กนอ. เล็งหาซื้อที่ดิน 3 หมื่นไร่ ขึ้นนิคมอุตฯใหม่ รองรับ EEC (15 ม.ค. 61)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 15 มกราคม 2561
กนอ.เล็งหาซื้อที่ดิน 3 หมื่นไร่ ขึ้นนิคมอุตฯใหม่รองรับEEC


Smart park - การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เตรียมงบประมาณ1.3 หมื่นล้านบาท พัฒนา 2 โครงการใหญ่ในนิคมฯมาบตาพุด ได้แก่ โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park และพัฒนาท่าเรือฯมาบตาพุด เฟส 3

กนอ.เล็งหาพื้นที่เฉียด 3 หมื่นไร่ สร้างนิคมฯใหม่ รับ EEC พร้อมทุ่ม 1.3 หมื่นล้าน พัฒนานิคมฯ สมาร์ทปาร์ค – ท่าเรือฯ มาบตาพุด เฟส 3

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ในปี 2561 มีแนวโน้มนักลงทุนให้ความสนใจลงทุนและการขยายธุรกิจในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มาบตาพุด โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ รวมทั้งอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ดังนั้น กนอ.จึงได้เตรียมจัดสรรงบประมาณกว่า 13,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนา 2 โครงการใหญ่ ได้แก่ โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park ในเขตธุรกิจอุตสาหกรรมของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง บนพื้นที่ 1,500.97 ไร่ งบประมาณการลงทุน 2,097 ล้านบาท เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ตามเป้าหมายของรัฐบาล เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิตและเป็นมิตรต่อสิ่ง แวดล้อม ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงการอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ และออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน เบื้องต้นพร้อมการจัดทำร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ (EIA) คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2563

ส่วนอีกโครงการคือโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่ง กนอ.ได้เตรียมพื้นที่พัฒนาท่าเทียบเรือไว้ประมาณ 1,000 ไร่ เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการก๊าซธรรมชาติ (LNG) ที่จะมีการนำเข้าประมาณ 16 – 32 ล้านตัน/ปีในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า พร้อมรองรับการขยายตัวด้านการขนส่งสินค้าเหลวและก๊าซธรรมชาติที่เป็น วัตถุดิบสำคัญของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นิคมฯ และบริเวณใกล้เคียง เบื้องต้นจะใช้เงินลงทุนประมาณ 11,000 ล้านบาท และพร้อมที่จะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและ การพัฒนาท่าเทียบเรือได้ในปี 2561 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 และเมื่อท่าเรือฯ เปิดดำเนินการจะสามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าได้เพิ่มมากอีกประมาณ 20 ล้านตันต่อปี

นอกจากนี้ กนอ. มีพื้นที่พร้อมรองรับการลงทุนใน EEC แล้วประมาณ 24,000ไร่ และเตรียมแผนการสรรหาพื้นที่เพิ่มเติมสำหรับสร้างนิคมอุตสาหกรรมใหม่อีก ประมาณ 16,000 ไร่ นอกจากนี้ยังมีแผนจะสรรหาพื้นที่เพื่อการจัดตั้งสวนอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรม และอื่น ๆ อีกประมาณ 10,000 ไร่ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยรองรับความต้องการของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในระดับ ต่าง ๆ ในพื้นที่ดังกล่าวทั้งในปีนี้และปีอื่นได้อย่างเหมาะสม