ปะการังอันดามันเริ่มฟื้นตัวจากฟอกขาว (13 ม.ค. 61)
Thai PBS 13 มกราคม 2561
ข่าวดี ปะการัง" อันดามัน"เริ่มฟื้นตัวจากฟอกขาว
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยผลสำรวจล่าสุดแนวโน้มปะการังในฝั่งอันดามันเหนือ ที่เกิดภาวะฟอกขาวเสียหายอย่างรุนแรงในปี 2553 ถึงร้อยละ 90 เริ่มฟื้นตัวแล้ว แต่ยังต้องระวังกิจกรรมท่องเที่ยว และการพัฒนาชายฝั่่งที่เป็นสาเหตุทำให้เสื่อมโทรม
วันนี้ (13 ม.ค.2561) นายศุภวัตร กาญจน์อติเรกลาภ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ศวทอ.) กล่าวว่า ศูนย์วิจัยฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการเข้าสำรวจสถานภาพแนวปะการัง ตัวอ่อนปะการัง โรคปลา และสัตว์ในแนวปะการัง บริเวณหาดหน้าบ้าน เกาะมันใน จ.ระยอง พบประชาคมปะการังในสถานี จัดอยู่ในสถานภาพสมบูรณ์ดีมาก พบปะการังโขด ปะการังสมองร่องยาว และปะการังลายดอกไม้ เป็นปะการังชนิดเด่น พบปะการังช่องเหลี่ยม และปะการังโขด เป็นปะการังวัยอ่อน ชนิดเด่น
โดยพบลักษณะการเกิดโรคบนโคโลนี ปะการัง พบ 4 รูปแบบ ได้แก่ โรคเนื้องอกสีชมพู โรคที่เกิดแล้วปรากฏเม็ดสี โรคที่เกิดจากการกัดแทะของสัตว์ที่อาศัยในแนวปะการัง และโรคที่ปรากฏเป็นการทับถมของตะกอนในบางส่วนของโคโลนี อาการที่พบมากที่สุด คือ โรคเนื้องอกสีชมพู จากการสำรวจชนิดปลาแนวปะการัง ชนิดเด่น คือ กลุ่มปลาสลิดหิน ได้แก่ ปลาสลิดหินเทากางพริ้ว รองลงมาคือ Family กลุ่มปลาบู่ลูกดอก กลุ่มปลานกขุนทอง ปลานกขุนทอง และกลุ่มปลาอมไข่ ปลาอมไข่แถบ สัตว์ในแนวปะการัง พบเม่นดำหนามยาว หอยแมลงภู่ปะการัง และหนอนท่อ เป็นสัตว์ชนิดเด่นในสถานี
จากการสำรวจสถานภาพแนวปะการัง พบว่าสถานภาพของแนวปะการังอยู่ระดับที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น ที่ตั้งของแนวปะการัง อิทธิพลของลมมรสุม ความเสียหาย และการฟื้นตัวจากความเสียหายจากการฟอกขาว สามารถสรุปสาเหตุของความเสื่อมโทรมของแนวปะการังดังนี้ สาเหตุจากธรรมชาติ เช่น ปะการังฟอกขาว แนวปะการังทั้งอ่าวไทย และทะเลอันดามันเคยได้รับผลกระทบจากการฟอกขาวในระดับที่แตกต่างกันไป เมื่อปี พ.ศ. 2534 2538 2541 2546 2548 2550 และ 2553
โดยในปี 2534 และ 2538 พบว่าปะการังทางฝั่งอันดามันตายประมาณ 10–20% ส่วนในปี 2541 เกิดความเสียหายมากต่อแนวปะการังทางฝั่งอ่าวไทย แต่ปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวที่รุนแรงที่สุดคือปี 2553 ทำให้แนวปะการังในฝั่งทะเลอันดามัน โดยเฉพาะฝั่งอันดามันเหนือมีปะการังตายมากถึง 80 – 90% จากการสำรวจในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าวที่ผ่านมาพบว่าแนวปะการังหลายบริเวณกำลังมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยความเสื่อมโทรมจากมนุษย์ เป็นสาเหตุหลักที่มีผลกระทบต่อสถานภาพแนวปะการังในบริเวณต่างๆ ทั้งการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งที่ กิจกรรมที่มีการเปิดหน้าดิน ก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงต่อพื้นที่แนวปะการัง และเกิดตะกอนที่จะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อแนวปะการัง กิจกรรมท่องเที่ยวรูปแบบต่างๆ เช่น การเหยียบย่ำของนักท่องเที่ยว การทิ้งสมอเรือในแนวปะการัง การให้อาหารปลาในแนวปะการัง การทำประมงที่การเดินเหยียบย้ำในแนวปะการังเพื่อหาสัตว์น้ำในบริเวณแนวปะการังใกล้ชุมชนชายฝั่ง ไปจนถึงการทำการประมงโดยใช้อวนลากต่างๆ ที่อาจมีทั้งการลากในแนวปะการังโดยตรง หรือขยะที่เป็นเศษอวนซึ่งตกค้างอยู่ในแนวปะการัง