ชวนดูความร่วมมือ ‘แม่โขง-ล้านช้าง’ กับความพยายามคุมเกมบนแม่น้ำโขงของจีน (14 ม.ค. 61)
ประชาไท 14 มกราคม 2561
ชวนดูความร่วมมือ ‘แม่โขง-ล้านช้าง’ กับความพยายามคุมเกมบนแม่น้ำโขงของจีน
ภาพการเดินเรือในแม่น้ำโขง
ผู้เชี่ยวชาญชี้ จีนมุ่งใช้เวทีพหุภาคีขยายอิทธิพลทางการเมือง เศรษฐกิจลงมายังอาเซียนลุ่มน้ำโขง เบนโฟกัสจากทะเลจีนใต้ สร้างความชอบธรรมให้กับโครงการที่ใหญ่กว่าและการสร้างเขื่อนในจีน ผู้ประสานงานองค์การแม่น้ำนานาชาติจากไทยระบุ ต้องเน้นการมีส่วนร่วม ศึกษาปัญหาแม่น้ำโขงทั้งเส้น
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา มีการประชุมผู้นำประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ภายใต้กรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (LMC บ้างก็เรียก แม่โขง-ล้านช้างหรือ MLC) ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยมีผู้นำจาก 6 ชาติได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีน
บรรดาผู้นำชาติสมาชิกได้ออกแถลงการณ์พนมเปญและแผนปฏิบัติการ 5 ปี LMC ปี 2561-2565 ด้วยการกำหนดแนวทางใหญ่ๆ และความร่วมมือบน 4 เสาหลักได้แก่ด้านความมั่นคง-การเมือง ด้านการเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านสังคม วัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนระดับประชาชน และด้านการสนับสนุนความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน
สืบเนื่องจากการประชุมที่ผ่านไปแล้ว ประชาไทชวนผู้อ่านทำความรู้จักที่มาของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง และความเห็นของนักวิชาการทั้งไทยและต่างชาติบนหน้าสื่อต่างๆ ที่มีต่อท่าทีของจีนต่อการปฏิเสธกรอบความร่วมมือที่มีอยู่เดิมและสร้างกรอบความร่วมมือใหม่ขึ้นมาเองที่สะท้อนถึงความมุ่งหมายในการเป็นผู้คุมเกมบนแม่น้ำนานาชาติที่มีความยาวกว่า 4,800 กม.
ความเดินตอนที่แล้ว: อะไรคือ LMC ทบทวนกรอบความร่วมมือบนแม่น้ำนานาชาติ
เมื่อปี 2557 ความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (LMC) ถูกเสนอขึ้นโดยนายกรัฐมนตรีของจีน หลี่เค่อเฉียง ในเวทีประชุมผู้นำจีน-อาเซียน ที่พม่า ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2555 รัฐบาลไทยได้สนับสนุนให้มีกลไกความร่วมมือที่ใกล้ชิดขึ้นระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขง โดยมุ่งให้มีการ “สร้างชุมชนที่มีภาพอนาคตแห่งสันติภาพและความเจริญร่วมกัน” กรอบความร่วมมือ LMC ก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2559 ที่เมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน ประเทศจีน โดยมีนายกฯ ไทยและจีนเป็นประธานร่วม และประเทศลุ่มน้ำโขงอีก 4 ประเทศเป็นสมาชิก มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และระหว่างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับภูมิภาคอื่น ๆ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับประชาคมอาเซียนในภาพรวม
อย่างไรเสีย ก่อนหน้าที่จะเกิดกรอบความร่วมมือ LMC ขึ้น ประเทศลุ่มน้ำโขงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีข้อตกลงความร่วมมืออีกชุดหนึ่งที่ชื่อว่า คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission - MRC) ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศของไทยรายงานว่า ความร่วมมือดังกล่าวจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2500 โดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจสำหรับเอเชียและตะวันออกไกล โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจจากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 2 และปัญหาน้ำท่วมของประเทศลุ่มน้ำในภูมิภาค แต่ประเทศสมาชิกมีเพียง 4 ประเทศได้แก่ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม ส่วนจีนและพม่านั้นมีปัญหาการเมืองภายในและไม่ได้เข้าร่วม
แผนงานสำคัญของ MRC คือการศึกษาการบริหารจัดการและการพัฒนาที่ยั่งยืนของแม่น้ำโขง รวมทั้งศึกษาผลกระทบของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายประธาน จากการประชุมคณะมนตรี MRC ครั้งที่ 18 ได้มีมติให้จัดทำบรรทัดฐานในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจจากโครงการพัฒนาทั้งเชิงบวกและลบก่อนพัฒนาโครงการใดๆ โดยครอบคลุม 6 สาขาหลักที่มีนัยสำคัญต่อการพัฒนาโครงการ ดังนี้
1. การชลประทาน
2. การเกษตรและการใช้ที่ดิน
3. การใช้น้ำในครัวเรือนและอุตสาหกรรม
4. การป้องกันอุทกภัย
5. ไฟฟ้าพลังน้ำ
6. การคมนาคม
กรอบความร่วมมือ MRC ได้รับข้อครหาว่าไม่สามารถหยุดยั้งการสร้างเขื่อนไฟฟ้าในแม่น้ำโขงได้ รายงานของกลุ่มที่ปรึกษาด้านการวิจัยการเกษตรนานาชาติ (Consultative Group for International Agricultural Research) ระบุว่า จะมีเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจำนวนมากถึง 31 แห่งถูกสร้างในแม่น้ำโขงภายในปี 2573
LMC สะท้อนความพยายามคุมเกมของจีน
มิลตัน ออสบอร์น ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แสดงความเห็นในอีเมล์ที่เขาส่งให้สำนักข่าววอยซ์ออฟอเมริกาว่า การที่จีนไม่เข้าร่วมกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และจัดตั้งกรอบความร่วมมือล้านช้าง - แม่โขงขึ้นมาคือความพยายามที่จะทำให้ตนเองเป็นคนกำหนดวาระเรื่องแม่น้ำโขงและแสวงหาความชอบธรรมต่อการสร้างเขื่อนในแม่น้ำนานาชาติสายนี้ไปพร้อมกับการให้บริษัทที่เชื่อมโยงตัวเองกับรัฐบาลจีนไปมีส่วนช่วยสร้างเขื่อนทางปลายน้ำของประเทศจีน
วอยซ์ออฟอเมริกา ยกสถิติจากกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature - WWF) ที่รายงานว่า ทรัพยากรปลาในแม่น้ำโขงหล่อเลี้ยงชีวิตของคนกว่า 60 ล้านคน และในฐานะที่เป็นแหล่งอาหาร แม่น้ำโขงเกี่ยวพันกับชีวิตของคนมากกว่า 300 ล้านคนจากกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 100 กลุ่ม ดังนั้น การควบคุมการไหลของแม่น้ำ เช่น การสร้างเขื่อน จึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศลุ่มน้ำ
ออสบอร์นกล่าวเพิ่มเติมว่า การเกิดขึ้นของกรอบความร่วมมือ LMC สะท้อนถึงข้อจำกัดของกรอบความร่วมมือ MRC ในประเด็นการหยุดยั้งโครงการเขื่อนที่จะเป็นอันตรายต่ออนุภูมิภาคแม่น้ำโขง ทั้งยังไม่หวังว่ากรอบความร่วมมือ LMC จะพูคคุยกันในประเด็นใหญ่ๆ ในเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น การลดลงของจำนวนปลา ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนและปัญหาเฉพาะที่เกิดในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
เอลิออต เบรนแนน นักวิจัยอิสระด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แสดงข้อกังวลกับ เซาท์ไชนามอร์นิ่งโพสท์ถึงนัยของการพยายามเข้าควบคุมแม่น้ำโขงของจีนในมุมของยุทธศาสตร์การเมืองและความมั่นคงว่า “ประเด็นแม่น้ำโขงมีศักยภาพพอที่จะเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างจีนและอาเซียนี่ใหญ่ที่สุดถัดจากพื้นที่พิพาทบนทะเลจีนใต้ ถ้ารัฐบาลปักกิ่งสามารถควบคุมการพัฒนาบนแม่น้ำโขงได้ แม่น้ำโขงจะกลายเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่จีนจะใช้เพื่อขยายอิทธิพลลงไปในอาเซียน”
รศ. ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Institute of Security and International Studies - ISIS) ให้ความเห็นกับประชาไทว่า การใช้งานแม่น้ำโขงของจีนที่เป็นรัฐต้นน้ำส่งผลกระทบต่อรัฐปลายน้ำอย่างเวียดนามและกัมพูชา ส่วนไทยและลาวไม่ค่อยบ่นเพราะไทยสนับสนุนลาวให้มีเขื่อนผลิตไฟฟ้า เพราะไทยก็ซื้อไฟฟ้าจากลาว การจัดตั้งความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (Lancang – Mekong Cooperation) สะท้อนว่า ถ้าไม่ใช่กฎกติกาที่จีนเป็นคนตั้งเองแล้ว จีนจะไม่เล่นตาม หมู่ประเทศเล็กๆ ก็ต้องยอมจีนไป ถ้าประเทศในอาเซียนทั้งบนบกและผืนน้ำไม่ผนึกกำลังกันใช้อำนาจต่อรองในการร่วมมือทางการทูตกับกับจีนโดยเอาประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย มาคานอำนาจกับจีน กลุ่มประเทศเหล่านี้จะเสียเปรียบจีนมากขึ้นเรื่อยๆ
ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์-วรศักดิ์ มหัทธโนบล เปิดนัยสัมพันธ์ไทย-จีนหลังดีลเรือดำน้ำ
อย่างไรเสีย ทางจีนระบุว่ากรอบความร่วมมือ LMC กำลังเดินหน้าและมีความพัฒนาที่โดดเด่นนับตั้งแต่มันถูกก่อตั้งขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปีก่อน ทั้งยังสัญญาว่าจะดำเนินนโยบายการทูตแบบเพื่อนบ้านบนฐานแห่งความเป็นมิตร จริงใจ ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน และครอบคลุมกับทุกฝ่าย โดยเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา จีนได้พูดคุยกับกัมพูชาและลาวเพื่อจะบรรลุข้อตกลงเรื่องโครงการสนับสนุน นอกจากนั้น ประเทศสมาชิก LMC ทั้ง 6 ชาติเองก็ได้จัดตั้งสำนักงานเลขานุการของ LMC แล้วเมื่อสิ้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา
องค์กรด้านการวิจัยหลายแห่งได้เข้าร่วมกับรัฐบาลชาติสมาชิกเพื่อจัดตั้ง ‘ศูนย์การศึกษาแม่น้ำโขงโลก - Global Center for Mekong Studies’ ขึ้นมาเมื่อปีที่แล้วเพื่อให้คำปรึกษาชาติสมาชิกในหลายประเด็นตั้งแต่ด้านการเมืองไปจนถึงด้านการธุรกิจ
เมื่อ 9 ม.ค. 2561 หลี่เค่อเฉียง นายกฯ จีน เขียนบทความให้กับสำนักข่าวขแมร์ไทม์ของกัมพูชาว่า ความร่วมมือ LMC กำลังกลายเป็นกรอบความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคที่มีศักยภาพและความสำคัญสูง “ภายใต้ปฏิกิริยาจากโลกาภิวัฒน์ การกีดกันและสภาวะขาดความร่วมมือในเอเชียตะวันออก ความร่วมมือ LMC ไม่ได้เป็นแค่องค์ประกอบขั้นพื้นฐานของความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อลดช่องว่างด้านการพัฒนาและหลอมรวมอาเซียน แต่ยังเป็นการเชิดชูความร่วมมือแบบใต้-ใต้เพื่อสร้างเศรษฐกิจโลภาภิวัฒน์ที่เปิดกว้าง สมดุล ครอบคลุมและทุกคนได้ประโยชน์”
พหุภาคีแบบจีนในฐานะเครื่องมือทางการทูต เศรษฐกิจ ความมั่นคง
โพ โสวินดา นักวิเคราะห์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยอีสต์ไชนานอร์มอล ในเมืองเซียงไฮ้ กล่าวว่าจีน ในฐานะที่เป็นรัฐต้นน้ำโขงจะใช้เวที LMC เป็นตัวอย่างของการสร้างสถาบันพหุภาคีที่นำโดยจีนด้วยพิสูจน์ว่าจีนไม่ได้แสวงหาการมีอำนาจนำ นอกจากนั้น เวทีนี้ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นกับโครงการที่ใหญ่กว่าก็คือโครงการแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative - BRI)
แต่นักวิเคราะห์จากเซี่ยงไฮ้ระบุเพิ่มเติมว่า จีนมีโอกาสที่จะพบเจอแรงต้านหากเลือกที่จะตัดสินใจจัดการแม่น้ำโขงด้วยตัวเองแต่เพียงฝ่ายเดียวเพราะพฤติกรรมดังกล่าวสวนทางกับการพัฒนาอย่างสันติที่ถูกนำมาพูดบ่อยครั้ง
ไบรอัน เอเลอร์ ผู้อำนวยการโปรแกรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ศูนย์สติมสัน ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ กล่าวว่า รัฐบาลจีนสามารถใช้เวที LMC เป็นเครื่องมือในการเติมเต็มภาวะการขาดเวทีพหุภาคี เบนความสนใจออกไปจากพื้นที่ทะเลจีนใต้ที่จีนมีข้อพิพาทกับประเทศในอาเซียนได้แก่ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน รวมถึงเวียดนามที่เป็นสมาชิกของเวที LMC และเป็นหมุดหมายการขยายอิทธิพลเพื่อสร้างความชอบธรรมกับโครงการแถบและเส้นทางผ่านมาตรการทางเศรษฐกิจ
“LMC จะเป็นสปริงบอร์ดให้จีนขยายธุรกิจด้านพลังงานน้ำ ถ่านหิน การสร้างถนน เส้นทางรถไฟและท่าเรือเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการแถบและเส้นทาง” เอเลอร์กล่าวเพิ่มเติม
ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับประชาไทต่อประเด็นการขยายอิทธิพลของจีนบนแม่น้ำโขงว่า เป็นความพยายามของจีนมาตลอดที่จะเพิ่มเติมเส้นทางคมนาคมทางน้ำ เพราะทางบกนั้นมีถนนเชื่อมต่อกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงแล้ว แต่การพัฒนาเส้นทางคมนาคมด้วยการปรับปรุงร่องน้ำให้เรือระวางขับน้ำขนาดใหญ่เข้าได้นั้นมีคำถามต่อในทางความมั่นคงว่า ถ้าในอนาคตเกิดปัญหาความมั่นคงขึ้นมาในลุ่มแม่น้ำโขง ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงคงไม่มีกำลังรบทางเรือบนแม่น้ำได้เท่ากับจีน เพราะการปรับร่องน้ำให้รับเรือขนาดใหญ่นั้นไม่เพียงแต่เรือขนสินค้าจะได้อานิสงค์ เรือรบเองก็สามารถใช้เส้นทางเดียวกันได้
อิทธิพลจีนในอาเซียนลุ่มน้ำโขงมีสูง ผู้ประสานงานแม่น้ำนานาชาติวอนพัฒนาการศึกษาแม่น้ำให้เห็นภาพรวม เน้นการมีส่วนร่วม
การสร้างเขื่อนในประเทศต้นน้ำอย่างจีนทำให้เกิดปรากฎการณ์ ‘การทูตว่าด้วยเรื่องน้ำ (Water Diplomacy)’ ในปี 2559 ประเทศปลายน้ำต้องเผชิญสภาวะแห้งแล้งที่หนักที่สุด นักสิ่งแวดล้อมระบุว่าสาเหตุส่วนหนึ่งของภัยแล้งดังกล่าวมาจากการมีเขื่อน การทูตว่าด้วยเรื่องน้ำมีตัวอย่างรูปธรรมในครั้งที่จีนตกลงปล่อยน้ำตามคำขอของเวียดนามที่เป็นประเทศปลายน้ำ จีนก็ระบุว่าการปล่อยน้ำนั้นเป็น ‘ท่าทีแห่งความมีน้ำใจไมตรี’
จีนเป็นประเทศที่มีบทบาทมากกับชาติสมาชิก LMC เพราะเป็นทั้งผู้สนับสนุนด้านการเงินและการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในลาว ให้การสนับสนุนพม่าท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเลือกปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญา ให้การสนับสนุนทางการเงินและการทูตต่อกัมพูชา
ในไทย ภายใต้ยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จีนเป็นผู้ลงทุนในไทยจำนวนมหาศาล รายงานข่าวระบุว่า คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่าการลงทุนจากจีนในปี 2559 มีจำนวน 69 โครงการ เม็ดเงินลงทุนประมาณ 24,288 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120% จากปี 2558 โดยจีนถือเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนโดยตรงในไทยสูงสุดเป็นอันดับสองรองจากประเทศญี่ปุ่น
แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ดอน ปรมัตถ์วินัย ให้สัมภาษณ์ในรายงานข่าวว่า จีนยอมถอยเรื่องการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงแล้ว แต่ก็ยังมีโครงการก่อสร้างขนาดยักษ์อีกหลายโครงการที่จะเกิดขึ้นบนแม่น้ำโขงในหลายประเทศที่จะมีผลกระทบกับผู้ใช้แม่น้ำโขง
เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทย องค์การแม่น้ำนานาชาติได้คุยกับ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ แห่งกลุ่มรักษ์เชียงของ เกี่ยวกับการประชุม LMC ว่า ต้องยอมรับว่าเขื่อนได้สร้างวิกฤติต่อแม่น้ำโขงทั้งเขื่อนในจีนที่สร้างไปแล้วถึง 8 เขื่อนในมณฑลยูนนาน และเขื่อนที่จะสร้างเพิ่มบนแม่น้ำโขงตอนล่าง เพื่อให้การพัฒนาแม่น้ำโขงไปสู่ความสมดุลทั้งในด้านการส่งเสริมการค้าและการรักษาทรัพยากร จะต้องใช้โอกาสนี้ในการปรับกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการแม่น้ำโขงร่วมกัน ทั้งระดับระหว่างประเทศ และประชาชน นักวิชาการ เพราะที่ผ่านมาโครงการต่างๆ อาทิ เขื่อนแม่น้ำโขง และโครงการเดินเรือหรือระเบิดแก่ง การศึกษาผลกระทบเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่สามารถตอบประเด็นปัญหาผลกระทบในภาพรวมที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นเพียงการศึกษาเป็นจุดๆ ไม่ได้ศึกษาในภาพรวมของแม่น้ำโขงทั้งลุ่มน้ำ ดังนั้นการยกระดับเพื่อการศึกษา ทำความเข้าใจแม่น้ำโขงร่วมกันในภูมิภาค จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะตอบปัญหาผลกระทบระดับลุ่มน้ำจากโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้
ประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง 'รักษ์เชียงของ' หวังให้ ปชช. มีส่วนร่วมถกผลกระทบจากเขื่อนมากขึ้น
ปัจจุบัน องค์กรต่างๆ ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อบริหารแม่น้ำโขง เช่น คณะกรรมการแม่น้ำโขงหรือ MRC และกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่น้ำโขง LMC จะต้องให้ความสนใจ และยกเป็นวาระของการพัฒนาลุ่มน้ำโขงร่วมกัน เพราะที่ผ่านมา เรื่องราวต่างๆ ความเดือดร้อนของประชาชนไม่ได้รับการพูดถึงหรือผลักดันแก้ไขปัญหาร่วมกัน หน่วยงานที่รับผิดชอบควรทำหน้าที่ หยิบยกประเด็นนี้เป็นวาระ
ความเป็นไปในแม่น้ำโขงไม่ได้กระทบแค่วิถีชีวิตริมน้ำและบั้งไฟพญานาค แต่แม่น้ำนานาชาติสายนี้เป็นเสมือนหมากกระดานที่ประเทศลุ่มน้ำวางยุทธศาสตร์ตั้งแต่ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และอาจลามไปถึงเรื่องความมั่นคง ประชาไทจึงชวนผู้อ่านติดตามรายละเอียดของผลลัพธ์ที่จะมีขึ้นต่อไปหลังการประชุมเสร็จสิ้นจนมีการประกาศหมุดหมายร่วมกันระหว่างชาติสมาชิก ว่าจะมีผลกระทบต่อชีวิตทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของชาติสมาชิกและคนของเขาอย่างไร และตำแหน่งแห่งที่ของประชาชนจะไปอยู่ตรงไหนในสมการชุดนี้