ยันสารเคมี 3 ชนิดพิษระดับปานกลาง เกษตรฯ ขอ สธ. ส่งหลักฐานอันตราย ‘พาราควอต-ไกลโฟเซต’ (15 ม.ค. 61)

แนวหน้าออนไลน์ 15 มกราคม 2561
ยันสารเคมี3ชนิดพิษระดับปานกลาง n เกษตรฯขอสธ.ส่งหลักฐานอันตราย‘พาราควอต-ไกลโฟเซต’

นายสรวิศ ธานีโต โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ กรมวิชาการเกษตร เร่งดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ที่มี รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ซึ่งมีมติเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 เสนอห้ามใช้วัตถุอันตรายพาราควอตไดคลอไรด์ และคลอร์ไพริฟอส ภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2562 และให้จำกัดการใช้วัตถุอันตรายไกลโฟเซตอย่างเข้มงวด โดยห้ามใช้สำหรับเกษตรกรในพื้นที่สูง พื้นที่ต้นน้ำ บริเวณแม่น้ำ ลำคลอง แหล่งน้ำในพื้นที่ใกล้เคียง พื้นที่สาธารณะ และเขตชุมชน

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 29-7/2560 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2560 มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาเอกสารทางวิชาการ รวมทั้งกำหนดมาตรการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอตไดคลอร์ไรด์ คลอไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยกำหนดให้พิจารณาแล้วเสร็จ ภายใน 3 เดือน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ขอความอนุเคราะห์กระทรวงสาธารณสุข ในส่วนของข้อมูลหลักฐานทางการแพทย์เกี่ยวกับข้อกังวลในด้านความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด ต่อสุขภาพของมนุษย์ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง และข้อเสนอแนะของกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่กระทรวงเกษตรฯ จะได้ส่งข้อมูลดังกล่าวเสนอคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ใช้ประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอตไดคลอไรด์ คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตต่อไป

ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯ ได้พิจารณาข้อมูลทางวิชาการ และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ของวัตถุอันตราย ทั้ง 3 ชนิด พบว่า ข้อมูลพิษวิทยา พิษตกค้าง และประสิทธิภาพของวัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด มีความเป็นพิษในระดับน้อยถึงปานกลาง และยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชตามฉลาก ซึ่งมีบางประเทศที่ห้ามใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด แต่อีกหลายประเทศมิได้ห้ามใช้ หรือห้ามใช้ในสินค้าบางชนิดเท่านั้น นอกจากนี้ผลสรุปจากการรับฟังความคิดเห็น 4 ครั้ง มีทั้งเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการ และไม่เห็นด้วย เนื่องจากวัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด มีประสิทธิภาพดี ราคาถูก หากใช้ด้วยความระมัดระวังจะไม่เกิดอันตราย เกษตรกรจะได้รับผลกระทบด้านต้นทุนการผลิต นอกจากจะมีสารที่มาใช้ทดแทนที่มีประสิทธิภาพดีและราคาถูก ก็ยินดีที่จะลด ละ เลิกใช้ ซึ่งได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการต่อไป