ทช. สำรวจปะการังเกาะมันใน พบโรคเนื้องอกสีชมพูประปราย (14 ม.ค. 61)

มติชนออนไลน์ 14 มกราคม 2561
ทช.สำรวจปะการังเกาะมันใน พบโรคเนื้องอกสีชมพูประปราย 

วันที่ 14 มกราคม นายศุภวัตร กาญจน์อติเรกลาภ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ศวทอ.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยเปิดเผยว่า เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ส่งเจ้าหน้า เข้าสำรวจสถานภาพแนวปะการัง ตัวอ่อนปะการัง โรคปลา และสัตว์ในแนวปะการัง บริเวณหาดหน้าบ้าน เกาะมันใน จ.ระยอง พบประชาคมปะการังในสถานี จัดอยู่ในสถานภาพสมบูรณ์ดีมาก พบปะการังโขด ปะการังสมองร่องยาว และปะการังลายดอกไม้ เป็นปะการังชนิดเด่น พบปะการังช่องเหลี่ยม และปะการังโขด เป็นปะการังวัยอ่อน ชนิดเด่น

นายศุภวัตรกล่าวว่า ในสถานีพบปะการังที่ปรากฏโรค โดยพบลักษณะการเกิดโรคบนโคโลนี ปะการัง พบ 4 รูปแบบ ได้แก่ โรคเนื้องอกสีชมพู โรคที่เกิดแล้วปรากฏเม็ดสี โรคที่เกิดจากการกัดแทะของสัตว์ที่อาศัยในแนวปะการัง และโรคที่ปรากฏเป็นการทับถมของตะกอนในบางส่วนของโคโลนี อาการที่พบมากที่สุด คือ โรคเนื้องอกสีชมพู สำหรับการสำรวจชนิดปลาแนวปะการัง พบปลาชนิดเด่น คือ กลุ่มปลาสลิดหิน ได้แก่ ปลาสลิดหินเทากางพริ้ว รองลงมาคือ Family กลุ่มปลาบู่ลูกดอก กลุ่มปลานกขุนทอง และกลุ่มปลาอมไข่ ปลาอมไข่แถบ สัตว์ในแนวปะการัง พบเม่นดำหนามยาว หอยแมลงภู่ปะการัง และหนอนท่อ เป็นสัตว์ชนิดเด่นในสถานี

“สรุปสาเหตุของความเสื่อมโทรมของแนวปะการัง ดังนี้ 1.สาเหตุจากธรรมชาติ เช่น ปะการังฟอกขาว แต่พบว่าแนวปะการังหลายบริเวณกำลังมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง 2.สาเหตุจากมนุษย์ ซึ่งแนวปะการังแต่ละบริเวณจะได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์แตกต่างกันไป เช่น กิจกรรมท่องเที่ยวรูปแบบต่างๆ เช่น การเหยียบย่ำของนักท่องเที่ยว การทิ้งสมอเรือในแนวปะการัง การให้อาหารปลาในแนวปะการัง ซึ่งมักพบในบริเวณที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหนาแน่น การให้อาหารปลาในแนวปะการัง นอกจากจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของปลาในแนวปะการังบางชนิดแล้ว ยังมีส่วนให้ปริมาณสาหร่ายและศัตรูตามธรรมชาติของปะการังมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องถึงสถานภาพและการฟื้นตัวของแนวปะการังได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมของมนุษย์บริเวณชายฝั่ง เช่น การปล่อยน้ำเสียและทิ้งขยะบริเวณชายฝั่ง การเดินเหยียบแนวปะการังเพื่อหาสัตว์น้ำในบริเวณแนวปะการังใกล้ชุมชนชายฝั่ง ไปจนถึงการทำการประมงโดยใช้อวนลากต่างๆ ที่อาจมีทั้งการลากในแนวปะการังโดยตรง หรือขยะที่เป็นเศษอวนซึ่งตกค้างอยู่ในแนวปะการัง” นายศุภวัตรกล่าว