ข่าวไม่ดีเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกปี 2560 (14 ม.ค. 61)

MGR Online 14 มกราคม 2561
ข่าวไม่ดีเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกปี 2560 

ย้อนหลังไป 3 ปี (2558) ชาวโลกเราต่างรู้สึกยินดีกับข่าวใหญ่ที่เป็นความหวังของคนทั้งโลก นั่นคือ ที่ประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change ,IPCC) ซึ่งเป็นองค์กรของสหประชาชาติได้ผ่านข้อตกลงร่วมกันที่เรียกว่า “ข้อตกลงปารีส” เพราะเป็นข้อตกลงร่วมกันที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้ข้อตกลงนี้ไม่ได้มีการบังคับ (ให้สมัครใจและตามความปรารถนาของตนเอง) แต่สำหรับคนที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดก็มีความหวังว่าข้อตกลงครั้งนี้จะไม่ล้มเหลวเหมือนข้อตกลงอื่นที่ผ่านๆ มา

ที่หวังเช่นนี้เพราะเหตุผลสำคัญ 2 ประการ คือ หนึ่ง ใครๆ ก็เห็นได้ว่าอาการป่วยของโลกแย่ลงมาก ไม่ทำอะไรไม่ได้แล้ว และ สอง เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยมีความก้าวหน้าและราคาถูกลงมากแล้ว ซึ่งความหวังดังกล่าวก็เป็นจริง แต่เป็นจริงอยู่ได้เพียง 2-3 ปีเท่านั้น

แต่ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา จากการประมาณเบื้องต้นขององค์กร Carbon Brief (อ้างอิงในภาพ) พบว่า ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึง 2% โดยประเทศจีนปล่อยมากที่สุด (29% มีประชากร 19% ของโลก) รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา (14% แต่มีประชากรเพียง 4% ของโลก) สหภาพยุโรปปล่อยมากเป็นอันดับที่สาม (10% มีประชากร 10% ของโลก)

เป็นที่น่าสังเกตว่า สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกามีการปล่อยก๊าซฯ ลดลงเท่ากันคือ 0.6% ในขณะที่ประเทศจีนได้ปล่อยเพิ่มขึ้น 3.3% (หมายเหตุ จีดีพีของจีนเติบโตประมาณ 6.8%)

ในการกระบวนการพิจารณาเพื่อการลดก๊าซเรือนกระจก ที่ประชุมได้พิจารณาถึงเรื่อง “ความเป็นธรรม” ด้วยเช่น ประเทศอินเดียซึ่งมีประชากร 18% ของโลก แต่ได้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 6.7% ของโลกเท่านั้น ดังนั้น ประเทศอินเดีย (ซึ่ง 1 ใน 4 ของประชากรยังไม่มีไฟฟ้าใช้) จึงขอลดช้าหน่อย ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้เคยปล่อยจำนวนมากมานานแล้ว จึงสมควรที่จะต้องรีบลดลง ซึ่งทั้งสองกลุ่มประเทศนี้ก็ได้ลดลงจริงๆ แล้วอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นที่ผมสงสัยมานานแล้ว คือ ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศและไปทำหน้าที่เป็น “ผ้าห่มโลก” (สูงประมาณ 100 กิโลเมตรจากผิวโลก) จนทำให้อากาศร้อนและแปรปรวน จะมีอายุยืนนานเท่าใด และมีการสลายตัวด้วยวิธีใดบ้าง

ผมเคยถามเพื่อนที่เป็นอาจารย์เคมีบางคนเขาตอบว่า “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะอยู่ไปนานนับเป็น 100 ปี”

นี่เป็นคำตอบที่น่าตกใจมากครับ เพราะว่าในปี 2560 มนุษย์ปล่อยออกไปประมาณ 37,000 ล้านตัน มันก็ออกไปรวมกับของเก่าเมื่อ 100 ปีที่แล้วด้วย นั่นคือ “ผ้าห่มโลก” ของเราจะหนาขึ้นๆ ทุกปี นั่นหมายความว่าโอกาสในการเกิดภัยพิบัติก็จะมากขึ้นทุกปีด้วย

อย่างไรก็ตาม ผมได้พบรายงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ที่ใช้ชื่อองค์กรว่า “Berkeley Earth” ผมได้นำมาเสนอในแผ่นภาพข้างล่าง พอสรุปได้ว่า 

ถ้าเป็นก๊าซมีเทนซึ่งเกิดจากการเน่าเปื่อยของพืชและสัตว์ เมื่อถูกปล่อยออกไปแล้วจะใช้เวลาประมาณ 8 ปี จะเหลืออยู่ประมาณครึ่งหนึ่ง (นักวิทยาศาสตร์เรียกว่ามีครึ่งชีวิตเท่ากับ 8 ปี) แต่ก๊าซมีเทนมีประสิทธิภาพในการก่อให้เกิดโลกร้อนสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นับสิบเท่าตัว

ถ้าเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลต้องใช้เวลาประมาณ 32 ปีจึงจะสลายตัวไปครึ่งหนึ่ง หรือในประเวลาประมาณ 100 ปีจะเหลืออยู่ประมาณ 37%

เท่าที่รายงานวิจัยนี้อธิบาย เกิดขึ้นได้สองทาง คือ ถูกพืชนำไปใช้ในการสังเคราะห์แสง ยิ่งเราทำลายป่ามากเท่าใด การสลายของก๊าซฯ ชนิดนี้ก็ยิ่งช้าเท่านั้น อีกทางหนึ่งคือถูกเก็บไว้ในมหาสมุทร รวมทั้งใช้สังเคราะห์แสงของพืชน้ำด้วยเรื่องปฏิกิริยา (ทั้งชีววิทยาและเคมี) ในมหาสมุทรเป็นเรื่องที่ซับซ้อนครับ

กลับมาที่ข้อตกลงปารีสอีกครั้งครับ

ต้องขอเรียนย้ำว่า เป้าหมายของข้อตกลงปารีส (COP21) คือ ต้องการจะควบคุมอุณหภูมิของอากาศโลกไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ทั้งนี้ต้องทำให้ได้ภายในปี 2100 (หรืออีก 82 ปีข้างหน้า) ดังนั้น สหประชาชาติจึงได้ขอให้แต่ละประเทศช่วยกันลด

สมมติว่าไม่มีประเทศใดให้ความร่วมมือเลย แต่ละประเทศก็ปล่อยในระดับที่เคยเป็นมาแล้ว ผลการศึกษาด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์พบว่า ในปี 2100 อุณหภูมิของอากาศจะสูงถึง 4.2 องศาเซลเซียส โดยมีความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 890 ส่วนในล้านส่วน (ppm) (ดูภาพประกอบ คือสถานการณ์จะไปตามเส้นทาง P1 ถึง P2)

เท่าที่แต่ละประเทศได้ประกาศจะลดลงในระยะแรกนับถึงปี 2030 และถ้าทุกประเทศเป็น “เด็กดี” ทั้งหมด พบว่าในปี 2100 อุณหภูมิของอากาศจะสูงถึง 3.5 องศาเซลเซียสความเข้มฯ 700 พีพีเอ็ม (ไปตามเส้นทางจาก P1 ถึง P3)

ขอย้ำอีกครั้ง แม้ทุกประเทศชวนกันเป็นเด็กดีกันทั้งหมด แต่ในที่สุดอุณหภูมิยังสูงถึง 3.5 องศาเซลเซียส สูงกว่าเป้าหมาย

ถ้าจะให้ได้ตามเป้าหมาย คือ 2 องศาเซลเซียส หรือเป้าหมายที่ดีกว่าคือ 1.5 องศา มนุษย์จะต้องหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด หรือไม่ปล่อยเลยในปี 2070

นั่นคือ จะต้องลดลงมากกว่าที่แต่ละประเทศได้เคยประกาศไปแล้วอีกกว่าหนึ่งเท่าตัว (เส้น P1 ถึง P4)

กรุณาดูภาพอีกครั้งครับ ในปี 2017 ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับ 413 พีพีเอ็ม เพิ่มจากปีก่อนครับ และมันเกินเป้าหมายในปี 2100 คือ 410 พีพีเอ็มเรียบร้อยไปแล้วครับ 

ขออีกสักนิดครับ เมื่อ 30 ปีก่อน (ผมจำเรื่องเก่าๆ แม่นครับ) ผมพยายามให้นักศึกษาพยากรณ์ (ด้วยการวิเคราะห์การถดถอย) เรื่องอุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศในประเทศไทย คืออยากจะรู้ว่าอุณหภูมิอากาศเพิ่มขึ้นเท่าใดจากอดีตและในอนาคต ปรากฏว่าข้อมูลไม่ครบ หายเป็นช่วงๆ และมีข้อมูลไม่ยาวนานพอ 

วันนี้ผมได้พบข้อมูลที่ต้องการโดยบังเอิญครับ คือ ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา (1916-2016) อุณหภูมิของอากาศเฉลี่ยทั้งปีของกรุงเทพมหานครได้เพิ่มจาก 27 องศาเซลเซียสเป็น 28 องศาเซลเซียส หรือเพิ่มสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส นี่เป็นการคิดแค่ในช่วง 100 ปีหลังสุดเท่านั้น ถ้าคิดย้อนไปยุคก่อนอุตสาหกรรมคือประมาณ 150 ปีก่อน อุณหภูมิของประเทศไทยเราได้สูงขึ้นประมาณ 1.5 องศาเซลเซียสแล้ว

ถ้าเปรียบประเทศหรือโลกเป็นคนซึ่งมีอุณหภูมิภายในร่างกาย 37 องศาเซลเซียส ตอนนี้ก็ถึง 38.5 องศาเซลเซียสแล้ว นั่นหมายถึงว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการชักแล้ว 

และถ้ามันถึงเป้าหมายที่ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส นั่นแปลว่าเราจะยอมให้สูงขึ้นอีก 0.5 องศาเซลเซียส มันจะไหวหรือครับ และถ้ามันคุมไม่อยู่เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีอายุยืนยาวนับ 100 ปี สถานการณ์ก็จะรุนแรงเกินคาด ทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติ น้ำท่วม ภัยแล้ง และพายุจะเกิดถี่และรุนแรงขึ้นอีกเยอะ

แต่ที่สำคัญและมักจะไม่ค่อยมีใครคิดกันคือ “โลกร้อน คนไม่ชอบ แต่ยุงและไวรัสชอบมาก” แล้วอะไรจะเกิดขึ้น นี่คือข่าวไม่ดีของปี 2560 ที่มนุษย์ทั้งโลกจะต้องร่วมกันเยียวยา มิฉะนั้น หายนะภัยจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้