ทช. แถลงผล "ช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก" รอบ 3 ปี ผลักดันขึ้นบัญชี "สงวน-คุ้มครอง" รวมแล้ว 20 ชนิด (27 ธ.ค. 60)

Green News TV 27 ธันวาคม 2560
ทช.แถลงผลช่วยเหลือ ‘สัตว์ทะเลหายาก’ รอบ 3 ปี ผลักดันขึ้นบัญชีสงวน-คุ้มครองรวมแล้ว 20 ชนิด

ทช.แถลงผลภารกิจพิทักษ์สัตว์ทะเลหายาก ระบุ 3 ปีดันขึ้นบัญชีสงวน-คุ้มครองแล้ว 20 ชนิด ช่วยเกยตื้นเฉลี่ยปีละ 419 ตัว

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยในการแถลงข่าวเรื่อง สถานการณ์สัตว์ทะเลหายากของไทย ปี 2560 เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2560 ตอนหนึ่งว่า ในระหว่างปี 2558-2560 ทช.สามารถทำการช่วยเหลือและจัดการสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นได้เฉลี่ยปีละ 419 ตัว แบ่งเป็นเต่าทะเล 57% โลมาและวาฬ 38% และพะยูน 5% โดยสาเหตุการเกยตื้นสำหรับเต่าทะเลแลพะยูนส่วนใหญ่เกิดจากเครื่องมือประมง ขณะที่การเกยตื้นของโลมาและวาฬส่วนใหญ่เกิดจากการป่วยตามธรรมชาติ

นายจตุพร กล่าวว่า นอกจากนี้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทช.ยังประสบความสำเร็จในการนำเสนอสัตว์ทะเลหายากขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าสงวน 4 ชนิด และสัตว์คุ้มครอง 16 ชนิด ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 โดย ทช.ยังได้เตรียมข้อมูลของสัตว์ทะเลหายากอีกหลายชนิดเพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการด้านสัตว์ป่าสงวนและคุ้มครองต่อไป

“จากการศึกษาวิจัยตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่าประเทศไทยมีสัตว์ทะเลหายากที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำนวน 28 ชนิด เต่าทะเล 5 ชนิด นอกจากนี้ยังพบสัตว์ทะเลหายากที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ชนิดอื่นๆ ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์ใดๆ ย่อมทำให้เกิดการสูญพันธ์ขึ้นมาได้ในอนาคต แนวทางการขึ้นบัญชีเพื่อให้สัตว์ทะเลหายากได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายจึงเป็นกลไกสำคัญหนึ่ง และการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเป็นอีกแนวทางหนึ่งเพื่อช่วยฟื้นฟูจำนวนประชากร” นายจตุพร กล่าว

ทั้งนี้ ทช.ได้จัดตั้งศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก 5 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั้งหมด โดยทำงานร่วมกับแนวร่วมเครือข่ายองค์กรในพื้นที่ มหาวิทยาลัย และชุมชนมากกว่า 25 แห่ง นอกจากนี้ยังมีการจัดฝึกอบรมสัตวแพทย์ นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครชุมชนมากกว่า 800 คน รวมถึงการใช้พื้นที่คุ้มครองสัตว์ทะเลหายากเป็นเครื่องมือสำคัญ โดยจัดทำโครงการนำร่องในการคุ้มครองสัตว์ทะเลหายากเป็นร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เรื่องมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในพื้นที่อำเภอปะเหลียน หาดสำราญ ย่านตาขาว กันตัง และสิเกา จ.ตรัง

นายจตุพร กล่าวว่า ในส่วนของภารกิจการสำรวจสถานภาพสัตว์ทะเลหายากเพื่อติดตามความสำเร็จของการอนุรักษ์ ทช.มีการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ร่วมกับวิธีการสำรวจมาตรฐาน ทำให้สามารถประเมินสถานภาพได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วมากขึ้น โดยเทคโนโลยีที่นำมาใช้ ได้แก่ ระบบฐานข้อมูลภาพเพื่อระบุตัวตน ระบบรับฟังสัญญาณเสียงใต้น้ำ การติดตามด้วยเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม ตลอดจนการใช้อากาศยานไร้คนขับเพื่อการสำรวจสัตว์ทะเลหายากและจัดทำแผนที่แหล่งที่อยู่อาศัย

นายจตุพร กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันเนื่องจากสัตว์ทะเลหายากส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่มีการอพยพย้ายถิ่นระยะไกล และมักมีวงจรชีวิตที่ครอบคลุมพื้นที่มากกว่าอาณาเขตทางทะเลของประเทศใดประเทศหนึ่ง ความร่วมมือระหว่างประเทศจึงเป็นกลไกที่สำคัญในการอนุรักษ์และคุ้มครองสัตว์ทะเลหายาก ประเทศไทยจึงได้เข้าร่วมเป็นประเทศภาคีเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก โดยมีการลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์เต่าทะเล ในปี 2544 และลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์พะยูน ในปี 2550 ภายใต้การสนับสนุนของสนธิสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์สัตว์อพยพย้ายถิ่น (CMS) องค์การสหประชาชาติ (UN)