วงเจรจา "เขื่อนปากแบ่ง" ตัวแทนสปป.ลาว ร่วมถก-ตอบข้อสงสัย ประชาชนลุ่มน้ำโขง (15 ม.ค. 61)
มติชนออนไลน์ 15 มกราคม 2561
วงเจรจา เขื่อนปากแบ่ง ตัวแทนสปป.ลาว ร่วมถก-ตอบข้อสงสัย ประชาชนลุ่มน้ำโขง
เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 ที่โฮงเฮียนแม่น้ำโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีการเจรจาหารือระหว่างผู้แทนบริษัทต้าถัง(ลาว) เขื่อนไฟฟ้าปากแบ่ง จำกัดและตัวแทนภาคประชาชนริมแม่น้ำโขง นำโดยนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ เกี่ยวกับโครงการสร้างเขื่อนปากแบ่ง ในสปป.ลาวซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทยเข้าไปในลาวกว่า 90 กิโลเมตร เนื่องจากชาวบ้านริมแม่น้ำโขงหวั่นเกรงในเรื่องผลกระทบข้ามแดน โดยมีนักวิชาการ เช่น นายชยันต์ วรรธนะภูติ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งมีพล.ต.ต.ณัฐกณฑ์ การปลูก อดีต ผบก.ภ.จว.สกลนคร เป็นผู้ประสานงานให้กับบริษัทต้าถัง
มีผู้แทนรัฐบาลลาวคือนายจันแสวง บุนนอง อธิบดีกรมนโยบายและแผน กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ของลาว ได้เข้าร่วมชี้แจงด้วยโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารหลายสิบคนมาร่วมดูแล
นายชยันต์ กล่าวว่า ดีใจที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันมีการเจรจาเรื่องกรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง หรือแอลเอ็มซี ซึ่งเน้นเรื่องมิตรภาพและการพัฒนาที่ต้องนำไปสู่ลดความเหลื่อมล้ำและปัญหาความยากจน ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไทยบอกว่าเราต้องไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังซึ่งเป็นแนวคิดที่มีคุณค่านำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน การที่ท่านทั้งหลายได้ร่วมกันหารือครั้งแรกเพื่อการพัฒนาแม่น้ำโขงด้วยการสร้างเขื่อนปากแบงจะมีประโยชน์และนำความเจริญหรือแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างไร จุดสำคัญการประชุมคือการเคารพทางความคิดของทุกฝ่ายทั้งชาวบ้านที่อาศัยแม่น้ำโขงเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงชีวิต เราต้องคำนึงถึงการพัฒนาการมีส่วนร่วมที่มีความรู้ ไม่ใช่ทำโครงการโดยไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นและไม่รู้ว่าประชาชนดำรงชีวิตอยู่อย่างไร
นายจันแสวง กล่าวว่า ในลาวได้มีการพัฒนาพลังงานโดยการสร้างแผนแม่บทลุ่มแม่น้ำโขง ค.ศ.1970 ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจากแคนาดาซึ่งเป็นเขื่อนที่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ซึ่งสร้างผลกระทบมหาศาล จนภาครัฐได้มีบันทึกความเข้าใจรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและทบทวนการศึกษา จ้างที่ปรึกษาจากเยอรมัน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งจ้างบริษัทที่ปรึกษาอีกจากฝรั่งเศสและเปลี่ยนรูปแบบเขื่อนและระดับน้ำ ปี 1995 ได้มีการเซ็นสัญญาความร่วมมือเพื่อตีกรอบการพัฒนาให้คำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยโครงการปากแบ่งได้ส่งเอกสารปรึกษาหารือล่วงหน้าเป็นเวลา 6 เดือน เชิญนักวิชาการร่วมตรวจสอบ มีการหารือระดับท้องถิ่นจนถึงสากลในหลายครั้งและได้มีข้อสรุปร่วมกันว่า ให้ปรับปรุงโครงการเช่น ทางเดินของปลา การระบายตะกอน นอกจากนี้ต้องมีคณะกรรมการติดตามซึ่งปัจจุบันได้กำหนดบทบาทภาครัฐและประชาชนร่วมกันติดตาม โดยหลังจากนั้นได้มีคำแนะนำจากเอ็มอาร์ซี โดยรัฐบาลแนะนำให้ลดระดับการกักเก็บน้ำของเขื่อนปากแบงลงเหลือระดับ 340 ม.รทก. เพื่อลดผลกระทบข้ามแดน และปรับปรุงทางเดินของปลา
“โครงการนี้เป็นความร่วมมือหนึ่งระหว่างลาว-ไทย เพื่อสร้างผลประโยชน์ทั้งทางตรงและอ้อม ไฟฟ้าที่ผลิตได้ร้อยละ 90 ส่งเข้าประเทศไทย อุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆ ก็เอาไปจากไทย อาจมีสิ่งที่พวกเราคาดไม่ถึง ยังไม่มีความสมบูรณ์ เราก็มาเติมได้ อยากให้แนะนำเพื่อสร้างความสมดุลและผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสองฟาก”นายจันแสวง กล่าว
ขณะที่บริษัทต้าถังได้มอบให้ที่ปรึกษาจากบริษัท Norconsult อธิบายถึงการลดผลกระทบต่างๆ รวมทั้งการใช้แรงงานส่วนใหญ่มาจากประเทศไทย เช่นเดียวกับการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ขณะที่การล่องเรือที่เป็นการท่องเที่ยวคงได้รับการพัฒนาดีขึ้นเพราะได้รับการส่งเสริม ส่วนระดับน้ำเหนือเขื่อนนั้น แก่งผาไดอยู่ห่างจากตัวเขื่อนเกือบ 100 กิโลเมตร ผลกระทบจากการเอ่อของน้ำจะท่วมไม่ถึง และเขื่อนปากแบ่งเป็นเขื่อนน้ำไหลผ่าน หรือฝายน้ำล้น ไม่ใช่เขื่อนกักเก็บน้ำ ซึ่งการก่อสร้างจะเอาความแรงของกระแสน้ำโขงปั่นกระแสไฟ น้ำไหลมาเท่าไรก็ปล่อยหมดไม่มีการกักเก็บไว้ และลดระดับการกักเก็บน้ำลง 5-10 เมตรทำให้น้ำเอ่อไม่ถึง โดยในหน้าฝนจะมีน้ำเพิ่มขึ้นมาอยู่แล้ว การกักเก็บน้ำก็จะไม่ให้เกินหน้าฝนหรือน้ำตามธรรมชาติที่มีอยู่ ซึ่งเป็นไปได้ว่าในธรรมชาติท้ายน้ำอาจมีระดับน้ำมากกว่าปกติเล็กน้อยแต่ไม่มีผลต่อการท่วมริมฝั่งน้ำทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ยังได้มีการสำรวจระบบนิเวศทางน้ำและทางปลาผ่านซี่งเป็นลักษณะเดียวกับที่ทำอยู่ทั่วโลก โดยมีการเสนอให้ปรับปรุงทางปลาผ่านให้ดีขึ้น
นายนิวัฒน์ กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่า ในแม่น้ำโขงมีปลาผ่าน 3 ล้านตัว ต่อ ชั่วโมง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องยกระดับหารือกัน ต้องคุยเรื่องความคุ้มค่าของการสร้างในตอนล่าง ถ้าต้าถังมองพลังงานสะอาดคือโซลาเซล ที่อาบูดาบีผลิตไฟฟ้าโซลาเซล 1,200 เมกะวัตต์ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี ลงทุนแค่ 900 ล้าน แต่เขื่อนปากแบ่งลงทุนมากกว่า ใช้เวลาก่อสร้าง 5-6 ปี เรามีทางเลือก นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าทางเลือกของการพัฒนาพลังงาน จะเห็นว่าเขื่อนไม่คุ้มค่า ทางบริษัทเองก็ควรต้องเปลี่ยนแปลงมุมมองด้วย หากเราต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติต้องเลือกทางที่ดีที่สุด วิธีการสุ่มตัวอย่างภาคสนามยังไม่เป็นมาตฐานสากลจึงไม่สามารถสะท้อนความชุกชุมของปลาได้ และยังไม่มีการสุ่มปลาวัยอ่อนและวัยรุ่น นอกจากนี้ยังไม่มีการประเมินผลกระทบกับกลุ่มประมงอาชีพโดยเฉพาะในประเทศไทย นี่คือสิ่งที่เป็นห่วงของภาครัฐไทยซึ่งถือว่ายังเป็นปัญหาอยู่มาก
นายจาง เจ้า รองผู้จัดการบริษัทต้าถัง กล่าวว่า ข้อสงสัยที่ทุกท่านเสนอมา พวกเราจะปรึกษากันภายในเพื่อหามาตรการแก้ไขที่ถูกต้องและเหมาะสมเพื่อแก้ไขสิ่งที่ทุกคนเป็นห่วงกังวล เชื่อว่าการพัฒนาโครงการจะให้ประโยชน์มากที่สุดกับฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง
นายชยันต์ กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า เป็นโอกาสดีที่มีแอลเอ็มซี มาทบทวนลุ่มแม่น้ำโขงทั้งสายเพื่อหาทางเลือกในการแสวงหาไฟฟ้า เราต้องมีการทบทวนพัฒนาให้ดีขึ้นและไม่ควรพูดแค่โครงการเขื่อนปากแบ่งอย่างเดียว แต่เขื่อนอื่นๆ เช่นไซยะบุรี จิงหง รวมไปถึงโครงการขนาดใหญ่ที่ลงมาในแม่น้ำโขง และเรื่องธรรมาภิบาลเป็นเรื่องสำคัญที่ใช้น้ำอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมาเอ็มอาร์ซีมีข้อจำกัดในการทำงาน ดังนั้นองค์กรใหม่จึงน่าจะมีประโยชน์เพราะมีจีนเข้ามาด้วย