเอกชน
“... จึงมีคำล่ำลือว่าเมกะวัตต์ละล้าน จะมีใบอนุญาตขายไฟให้ กฟผ. ต้องจ่ายเงินให้ผู้มีอำนาจ พอได้สัญญาก็เอาเข้าตลาดหุ้น หุ้นขึ้นแน่นอน เพราะไม่มีความเสี่ยงเลย การผลิตไฟและขายซึ่งใครๆ ก็ต้องใช้ ไม่มีความเสี่ยงเลย แต่ถ้าให้ผลิตแล้วเสนอขายขายในราคาต่ำสุด มีประสิทธิภาพสุดแล้วรัฐจะซื้อ แต่เปล่าเลย นี่ผลักภาระมาให้ประชาชนทั้งหมด...”
รัฐบาล คสช.กำลังจารึกประวัติศาสตร์ แปรรูปแบบซ่อนรูป ปตท. ภาคสอง และย่อยสลาย กฟผ. ขอเวลาอีกไม่นาน ขอคืนความสุขให้ทุนพลังงาน ส่วนประชาชนก็รับเคราะห์กันไป....ใช่หรือไม่