สถาบันการเงินโลกเลิกอุดหนุนธุรกิจ ‘ฟอสซิล’ เอกชนผนึกกำลังกดดันอุตสาหกรรมโลกร้อน (11 ม.ค. 61)
Green News TV 11 มกราคม 2561
สถาบันการเงินโลกเลิกอุดหนุนธุรกิจ ‘ฟอสซิล’ เอกชนผนึกกำลังกดดันอุตสาหกรรมโลกร้อน
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ว่าธนาคารโลก (The World Bank) ได้ประกาศงดการสนับสนุนเงินทุนแก่อุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ภายในปี 2562
การประกาศครั้งนี้เกิดขึ้นในการประชุม One Planet Summit in Paris ณ พระราชวังเอลิเซ่ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีผู้นำระดับโลกหลายคนเข้าร่วม เช่น นายจิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลก, นายเอมานูเอล มาคร็อง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส, และนายอันโตนีโอ กูเตียเรซ เลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นการพัฒนาที่ก้าวหน้าอีกขั้นของเหล่าผู้นำโลก ในการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ก่อนหน้านี้นายมาครง กล่าวกับผู้นำธุรกิจและผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่หลายสิบคนในการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ (COP23) เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ว่าต้องมีการแก้ไขอุปสรรคในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
อุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่งคืออุตสาหกรรมฟอซซิล ซึ่งยังคงดำเนินการล็อบบี้รัฐบาลในหลายประเทศ เพื่อผ่อนคลายมาตรการการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งที่เป็นตัวการสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างน้อยตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน นายมาครง ยังได้เรียกร้องต่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ต้องการถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสว่า ขณะนี้เรากำลังอยู่ในช่วงสงครามเพื่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้
คำกล่าวดังกล่าวเป็นการกล่าวต่อหน้าผู้นำประเทศกว่า 50 ประเทศที่นั่งเป็นสักขีพยาน อาทิ นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร, นายมารีโน ราฮอย นายกรัฐมนตรีสเปน, และนายเอนริเก้ เนโต้ ประธานาธิบดีเม็กซิโก
นายสตีเฟ่น เคิซแมน ผู้ก่อตั้งองค์กร Oil Change International ซึ่งทำการรณรงค์การลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ได้ออกมาแสดงความยินดีต่อก้าวที่สำคัญครั้งนี้ว่า ถึงเวลาแล้วที่สถาบันการเงิน กลุ่มนักลงทุนในประเทศต่างๆ และบุคคลทั่วไป จะต้องเดินตามข้อตกลงปารีสเพื่อหยุดการจัดหาเชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคต
—– ธนาคาร-เอกชน ลดการสนับสนุนอุตสาหกรรมโลกร้อน —–
ธนาคารและบริษัทใหญ่ในประเทศฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศซึ่งมีธนาคารและบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งตั้งอยู่ ต่างออกมาปฏิญาณว่าจะงดการสนับสนุนอุตสาหกรรมฟอสซิลเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการลดโลกร้อนเช่นกัน
การตอบรับของภาคธุรกิจเกิดขึ้นทันทีหลังการประกาศของธนาคารโลก ผู้บริหารของบริษัทประกันภัยสัญชาติฝรั่งเศส ที่ชื่อ “Axa” กล่าวว่า บริษัทจะเร่งผันเงินรายได้จำนวน 2,500 ล้านยูโร (9.6 หมื่นล้านบาท) จากบริษัทที่ทำประกันกับตน โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทที่ทำรายได้จากถ่านหินเป็นสัดส่วนถึง 30% ของรายได้แต่ละบริษัท
ขณะที่ธนาคาร ING ซึ่งเป็นธนาคารข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ประกาศแผนยุติการให้เงินทุนสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินภายในปี 2568 แต่ก็กลายเป็นบริษัทแรกที่ต้องเผชิญกับการตรวจสอบจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เนื่องจากมีรายงายว่าธนาคารไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในการลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
นอกจากนี้มีนักลงทุนจากทั่วโลกกว่า 200 ราย รวมถึงธนาคารรายใหญ่อย่าง HSBC ที่ต่างทะยอยออกมาเปิดตัวแคมเปญรณรงค์ เพื่อสร้างแรงกดดันต่อบริษัทผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลกเช่น บริษัทขุดเจาะน้ำมัน BP, บริษัทผลิตเครื่องบิน Airbus บริษัทผลิตรถยนต์ Volkswagen และ บริษัทด้านพลังงานและเหมืองแร่ Glencore ให้เปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
การเปลี่ยนแปลงสำคัญครั้งนี้เกิดขึ้นภายในเวลาเพียง 2 ปี หลังจากที่กว่า 195 ประเทศทั่วโลกร่วมลงนามในข้อตกลงปารีสในปี 2558 ซึ่งวางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นสูงกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม
มีการประเมินกันว่าหลังจากธนาคารโลกได้ประกาศยุติเงินอุดหนุนพลังงานฟอสซิลครั้งนี้ อาจจะทำให้ทุนที่เคยหมุนเวียนนับพันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ต้องถูกยกเลิกการสนับสนุนในอุตสาหกรรมจำพวกถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ
—– เร่งตรวจสอบผู้มีเอี่ยวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ —–
ไม่เพียงแค่ ธนาคารยักษ์ใหญ่ของเนเธอร์แลนด์อย่าง ING ที่กลายเป็นบริษัทแรกที่ได้รับการตรวจสอบจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) แต่ยังมีข้อร้องเรียนจำนวนมากต่อสถาบันการเงินและบริษัทขนาดใหญ่อีกหลายบริษัทที่อาจจะถูกตรวจสอบเร็วๆ นี้
การตรวจสอบนี้เกิดจากข้อร้องเรียนขององค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมหลายกลุ่ม รวมทั้งกรีนพีซและออกซ์แฟม ที่เรียกร้องให้ธนาคารทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำธุรกิจ และตรวจสอบมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทที่ทำการกู้ยืมเงิน
ย้อนไปก่อนหน้านี้ OECD ซึ่งมีสมาชิกหลายประเทศรวมถึงสหรัฐอเมริกานี้ เคยปฏิเสธที่จะพิจารณาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการตรวจสอบบริษัทที่อาจเพิกเฉยต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เช่นในกรณีของ Volkswagen ในประเทศเยอรมนี ซึ่งถูกภาคประชาสังคมร้องเรียนในปี 2550 ว่ามีการผลิตรถยนต์ฟอซซิลโดยละเลยมาตรการการลดโลกร้อน และยังถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการล็อบบี้รัฐบาลในนโยบาลสันบสันุนพลังงานฟอซซิล และให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หรืออีกกรณี ซึ่งกรีนพีซได้ร้องเรียนบริษัทผลิตไฟฟ้าของรัฐบาลสวีเดน Vattenfall ในปี 2552 โดยกล่าวหาว่าบริษัทได้ละเมิดแนวทางการรักษาสิ่งแวดล้อมและคุ้มครองผู้บริโภคของ OECD โดยสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และล็อบบี้รัฐบาลเยอรมันนีให้สนับสนุนพลังงานฟอซซิล
แม้ว่าผลในท้ายที่สุด OECD จะตีตกข้อร้องเรียนเหล่านี้ด้วยเหตุผลว่าอยู่นอกอำนาจหน้าที่ แต่ในปัจจุบัน เมื่อ OECD มีแนวโน้มเข้ามาเป็นผู้เล่นหลักในการตรวจสอบสถาบันที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฟอซซิล จึงมีส่วนในการสร้างแรงกดดันต่อธนาคารและบริษัทขนาดใหญ่ที่ยังละเลยข้อตกลงปารีส
นายลอเรน คอมแพร์ กรรมการการผู้จัดการบริษัทการจัดการหลักทรัพย์บอสตัน ซึ่งเป็นบริษัท ด้านการลงทุนที่ติดตามความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมธนาคารในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า เรายังไม่เคยเห็นธนาคารใดที่มีกลยุทธ์ที่ที่ดีพอในตั้งแต่ระดับนโยบายลงมา ที่แสดงให้เห็นถึงระยะเวลาและเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์
อย่างไรก็ตาม World Economic Forum ระบุว่ามีสัญญาณการเริ่มต้นสนับสนุนมาตรการในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก เช่น อินเดีย อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และนอร์เวย์ได้ประกาศแผนการที่จะยุติการขายรถยนต์ดีเซลและเบนซินในอนาคตอันใกล้
ขณะที่จีนและเยอรมนีเองคาดว่าจะปฏิบัติตามแนวทางเดียวกัน สัญญานที่ดีดังกล่าวนี้เองทำให้ Financial Times วารสารด้านการเงินการคลังสำคัญของโลก ออกมาระบุว่ากองทุนหรือสถาบันการลงทุนที่ปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม “มีแนวโน้มที่จะมีทิศทางการประกอบการที่ดีกว่าสถาบันที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานอย่างมีนัยสำคัญ”
นั่นแสดงให้เห็นการตื่นตัวของกระแสโลกต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะมีผลให้ธุรกิจฟอซซิลอาจไม่สามารถอยู่ยงคงกระพันได้อีกต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง
ธนาคาร-ภาคเอกชนลดการสนับสนุนอุตสาหกรรมก่อโลกร้อน: http://www.firstpost.com/world/banks-companies-vow-to-move-away-from-fossil-fuels-as-world-leaders-meet-in-paris-to-tackle-climate-change-4255879.html และ https://www.ft.com/content/e12a6f68-de7c-11e7-a8a4-0a1e63a52f9c
การตรวจสอบบริษัทมีเอี่ยวอุตสาหกรรมฟอซซิลและสร้างปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ: https://www.climateliabilitynews.org/2017/12/08/netherlands-ing-bank-climate-risks-oecd/