สนพ. รื้อใหญ่แผนไฟฟ้า PDP งัดมาตรา44 แก้สายส่งล่าช้า (11 ม.ค. 61)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 11 มกราคม 2561
สนพ.รื้อใหญ่แผนไฟฟ้า PDP งัดมาตรา44 แก้สายส่งล่าช้า
สนพ.รื้อใหญ่ แผน PDP หลังปริมาณสำรองไฟฟ้าพุ่ง 30% เหตุ GDP พลาดเป้า ราคาน้ำมันร่วง ทั้งเผชิญความเสี่ยงใหม่ ๆ โครงการสายส่งไฟฟ้า 500 KV ของ กฟผ.เสร็จไม่ทัน เตรียมขอใช้ ม.44 แก้ปัญหาที่ดินปักเสาไฟแรงสูงพาดผ่าน
ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศ หรือ reserve margin ได้ถูกตั้งคำถามมาโดยตลอดว่า ปริมาณสำรองที่ระดับใดจึงจะมีความเหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งหมายถึงไม่เสี่ยงที่จะเกิดไฟตกดับ และไม่เป็นการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่มากเกินไปจนส่งผลกระทบกับราคาค่าไฟฟ้าที่จะเรียกเก็บจากผู้บริโภค โดยก่อนหน้านี้เป็นที่เข้าใจกันว่า ปริมาณสำรองไฟฟ้าถูกกำหนดไว้ที่ร้อยละ 15 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak) ทว่าสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ปรากฏปริมาณสำรองไฟฟ้าขยับเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 30 จากปัจจัยการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ Power Development Plan 2558-2579 หรือ PDP ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงจากหลายปัจจัย ในขณะเดียวกันประเทศไทยต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมีความ “เสี่ยง” ใหม่ ๆ เกิดขึ้นที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านพลังงาน
ทั้งหมดนี้มีผลทำให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เตรียม “ทบทวน” ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศเสียใหม่ ด้วยการเพิ่มความเสี่ยงที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาเป็นโจทย์สำคัญ อันจะนำไปสู่คำตอบที่ว่า ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศไทยควรอยู่ที่ระดับใดจึงจะเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
สำรองไฟพุ่งเกิน 30%
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ สนพ.กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาเชิงลึกถึงปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้กำหนดปริมาณสำรองไฟฟ้ามีค่ามาตรฐานอยู่ที่ร้อยละ 15 ขณะที่ปริมาณสำรองที่เกิดขึ้นจริงในขณะนี้มากกว่าร้อยละ 30
โดยการศึกษาเชิงลึกครั้งนี้จะต้องนำทั้งความเสี่ยงที่เคยเกิดขึ้น กับความเสี่ยงที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น มาเป็นสมมุติฐานในการศึกษาด้วย ยกตัวอย่าง 1) กรณีที่ท่อก๊าซธรรมชาติเส้นหลักจากอ่าวไทยเกิดปัญหาและไม่สามารถส่งก๊าซได้ กับ 2) กรณีที่ท่าเรือและคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG terminal) ไม่สามารถจัดส่งก๊าซได้ โดยหากทั้ง 2 กรณีเกิดขึ้นจะกระทบต่อภาพรวมระบบไฟฟ้าของประเทศอย่างไรเนื่องจากระบบสายส่งไฟฟ้าของประเทศเป็นโครงข่ายที่เชื่อมโยงกันในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ก๊าซจากประเทศเมียนมาต้องหยุดซ่อมแท่นผลิต หรือระบบท่อมีปัญหาอย่างกะทันหัน ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ โรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันตกรวม 6,000 เมกะวัตต์ (MW) ที่ใช้ก๊าซจากเมียนมาเป็นเชื้อเพลิง
“กำลังผลิตไฟจะหายไปทันที” ส่วนระบบสายส่งที่เชื่อมโยงกันจะเกิดการกระชากและเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟฟ้าดับนั้นหมายความว่า กำลังผลิตไฟฟ้าในระบบหายไปเป็นปริมาณเท่าไหร่ ก็ควรจะต้องมีกำลังผลิตในระดับเดียวกันเข้ามาทดแทน
“ก่อนหน้านี้ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เช่น ก๊าซจากแหล่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ก๊าซจากเมียนมา เช่น เยดานาและเยตากุน หรือจากแหล่งพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซีย (JDA) มีปัญหาต้องหยุดซ่อม เรารู้ล่วงหน้าและวางแผนตั้งรับได้ แต่ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นกะทันหันจะต้องทำอย่างไร เราจึงต้องลอง assume ดูว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ภาพรวมของประเทศจะอยู่ได้หรือไม่ บนพื้นฐานของสำรองไฟฟ้าที่ร้อยละ 15 ก่อน ถ้าดูแล้วอยู่ไม่ได้ ก็ต้องดูว่าปริมาณสำรองที่สามารถรองรับสถานการณ์ปัญหาต่าง ๆ ได้ควรอยู่ที่ระดับใด” ดร.ทวารัฐกล่าว
ห่วงสายส่งล่าช้า
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน โดยเฉพาะช่วงรอยต่อสำคัญในปี 2564 ที่นอกเหนือจากการต้องเร่งเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมสำคัญ 2 แหล่ง คือ แหล่งเอราวัณ-บงกช ซึ่งจะต้องกำหนดให้ผู้ชนะประมูลต้องรักษาระดับการผลิตก๊าซไว้ที่ปริมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน กับความเสี่ยงในกรณีของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ที่ไม่สามารถเข้าระบบได้ทันตามกำหนดเวลา (2564) แล้ว ขณะนี้ยังมีความเสี่ยง “เพิ่มขึ้น” มาอีกอย่าง คือ การพัฒนาโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 KV ทั่วประเทศ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ “คาดการณ์ว่ามันจะล่าช้าออกไปถึง 15 โครงการ” เนื่องจากการปักเสาพาดสายจะต้องผ่านที่ดินของหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่าไม้ ป่าอนุรักษ์ รวมไปถึงพื้นที่อุทยานแห่งชาติ “ทำให้ต้องใช้เวลาเพื่อขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ปักเสาไฟฟ้าแรงสูง”
ทั้งนี้ มีพื้นที่ที่ค่อนข้างกังวล คือ ระบบสายส่งไฟฟ้าในภาคใต้ ที่จะต้องส่งกระแสไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปเสริมความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่โรงไฟฟ้าในพื้นที่อย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ “ยังไม่สามารถก่อสร้างได้ทันในปี 2564” เท่ากับว่าพื้นที่ภาคใต้ค่อนข้างเสี่ยงไฟฟ้าดับได้
“ในเรื่องของการพัฒนาระบบสายส่ง สนพ.ได้ให้ กฟผ.ทำรายละเอียดสรุปถึงปัญหาในการใช้ที่ดินที่จะตั้งเสาไฟฟ้าทั้งหมดและจะนำเสนอปัญหาต่อ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขต่อไป โดยโครงการสายส่งทั้ง 15 โครงการ จะต้องมาดูว่ามีกฎหมายหรือระเบียบใดเกี่ยวข้องในพื้นที่ที่จะต้องใช้บ้าง หากจะขอใช้พื้นที่จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขใด เพราะไม่ได้หมายความว่า สายส่งไฟฟ้าของ กฟผ.จะได้รับการยกเว้นทุกอย่าง ตรงนี้อาจจะต้องใช้มาตรา 44 เพื่อให้ กฟผ.สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นคู่ขนาน หรืออย่างน้อยคือเข้าไปสำรวจในพื้นที่ได้” ดร.ทวารัฐกล่าว
ล่าสุดมีรายงานข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้ามาว่า ได้สรุปรายละเอียดปัญหาการขยายสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 KV ในพื้นที่ของหน่วยงานรัฐไว้แล้ว และจะส่งให้กระทรวงพลังงานในสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นต้องรอให้ รมว.พลังงาน เสนอต่อ ครม.ให้พิจารณาหาแนวทางแก้ไข “ซึ่งตรงนี้อาจต้องใช้มาตรา 44 แก้ไขปัญหาสายส่งให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น” โดยในทางทฤษฎีการขยายสายส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่จะใช้เวลา 3-4 ปี แต่ในทางปฎิบัติจริงต้องใช้เวลาอย่างน้อยที่ 7-8 ปีขึ้นไป ซึ่งการขยายสายส่งทั้ง 15 โครงการ จะครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ กฟผ.ต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งตามแผนดำเนินการขยายสายส่งดังกล่าวจะต้องทยอยแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป