เผย "คลองดำเนินสะดวก" ต้นทุนสารเคมีสูง สกว. ต่อยอดงานวิจัย-เร่งผลักดันเกษตรอินทรีย์ (27 ธ.ค. 60)

Green News TV 27 ธันวาคม 2560
เผย ‘คลองดำเนินสะดวก’ ต้นทุนสารเคมีสูงปรี๊ด สกว.ต่อยอดงานวิจัย-เร่งผลักดันเกษตรอินทรีย์ 

เผยงานวิจัยสกว.พบชุมชน “คลองดำเนินสะดวก” ใช้สารเคมีมากเกินขนาด เร่งใช้แนวคิดเกษตรอินทรีย์ภายใต้ปรัชญาพอเพียงเข้าพื้นที่ หวังลดการสะสมสารพิษ-ดูแลสิ่งแวดล้อม-แก้ปัญหาน้ำเสีย

นายพิพัฒน์ รุ่งกานต์วิวัฒน์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ต.ประสาทสิทธิ์ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ในฐานะนักวิจัย โครงการวิจัยการจัดการสวนเกษตรเพื่อความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการน้ำเสียคลองดำเนินสะดวก ในพื้นที่โซนที่ 1 ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า ข้อค้นพบจากวงจรการทำเกษตรในรอบ 1 ปี พบว่าผลผลิตทางการเกษตรของคลองดำเนินสะดวกส่วนใหญ่มาจากการใช้สารเคมีมากเกินขนาด เช่น มะม่วง มีต้นทุนการใช้เคมีในการผลิตถึง 57% ขณะที่ต้นทุนการใช้เคมีในการผลิตมะนาวสูงถึง 77%

ทั้งนี้ พื้นที่ชุมชนคลองดำเนินสะดวก เป็นแหล่งผลิตอาหารได้มากกว่า 1.7 แสนตันต่อปี แต่กลับพบว่ามีการใช้สารเคมีในการทำเกษตรอย่างเข้มข้นเกินขนาดเพื่อให้พืชออกผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ส่งผลให้เกิดสารพิษสะสมทั้งในแหล่งน้ำและดิน เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะน้ำเน่าเสีย และยังเกิดสารตกค้างในร่างกาย ประกอบกับการเจริญของเมืองทำให้ผู้คนหันมาใช้ถนนแทนการสัญจรทางน้ำ ทำให้คลองขาดการเหลียวแล เกิดปัญหาขยะ และวัชพืชขึ้นมากมาย

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับงานโครงการวิจัยนี้ ครอบคลุม 5 พื้นที่ ได้แก่ ตำบลหัวโพ โพหัก ดอนคลัง บัวงาม และประสาทสิทธิ์ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี โดยต้องการปลูกจิตสำนึกและสร้างความตระหนักให้ชุมชนเห็นถึงผลกระทบจากการใช้สารเคมี และให้เกิดการตื่นตัวในเรื่องการอนุรักษ์แหล่งน้ำไม่ให้เกิดภาวะน้ำเน่าเสีย ซึ่งจะส่งผลต่อน้ำใช้ในภาคการเกษตร นอกจากนี้เกษตรกรยังประสบปัญหาเรื่องของภาวะน้ำแห้งคลอง และปัญหาน้ำทะเลหนุน จึงเกิดแนวคิดการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อลดการใช้สารเคมีในชุมชนลง

“จากผลการทำวิจัย ทำให้มีแนวคิดในการทำเกษตรอินทรีย์ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาน้ำเสียและลดสารพิษสะสมในคลองดำเนินสะดวก รวมถึงช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมเล็กๆ ให้กับแหล่งน้ำของชุมชนได้ แต่ยอมรับว่าการจะให้เกษตรกรเลิกใช้สารเคมีและหันมาทำเกษตรอินทรีย์ทั้งหมดอาจเป็นไปได้ยาก เพราะถือเป็นเรื่องใหม่ของการทำการเกษตรของชุมชนคลองดำเนินสะดวก” นายพิพัฒน์ กล่าว

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ได้มีการจัดทำศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงวัดบัวงามอารามหลวง โดยใช้พื้นที่ของวัดจำนวน 60 ไร่ มาพัฒนาเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ต้นแบบแห่งแรกของชุมชนเพื่อให้เป็นพื้นที่เรียนรู้จากเดิมที่ชาวบ้านไม่เคยรู้จักการทำเกษตรอินทรีย์มาก่อน สามารถเข้ามาเรียนรู้วิธีการปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ โดยมีการแบ่งพื้นที่ให้ชาวบ้านที่สนใจเข้ามาทดลองปลูกพืชแบบไม่ใช้สารเคมีภายในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ฯ และนำวิธีไปทำเองได้ที่บ้านต่อไป

นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ชาวบ้านคุ้นเคยคือเลิกใช้เคมีทันทีนั้นเป็นไปได้ยาก และต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ซึ่งในช่วงแรกก็ถูกต่อต้าน แต่หลังจากทำมา 1 ปี ปัจจุบันเริ่มมีคนในชุมชนรู้จักการทำเกษตรอินทรีย์บ้างแล้ว โดยมีหน่วยงานในพื้นที่ให้ความสนใจเข้าเยี่ยมชม พร้อมทั้งโรงเรียนที่นำนักเรียนและเยาวชนเข้ามาเรียนรู้วิธีการทำนา ร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ และการทำสวนอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง