กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำ "ลำเซบาย" จ.ยโสธร ยื่นหนังสือค้านโรงงานน้ำตาล+โรงไฟฟ้าชีวมวล (14 ม.ค. 61)
ประชาไท 14 มกราคม 2561
กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำลำเซบาย จ.ยโสธร ยื่นหนังสือค้านโรงงานน้ำตาล+โรงไฟฟ้าชีวมวล
ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำลำเซบายตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธรกว่า 400 คนเข้ายื่นหนังสือในเวทีประชุมชี้แจงการเปลี่ยนแปลงผังโครงการและผันน้ำจากลำเซบายของโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทมิตรผลอำนาจเจริญ
14 ม.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำลำเซบายตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร และตำบลน้ำปลีก อำเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ กว่า 400 คนเดินทางเข้ายื่นหนังสือคัดค้านต่อผู้อำนวยการโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ในเวทีประชุมชี้แจงการเปลี่ยนแปลงผังโครงการและการผันน้ำจากลำเซบาย บริเวณศาลากลางบ้านเซ ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทางบริษัทได้จัดเวทีขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมาจนถึงวันที่15 ม.ค. โดยวันที่13ได้จัดเวทีที่บริเวณศาลาบือบ้านน้ำปลีก ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ส่วนในวันนี้(14 ม.ค.) ได้จัดที่บริเวณศาลากลางบ้านเซ ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ส่วนวันที่15 ม.ค. จะจัดขึ้นที่บ้านนาหมอม้า ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมือง ขังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ
มาลิจิตร เอกตาแสง ชาวบ้านเชียงเพ็งกล่าวว่า ตามที่ บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และบริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์(อำนาจเจริญ) จำกัด ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตน้ำตาลทรายดิบและพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล มีแผนงานในการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ณ พื้นที่ตำบลน้ำปลีก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ซึ่งทางโครงการได้ชี้แจงผังของโครงการและกระบวนการในการจัดการต่างๆ ของโครงการทั้งหมดให้ประชาชนในพื้นที่ ส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้เสียและผู้ที่สนใจรับฟังไปแล้วในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งทุกกระบวนการชาวบ้านได้ทำหนังสือคัดค้านทุกครั้ง เนื่องจากทางโครงการไม่มีการให้ข้อมูลรายละเอียดโครงการ ข้อดี ข้อเสีย รวมทั้งข้อมูลไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและความเป็นจริงของพื้นที่ที่จะจัดตั้งโครงการ ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธรได้ติดตามกระบวนการต่างๆขอโครงการมาโดยตลอด ทางกลุ่มเห็นว่าปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนของโครงการที่จะดำเนินการในพื้นที่ รวมถึงกระบวนการขั้นตอนทั้งหมดของโครงการที่จะมาดำเนินการในพื้นที่และสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมในกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ไม่ถูกต้อง
จิราพร แก้วดี ชาวบ้านน้ำปลีกกล่าวว่า แม้แต่ในมติ คจก.ที่ผ่านของโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานน้ำตาลก็มีมติให้ไม่ผ่านทั้งสองโรง ใส่ชื่ออำเภอจังหวัดก็ผิด เช่นอำเภอป่าติ้ว จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งอำเภอป่าติ้วขึ้นต่อจังหวัดยโสธร และข้อผิดพลาดหลายอย่าง ชาวบ้านจึงเกิดข้อสงสัยว่ารายงาน eia ของบริษัทมีอะไรเป็นความจริงบ้าง
0000000000
ที่ 01/2561
กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย
81 หมู่ที่ 1 ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร 35150
14 มกราคม 2561
เรื่อง คัดค้านกระบวนการชี้แจงการเปลี่ยนแปลงผังโครงการและรูปแบบการผันน้ำ/ใช้น้ำจากลำเซบาย
โครงการโรงผลิตน้ำตาลทรายของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของ
บริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์(อำนาจเจริญ) จำกัด
เรียน ผู้อำนวยการบริหารโครงการ
ตามที่ บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และบริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์(อำนาจเจริญ) จำกัด ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตน้ำตาลทรายดิบและพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล มีแผนงานในการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ณ พื้นที่ตำบลน้ำปลีก อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ ซึ่งทางโครงการได้ชี้แจงผังของโครงการและกระบวนการในการจัดการต่างๆ ของโครงการทั้งหมดให้ประชาชนในพื้นที่ ส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้เสียและผู้ที่สนใจรับฟังไปแล้วในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งทุกกระบวนการชาวบ้านได้ทำหนังสือคัดค้านทุกครั้ง เนื่องจากทางโครงการไม่มีการให้ข้อมูลรายละเอียดโครงการ ข้อดี ข้อเสีย รวมทั้งข้อมูลไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและความเป็นจริงของพื้นที่ที่จะจัดตั้งโครงการ
ดังนั้นกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ซึ่งได้ติดตามกระบวนการต่างๆขอโครงการมาโดยตลอด ทางกลุ่มเห็นว่าปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนของโครงการที่จะดำเนินการในพื้นที่ รวมถึงกระบวนการขั้นตอนทั้งหมดของโครงการที่จะมาดำเนินการในพื้นที่และสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมในกระบวนการขั้นตอนต่างๆไม่ถูกต้อง ฉะนั้นทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย
ขอคัดค้านการจัดเวทีรับฟังการชี้แจงและจะไม่เข้าร่วมเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่บริษัทฯ
และจากรายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ได้พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทราย ที่โครงการยังไม่สามารถอธิบายได้หลายประเด็น ดังนี้
1. พื้นที่ตั้งไม่เหมาะสม ใกล้ชุมชน เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทับลำห้วยสาธารณะ ที่ตั้งโครงการใกล้ถนนที่ชุมชนใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ที่ตั้งโครงการต้องไม่ขัดกับผังเมือง
2. พื้นที่ตั้งโครงการทับลำห้วยสาธารณะ
3. ขัดแย้งต่อทิศทางและนโยบายของการพัฒนาจังหวัดอำนาจเจริญ
4. ความไม่น่าเชื่อถือของรายงานฯ EIA ฉบับเดือนมิถุนายน 2560
5. ความไม่ชอบธรรมของกระบวนการจัดทำ EIA และความไม่น่าเชื่อถือของบริษัทผู้จัดทำ EIA
6. การใช้น้ำจากลำเซบาย มีการใช้น้ำแหล่งเดียวกับชาวบ้าน ซึ่งปริมาณน้ำลำเซบายไม่เพียงพอต่อกิจกรรมของชาวบ้าน และสถานการณ์น้ำไม่แน่นอนในแต่ละปี ขาดรายละเอียดการใช้น้ำของชุมชนโดยรอบ
ทำให้ชาวบ้านตระหนักดีว่า น้ำเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต ขาดน้ำชาวบ้านอยู่ไม่ได้ และทรัพยากรน้ำก็มีอยู่อย่างจำกัดและไม่เพียงพอต่อการใช้อุปโภคบริโภคของประชาชนตลอดสายน้ำลำเซบาย เช่น กรณีในเขตตำบลเชียงเพ็ง มีการใช้น้ำในภาคเกษตรกรรม ปศุสัตว์ ประมง การประปาตลอดทั้งปี หรืออาชีพอื่นๆ ของคนในชุมชน และผู้นำฝ่ายปกครองท้องถิ่นก็ทราบดีมาโดยตลอดในปัญหาน้ำไม่เพียงพอ และเกิดการบริหารจัดการน้ำร่วมกันมาโดยที่เป็นลายลักษณ์อักษรคือ บันทึกข้อตกลงร่วมกันในบริหารจัดการน้ำภาครัฐและประชาชนในท้องที่เพื่อการป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำไม่เพียงพอ ซึ่งการแก้ปัญหาใดๆ เรื่องน้ำในอนาคต ควรมีการรับฟังและมีกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนพื้นที่นั้นๆ ให้ร่วมตัดสินใจด้วย เพราะการดำเนินการก่อสร้าง/ดำเนินการเกี่ยวกับน้ำ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบทางระบบนิเวศตลอดสายน้ำ ต้องมีการมีการมีส่วนร่วมตัดสินใจจากประชาชนพื้นที่ก่อนเสนอโครงการ หากชาวบ้านเห็นชอบจึงมีการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมตามลำดับ เป็นการแก้ปัญหาแบบบูรณาการและเป็นการวางรากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน
โดยทั่วไป โครงการอุตสาหกรรมประเภทนี้มีการใช้น้ำในปริมาณมากต่อวัน และต้องมีบ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อประกอบธุรกิจ ในโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท มิตรผลไบโอ พาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด นี้ก็เช่นเดียวกัน แม้โครงการจะมีมาตรการเพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำของโรงงานอย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่มาตรการป้องกันปัญหาให้ชุมชนแต่อย่างไร กลับเป็นการเพิ่มจำนวนผู้ใช้น้ำรายใหม่(ใช้น้ำปริมาณมาก) กลับเป็นการเพิ่มปัญหาน้ำไม่เพียงพอ ทำให้ไม่เชื่อมั่นว่าการขอใช้น้ำของโครงการฯนี้ จะไม่เกิดผลกระทบตามต่อชาวบ้าน สมมุติหากโครงการโรงงานอุตสาหกรรมได้ตั้งในอนาคต ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมมีน้ำใช้เพียงพอ แต่ชาวบ้านโดยรอบมีปัญหาน้ำไม่เพียงพอ ยังจะก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น อีกทั้งมีร่าง พรบ.น้ำ ฉบับปี 2560 ที่มีการกำหนดระเบียบการใช้น้ำ ให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถทำการขุดบ่อน้ำขนาดใหญ่ผันน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะสำหรับใช้ในกิจการโรงงานอุตสาหกรรมได้ ยิ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น และเป็นการตีค่าทรัพยากรน้ำให้ด้อยคุณค่าเหลือเพียงปัจจัยการผลิตในเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น
โดยกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง เล็งเห็นว่า “น้ำคือชีวิต” น้ำเป็นปัจจัยต้นทุนของวิถีชีวิต อันหมายถึงคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน เพราะชาวบ้านที่พึ่งพิงลำน้ำแห่งนี้ดำรงชีพทำมาหากิน และลำเซบายเปรียบเสมือนสายเลือดที่หล่อเลี้ยงทุกคนในชุมชนตลอดสายน้ำ ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำลำเซบาย ต.เชียงเพ็ง จึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีการอนุญาตให้ใช้น้ำ/ผันน้ำ/สูบน้ำ จากลำเซบาย แก่ โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท มิตรผลไบโอ พาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด เพราะส่งผลกระทบต่อวงจรการพัฒนาทางสังคมเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ตลอดจนระบบนิเวศแวดทางสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ชาวบ้านไม่ยินยอมให้โรงงานอุตสาหกรรมดังกล่าวข้างต้นใช้น้ำจากลำเซบายโดยเด็ดขาด และคัดค้านที่จะมีโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ตำบลน้ำปลีก
7. คัดค้านกระบวนการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความเข้าใจกับเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชุมชนในโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายและโรงไฟฟ้าชีวมวล
8. ประเด็นความแตกแยกในชุมชน
9. ผลกระทบจากการปลูกอ้อยที่มีต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม
10. แรงน้ำใช้และความพอเพียงของน้ำดิบมีข้อขัดแย้งกับเกษตรกรที่ใช้น้ำ
11. ไม่ได้ศึกษาเส้นทางจราจรทั้ง 4 เส้นทางให้ครอบคลุม เนื่องจากเป็นถนน 2 เลนหลักและมีการใช้สัญจรร่วมตั้งแต่เช้าจรดเย็นมีรถรับส่งนักเรียนมีชุมชนทั้งอยู่ริมทางมีทางแยกทางโค้งส่งผลกระทบต่อผู้ใช้เส้นทางเพราะว่ารถขนส่งอ้อยต้องผ่านเส้นทางมาจากป่าติ้วน้ำปลีกเส้นมาจากนาหมอม้าน้ำปลีกเส้นมาจากหัวตะพานน้ำปลีกและเส้นมาจากอำนาจเจริญน้ำปลีกทั้ง 4 เส้นทางจึงเป็นเส้นทางที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นเส้นทางในการบรรทุกอ้อยเพราะจะส่งผลทำให้เกิดการสัญจรติดขัดในช่วงเวลาเร่งรีบการตกหล่นของอ้อยระหว่างการขนส่งการติดขัดของการจราจรและอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้นรถบรรทุกอ้อยบดบังสายตาและทิวทัศน์ในการมองถนนก่อให้เกิดเสียงดังรบกวนเมื่อลดผ่านชุมชนสถานศึกษาสถานที่ราชการ
12. เอกสารแสดงรายละเอียดกิจกรรมกลุ่มรักบ้านเกิดและเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำลำเซบายเช่นการขอขึ้นทะเบียนป่าชุมชนและแนวทางการอนุรักษ์ป่าจากชมรมฮักแพงป่ากิจกรรมให้ความรู้เรื่องผลกระทบจากโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลการประชุมกลุ่มข้าวและกลุ่มอนุรักษ์สายน้ำเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรของท้องถิ่นเพื่อให้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของชุมชนอย่างยั่งยืนเป็นต้น
จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่ากระบวนการต่างๆที่เกิดขึ้นผ่านมาแล้วและที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 มกราคม 2561 นั้นเป็นเวทีที่จัดขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่บริษัทเท่านั้น และขัดต่อหลักการการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ตำบลเชียงพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร จึงขอคัดค้านกระบวนการชี้แจงการเปลี่ยนแปลงผังโครงการและรูปแบบการผันน้ำ/ใช้น้ำจากลำเซบาย โครงการโรงผลิตน้ำตาลทรายของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของ บริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์(อำนาจเจริญ) จำกัด ในครั้งนี้
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
ขอแสดงความนับถือ
(นายสมัย คดเกี้ยว)
กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร
(นางมะลิจิตร เอกสาแตง)
กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร
(นางสาวนวพร เนินทราย)
กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร
(นายสิริศักดิ์ สะดวก)
ผู้ประสานงานเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน