"ต้าถัง" ทุนใหญ่พลังงานจีน ยกพลบุกโฮงเฮียนแม่น้ำโขง-เจรจาปัญหาเขื่อนกับชาวบ้าน (14 ม.ค. 61)

มติชนออนไลน์ 14 มกราคม 2561
บริษัทยักษ์”ต้าถัง”ทุนใหญ่พลังงานจีน ยกพลบุกโฮงเฮียนแม่น้ำโขง-เจรจาปัญหาเขื่อนกับชาวบ้าน

เมื่อวันที่ 14 มกราคม นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ เปิดเผยว่าในวันที่ 15 มกราคม นี้ที่โฮงเฮียนแม่น้ำโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย จะมีการเจรจาหารือกันระหว่างตัวแทนผู้บริหารบริษัทต้าถัง(สปป.ลาว) ไฮโดพาวเวอร์ จำกัด Datang (Lao) Pak Beng Hydropower Co,Ltd ผู้ได้รับสิทธิในการพัฒนาโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง 2 โครงการ ในประเทศลาว ได้แก่โครงการเขื่อนปากแบง อยู่ในแขวงอุดมไซ ห่างจากชายแดนไทยด้านชายแดนจังหวัดเชียงราย 90 กิโลเมตร และโครงการเขื่อนสานะคาม อยู่ในแขวงเวียงจันทน์ ห่างจากชายแดนไทยด้านจังหวัดเลยเข้าไปในลาว 3 กิโลเมตร โดยเป็นการเจรจากับตัวแทนภาคประชาชนลุ่มน้ำโขงในประเด็นปัญหาต่างๆ และแนวทางแก้ไขผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อน

 นิวัฒน์ ร้อยแก้ว

“การพูดคุยในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของการพูดถึงประเด็นการสร้างเขื่อนในสายน้ำโขงระหว่างผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงคือเจ้าของโครงการกับประชาชน นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้องในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเห็นความจำเป็นของการปรับเปลี่ยนมุมมองและท่าทีในการจัดการการพัฒนาที่ให้ความสำคัญและสนับสนุนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของคนลุ่มน้ำโขง” นายนิวัฒน์ กล่าว

ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการส่งคำถาม 6 ข้อให้กับบริษัทต้าถังฯเพื่อให้ชี้แจงประเด็นต่างๆ ซึ่งจะเป็นหัวข้อในการเจรจาครั้งนี้ด้วย โดยคำถามดังกล่าวประกอบด้วย 1. การอพยพของปลา ผ่านเขื่อน ซึ่งหลังมีการฟ้องศาลปกครองเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนไซยะบุรี และศาลปกครองสูงสุดรับฟ้องไว้นั้น เจ้าของโครงการได้ปรับแบบและออกแบบทางปลาผ่าน และระบบระบายตะกอน ซึ่งก็ยังไม่ทราบได้ว่าจะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ สำหรับเขื่อนปากแบงและเขื่อนสานะคาม ซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนไทย จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร 2.ผลกระทบข้ามพรมแดน ต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขง 3. ผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่พรมแดนไทยลาว บริเวณ อ.เชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น ซึ่งได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากเขื่อนจิงหง ซึ่งกั้นแม่น้ำโขงในยูนนาน 4. ผลกระทบต่อการเดินเรือท่องเที่ยว ระหว่างเมืองห้วยซาย-หลวงพระบาง โดยเฉพาะในช่วงการก่อสร้างเขื่อน ที่จะมีการปิดกั้นลำน้ำ 5. การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน จะมีส่วนร่วมจากผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างไร และนี่คือประเด็นที่เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ฟ้องศาลปกครอง ซึ่งขณะนี้ศาลปกครองสูงสุดได้รับพิจารณาการอุทธรณ์แล้ว 6. มาตรการบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดน จะมีแผนเป็นอย่างไรบ้าง

นายนิวัฒน์กล่าวว่า การพัฒนาในลุ่มน้ำโขงยังคงมีอยู่และจะเพิ่มมากขึ้น หากรัฐบาลไทยและประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงยังคงไม่ปรับขบวนการการมีส่วนร่วมและแนวคิดในการจัดการแม่น้ำโขงร่วมกัน ทั้งระดับระหว่างประเทศ ประชาชน นักวิชาการ ผู้ที่มีส่วนได้เสีย อีกทั้งองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขง เช่น คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงหรือ MRC และกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง-ล้านช้าง(LMC) ต้องผลักดันและยกเป็นวาระของการพัฒนาลุ่มน้ำโขง เพื่อความสมดุลและยั่งยืนทั้งทางด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อม พลังงานและการค้า

ทั้งนี้คาดว่าในการเจรจาหารือในวันที่ 15 จะมีผู้เข้าร่วมประมาณ 80 คน ซึ่งนอกจากผู้แทนภาคประชาชนริมแม่น้ำโขง 8 จังหวัด และผู้แทนบริษัทต้าถังฯ แล้ว ยังมีหน่วยงานต่างๆของภาครัฐ เช่น ผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำ กรมประมง สำนักงานตำรวจเชียงราย นักวิชาการจากมหาวิทยลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อาทิ ดร.ชยันต์ วรรธณะภูติ และสื่อมวลชนอีกหลายสำนักได้แจ้งความจำนงค์ขอร่วมสังเกตการณ์