'นาซา' พบหลักฐานเป็นครั้งแรกว่าชั้นโอโซนกำลังฟื้นตัวเพราะการสั่งห้ามสาร 'ซีเอฟซี' (13 ม.ค. 61)
ประชาไท 13 มกราคม 2561
'นาซา' พบหลักฐานเป็นครั้งแรกว่าชั้นโอโซนกำลังฟื้นตัวเพราะการสั่งห้ามสาร 'ซีเอฟซี'
ที่มาภาพประกอบ: NASA/Reid Wiseman (@astro_reid)
นาซาอาศัยข้อมูลจากดาวเทียมออราที่เก็บข้อมูลของชั้นโอโซนพบว่าปริมาณการทำลายชั้นโอโซนลดลงราวร้อยละ 20 ในช่วงประมาณสิบกว่าปีที่ผ่านมา โดยจากการวัดผลทางเคมีในชั้นโอโซนพบว่านโยบายห้ามใช้สารซีเอฟซีในระดับโลกสามารถลดการทำลายโอโซนได้จริง ถือเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ชิ้นแรกสำหรับกรณีนี้
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ 'นาซา' (NASA) เปิดเผยในเว็บไซต์ของตนเองว่าชั้นโอโซนของโลกกำลังฟื้นตัวซึ่งเป็นการค้นพบหลักฐานเชิงประจักษ์ของปรากฏกาณ์นี้เป็นครั้งแรก
ชั้นโอโซนเป็นส่วนหนึ่งในชั้นบรรยากาศของโลกที่มีก๊าซโอโซนอยู่หนาแน่นช่วยดูดกลืนรังสีอัลตราไวโอเล็ตที่เป็นอันตรายต่อ โดยที่ผ่านมาการปล่อยมลพิษทางอากาศและสารเคมีบางประเภทของมนุษย์ส่งผลเสียในการทำลายชั้นโอโซน เช่น สารคลอโรฟลูโอโรคาร์บอนส์ หรือ ซีเอฟซี
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2561 เว็บไซต์ขององค์การนาซาเปิดเผยข้อมูลจากการสำรวจผ่านดาวเทียมระบุว่าปริมาณสารคลอรีนที่ทำงานโอโซนนั้นมีปริมาณลดลง ส่งผลทำให้ชั้นโอโซนถูกทำลายลดลง
นาซาระบุว่าเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าการออกมาตรการห้ามใช้สารซีเอฟซีในระดับนานาชาติตั้งแต่ช่วงราว 30 ปีที่แล้วได้ผล ทำให้ลดการทำลายโอโซนลงได้ราวร้อยละ 20 เมื่อวัดจากชั้นบรรยากาศในช่วงฤดูหนาวของแถบแอนตาร์กติกาเมื่อเทียบกับปี 2548 ซึ่งเป็นปีที่ตรวจวัดปริมาณโอโซนและคลอรีนครั้งแรกด้วยดาวเทียมออร่าของนาซา
ซูซาน สตรอห์น นักวิทยาศาสตร์ด้านชั้นบรรยากาศจากศูนย์การบินอวกาศก็อดเดิร์ดของนาซา ระบุว่า "พวกเราเห็นได้ชัดว่าปริมาณคลอรีนจากสารซีเอฟซีมีปริมาณลดลงในชั้นโอโซน ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการสลายตัวของโอโซนน้อยลง"
สารซีเอฟซีเมื่อขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศแล้วจะแตกตัวทางเคมีเมื่อได้รับรังสีอัลตราไวโอเล็ตจากแสงอาทิตย์ทำให้ปล่อยคลอรีนอะตอมออกมา และคลอรีนจะปทำลายโมเลกุลของโอโซน เมื่อโอโซนถูกทำลายก็จะส่งผลทำให้รังสีอัลตราไวโอเล็ตแผ่ลงมาที่โลกมากขึ้นเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกทั้งพืชและสัตว์ โดยส่งผลกระทบทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง โรคต้อกระจก และยับยั้งระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
หลังจากที่มีการค้นพบ 'รูรั่วโอโซนในทวีปแอนตาร์กติกา' (Antarctic Ozone Hole) ในปี 2528 หลายประเทศก็ลงนามใน 'พิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน' เพื่อมีการกำกับดูแลการใช้สารที่ทำลายโอโซน หลังจากนั้นจึงมีการแก้ไขพิธีสารสั่งให้มีการเลิกผลิตสารซีเอฟซีโดยสิ้นเชิง
จากที่ก่อนหน้านี้มีเพียงการวิจัยแบบวิเคราะห์เชิงสถิติเท่านั้นที่นำเสนอว่าการทำลายชั้นโอโซนลดลง แต่หลักฐานจากดาวเทียมของนาซาถือเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นว่าการทำลายชั้นโอโซนลดลงจริงและชี้ให้เห็นว่าสาเหตุมาจากมาตรการการสั่งห้ามสารซีเอฟซี
ข้อมูลของนาซาได้รับมาจากเครื่องมือตรวจวัดที่ชื่อว่า 'ไมโครเวฟลิมบ์ซาวน์เดอร์' (MLS) จากดาวเทียมออรา โดยเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2547 โดยมีการวัดในช่วงเดือน ก.ค. ถึงเดือน ก.ย. ทุกปี สาเหตุที่ต้องตรวจวัดช่วงนี้เพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงน้อยกว่าทำให้แยกแยะได้ว่าการสลายตัวของโอโซนมาจากคลอรีนจริง
พวกเขาพบว่าปริมาณการสูญเสียโอโซนลดลง โดยที่หลังจากคลอรีนทำลายก๊าซโอโซนที่มีอยู่จนเกือบหมดแล้วพวกมันจะทำปฏิกิริยากับมีเธนจนกลายเป็นกรดไฮโดรคลอริคที่จะถูกตรวจวัดโดย MLS ขณะเดียวกันก็ต้องตรวจวัดเทียบกับไนตรัสอ็อกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซที่คงอยู่ได้ยาวนานและทำตัวคล้ายซีเอฟซีส่วนใหญ่ในชั้นบรรยากาศสตราโตสเปียร์ ขณะที่ซีเอฟซีลดลงบนพื้นผิวโลกแต่ไนตรัสอ็อกไซด์บนชั้นบรรยากาศจะยังมีอยู่เท่าเดิม โดยเมื่อมีการเปรียบเทียบกับกรดไฮโครคลอริกแล้วจะพบว่าคลอรีนในชั้นโอโซนลดลงราวร้อยละ 0.8 ทุกปี รวมแล้วมีการสูญเสียโอโซนลดลงตั้งแต่ปี 2548-2559 ร้อยละ 20
สตรอห์นกล่าวว่าผลจากการวัดใกล้เคียงกับที่แบบจำลองพยากรณ์เอาไว้ว่าถ้าลดปริมาณคลอรีนจำนวนเท่านี้จะทำให้การสูญเสียโอโซนลดลงเท่าใด นั่นทำให้พวกเขามั่นใจว่าการลดระดับคลอรีนในชั้นโอโซนมาจากการหยุดใช้สารซีเอฟซี อย่างไรก็ตามพวกเขายังไม่แน่ใจว่ารูรั่วของโอโซนจะลดขนาดลงด้วยหรือไม่เพราะปัจจัยของรูรั่วนี้มาจากเรื่องอุณหภูมิซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละปีด้วย
ขณะที่กลุ่มนักวิจัยหวังว่ารูรั่วโอโซนในทวีปแอนตาร์กติกาจะฟื้นฟูได้หลังจากสารซีเอฟซีหมดไปแล้ว แต่แอนน์ ดักลาสส์ นักวิทยาศาสตร์จากก็อดเดิร์ดผู้ร่วมเขียนงานวิจัยในครั้งนี้ก็บอกว่าการที่ชั้นโอโซนจะฟื้นฟูตัวเองได้ทั้งหมดจะใช้เวลาหลายสิบปี อาจจะราวปี 2603 หรือ 2623 เพราะสารซีเอฟซีมีช่วงอายุอยู่ได้นานมากราว 50-100 ปี มันจึงจะอยู่ในชั้นบรรยากาศไปอีกนาน