ดี-คิดส์ เปิดโมเดลธุรกิจ “ขยะ 4.0” นำร่องภูเก็ต เปิดแอปฯ แจ้งจุดขยะล้นผ่านจอมือถือ (16 ม.ค. 61)
MGR Online 16 มกราคม 2561
ดี-คิดส์ เปิดโมเดลธุรกิจ “ขยะ 4.0” นำร่องภูเก็ต เปิดแอปฯ แจ้งจุดขยะล้นผ่านจอมือถือ
เฉลิมรัตน์ ดิลกแพทย์ เจ้าของธุรกิจบริการเก็บขยะ ดี-คิดส์
ในยุคนี้อะไรก็ต้อง 4.0 ไม่เว้นแม้แต่ขยะที่ต้องมีการนำเทคโนโลยีมากำกับควบคุมให้อยู่ในระบบระเบียบ โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่และเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญอย่าง จ.ภูเก็ต ที่หาดป่าตอง ปริมาณขยะในแต่ละวันมีเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิด “ธุรกิจบริการเก็บขยะขึ้น” ที่มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เรื่องขยะเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกสำหรับทุกพื้นที่ ตราบใดที่ผู้คนยังขาดวินัย ประกอบกับปริมาณขยะที่มีเป็นจำนวนมากทำให้จัดเก็บได้ยาก ทำให้หนึ่งในผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ได้รับสัมปทานในการเก็บขยะคิดหาวิธีในการทำงานที่ง่ายขึ้น และแก้ปัญหาเรื่องขยะเกลื่อนกลาดที่หาดป่าตอง ด้วยการนำเทคโนโลยี 4.0 มาปรับใช้ เฉลิมรัตน์ ดิลกแพทย์ กรรมการบริษัท “ดี-คิดส์” จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจบริการเก็บขยะในหาดป่าตอง ฉายภาพแนวคิดในการนำเทคโนโลยีมาใช้กับขยะครั้งแรกในไทย ว่า เดิม บริษัท “ดี-คิดส์” ทำงานด้านการศึกษาคอมพิวเตอร์ และเป็นครั้งแรกที่ก้าวสู่ธุรกิจบริการรับเก็บขยะ
“หลังจากที่บริษัทฯ ได้รับสัมปทานในการจัดเก็บขยะในพื้นที่ป่าตองก็พบปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะปริมาณขยะที่มีเป็นจำนวนมาก เก็บไม่หมด ทั้งๆ ที่เพิ่งให้รถเก็บขยะเข้าไปเก็บ แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงขยะก็กลับมาล้นถังอีก ทำให้เป็นภาพที่ไม่น่ามองสำหรับเมืองท่องเที่ยวที่ทั่วโลกรู้จักเป็นอย่างดีอย่างหาดป่าตอง ดังนั้นเราจึงคิดหาวิธีการทำงานที่ง่ายด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้”
เป็นที่รู้กันว่าป่าตองเป็นเมืองที่ไม่หลับใหล ขยะมีตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้นการศึกษาข้อมูลนักท่องเที่ยวจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเธอใช้เวลาเก็บข้อมูลนานพอสมควร เป็นการเรียนรู้เองทุกอย่าง จนพบว่าถนนเส้นที่มีสถานบันเทิงควรไปเก็บช่วงหลังตีสอง หรือแถวชายหาดควรเก็บแต่เช้าตรู่ ทำให้จัดการระบบเวรและเส้นทางของรถขยะได้แม่นยำและเหมาะสมกับแต่ละสถานที่ พร้อมพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันให้ชาวป่าตองมีส่วนร่วมเป็นหูเป็นตา แจ้งปัญหาเรื่องขยะล้นถังด้วยวิธีง่ายๆ ผ่านหน้าจอมือถือ โดยให้ผู้ที่พบเห็นสามารถถ่ายรูปขยะ แจ้งจุดที่พบเห็น เพื่อการจัดเก็บแบบเร่งด่วนได้
โดยระบบจัดเก็บขยะนี้ ประกอบด้วย 1. ถังขยะอัจฉริยะติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ เพื่อตรวจสอบการวัดปริมาณขยะและสิ่งแวดล้อม ทั้งอุณหภูมิและความชื้น 2. แอปพลิเคชันมือถือ “Patong Report” ช่องทางการร้องเรียนใหม่ที่เปิดโอกาสให้ “ประชาชน” ทุกคนสามารถแจ้งจุดขยะและให้เจ้าหน้าที่ให้มาเก็บขยะได้ทันที 3. รถเก็บขยะอัจฉริยะติดตั้ง GNSS หรือ GPS ความละเอียดสูง สามารถเช็กตรวจสอบตำแหน่งพฤติกรรมการขับขี่ การทำงานและการบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 4. ระบบบริหารจัดการขยะ (Dashboard) ซึ่งเป็น Web Application เพิ่มความสามารถในการบริหารจัดการขยะ บริหารเส้นทางการจัดเก็บขยะ ตั้งแต่การรวบรวม นำเสนอข้อมูลปริมาณขยะทั้งจากเซ็นเซอร์ และ PRMA การบริการขยะ รวมไปถึงในอนาคตกำลังจะปรับปรุงด้านการค้นหาเส้นทางการจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพ
หลังจากที่นำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการเก็บขยะ พร้อมรณรงค์ให้มีการคัดแยกขยะ และการจัดเก็บขยะโดยแบ่งแยกประเภทขยะ เช่น ให้รถ 1 คันไปเก็บเฉพาะเศษผัก ลูกมะพร้าวอ่อน หรือขยะที่เป็นของสด ก็สามารถลดปริมาณขยะไปได้ถึง 30% จากปริมาณขยะที่มีในแต่ละวันประมาณ 150 ตัน ซึ่งขยะที่เป็นของสดจะถูกนำไปทำปุ๋ยต่อไป
จากปริมาณขยะในพื้นที่ป่าตองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้จำนวนรถเก็บขยะต้องเพิ่มตามไปด้วย ซึ่งนั่นหมายถึงการลงทุน บริษัทฯ จึงได้ดำเนินการขอกู้กับทาง SME Development Bank ประมาณ 10 ล้านเพื่อซื้อรถเพิ่มอีก 4 คัน โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีรถขนส่งขยะอยู่ 8 คัน พร้อมจะขยายเพิ่มเป็น 15 คันและเครื่องจักรที่จำเป็นเพื่อมาเปลี่ยนภาพลักษณ์รถขยะต่อไป ซึ่งการที่เธอเลือกขอสินเชื่อจาก SME Development Bank เพราะเป็นธนาคารที่พร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเต็มที่ ขณะที่ในเรื่องของดอกเบี้ยก็ต่ำกว่าธนาคาร และยังมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษาแนะนำในการดำเนินธุรกิจด้วย
ไหนๆ การให้บริการเก็บขยะก็ถือเป็นการทำงานเพื่อสังคมในทางอ้อมแล้ว คุณเฉลิมรัตน์ จึงผุดไอเดีย “ขยะต้องมีค่า” ด้วยการนำเศษอาหารมาทำเป็นปุ๋ยขาย พร้อมทั้งเเจกจ่ายประชาชนเเล้ว แต่ก็ยังมีปุ๋ยเหลือจำนวนมาก จึงนำมาสู่ความร่วมมือเพื่อสิ่งเเวดล้อมกับเทศบาลเมืองป่าตอง เเละชาวบ้านชุมชนบ้านมอญ ใน “โครงการผักปลอดสารพิษ” โดยมีการเช่าพื้นที่กว่า 11 ไร่ปลูกผักปลอดสารพิษนานาชนิดขึ้นมา ภายใต้การดูเเลของประชาชนทั้งหมด ที่ให้ประชาชนสามารถนำขวดพลาสติกมาแลกเป็นผักเพื่อนำกลับไปรับประทานที่บ้านได้ เช่น ผักคะน้า ใบกะเพรา กะหล่ำปลี กวางตุ้ง ผักบุ้ง มะเขือเทศ มะระ โหระพา แตงกวา บวบ ถั่วพลู ใบแมงลัก กระเจี๊ยบพม่า เสาวรส พริกขี้หนู และผักสลัดออร์แกนิก เป็นต้น ซึ่งเป็นการปลูกฝังให้ประชาชนแยกขยะและเห็นคุณค่าของขยะรีไซเคิลมากขึ้น เป็นการบริหารจัดการกันเองของชาวบ้าน
แต่อย่างไรก็ตามปริมาณขยะจะลดลงได้การรีไซเคิลไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด แต่จิตสำนึกของผู้คนนั้นจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นทางออกปัญหาขยะล้นเมืองได้ตรงจุดที่สุด
ถึงขยะอัจฉริยะ มีระบบเซ็นเซอร์
เตรียมนำขยะสดไปทำปุ๋ยเพื่อปลูกผัก
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.)
แปลงปลูกผัก ที่ใช้ปุ๋ยจากขยะสด
ผักปลอดสารพิษ ให้ชาวบ้านนำขวดพลาสติกมาแลกแล้วนำผักกลับไปรับประทานที่บ้าน
ให้ชาวบ้านเป็นผู้ควบคุมดูแล และบริหารจัดการ