สภาเมืองพัทยาถกเครียด "ปัญหาขยะ" เกาะล้าน (27 ธ.ค. 60)

MGR Online 27 ธันวาคม 2560
สภาเมืองพัทยาถกเครียด ปัญหาขยะเกาะล้าน 

ศูนย์ข่าวศรีราชา -สภาเมืองพัทยาถกเครียด ปัญหาขยะเกาะล้าน หลังฝ่ายบริหารขอความเห็นชอบผ่านงบ 95 ล้าน ว่าจ้างเอกชนทำการขนถ่ายขยะตกค้างกว่า 5 หมื่นตัน มากำจัดด้วยระบบฝังกลบนอกพื้นที่ 

วันนี้ (27 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาเมืองพัทยา ได้จัดการประชุมสภาเมืองพัทยา สมัยสามัญ สมัยที่ 3 ครั้งที่ 4 ประจำปี 2560 โดยมีประเด็นที่ฝ่ายบริหารนำเสนอญัตติขออนุมัติจ่ายขาดเงินสะสม เพื่อดำเนินการจัดการขยะมูลฝอยตกค้างบนพื้นที่เกาะล้าน และเพื่อดำเนินการนำขยะที่ตกค้างออกจากพื้นที่เกาะล้าน เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 95 ล้านบาท ด้วยวิธีขนถ่ายขยะออกจากพื้นที่เกาะล้าน โดยนำไปฝังกลบ โดยไม่ให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวได้รับความเดือดร้อน ที่หากล่าช้าอาจเกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวได้

นายอภิชาติ วีรปาล รองนายกเมืองพัทยา กล่าวว่า ปัญหาขยะตกค้างบนพื้นที่เกาะล้าน ปัจจุบันมีปริมาณขยะสะสมกว่า 5 หมื่นตัน และมีแนวโน้มการสะสมเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องมีการเร่งดำเนินการในกำจัดให้หมดไปโดยเร็ว และไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งแนวทางในการกำจัดขยะมีด้วยกัน 5 วิธี คือ 1.การฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล 2.การหมักทำปุ๋ย หรือทำก๊าซชีวภาพ 3.การกำจัดด้วยพลังงานความร้อน 4.การแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิง หรือพลังงาน และ 5.วิธีอื่นๆ ตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด หรือคณะกรรมการจังหวัดให้คำแนะนำ แต่พบว่าการดำเนินการกำจัดขยะบนเกาะล้านทั้ง 5 วิธีนั้นคงไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากไม่มีพื้นที่เพียงพอ

ส่วนการดำเนินการในวิธีเผาทำลายบนพื้นที่เกาะล้านแบบครบวงจร ตามการศึกษาของมหาวิทยา ลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เตาเผาที่เหมาะสมต่อพื้นที่เกาะล้านเป็นเตาเผาขนาดเล็กที่มีความสามารถในการเผาทำลายได้ไม่เกิน 25 ตันต่อวัน อีกทั้งระยะเวลาในการก่อสร้างเตาเผาไม่น้อยกว่า 180 วัน ซึ่งหากจะต้องกำจัดมูลฝอยให้หมดไปภายใน 300 วัน ต้องเผาให้ได้เฉลี่ยวันละ 400 ตัน และต้องมีเตาเผาขนาด 25 ตัน ไม่น้อยกว่า 16 เตา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่มีพื้นที่เพียงพอให้สามารถทำได้ และอาจเกิดมลพิษในการเดินระบบ รวมทั้งจะมีค่าใช่จ่ายในการเดินระบบสูง 

แต่หากจะลดจำนวนเตาเผาให้น้อยลงก็จะต้องใช้เตาเผาขนาด 50 ตัน ซึ่งตามกฎหมายจะต้องมีการทำ EIA ที่คาดว่าจะใช้ระยะเวลานาน และการบริหารงานในคณะนี้คงไม่สามารถดำเนินการได้ทัน ทำให้แนวทางการดำเนินการเผาขยะบนเกาะจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาบนเกาะล้านได้อย่างถาวร

ส่วนแนวทางแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิง หรือพลังงาน หรือการทำ RDF นั้น กรณีนี้จะมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องจากการนำไปจำหน่าย ซึ่งถือว่าผิดระเบียบของกระทรวงมหาดไทย จึงสรุปได้ว่า การแก้ไขปัญหาขยะบนเกาะล้านนั้นการกำจัดขยะทั้งหมดต้องทำนอกพื้นที่เกาะล้านด้วยการขนถ่ายไปตามทำลาย หรือฝังกลบ จึงจะถือว่าถูกต้องตามระเบียบตามกฎหมายกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้

ด้าน นายอนันต์ อังคณาวิศัลย์ ประธานสภาเมืองพัทยา ได้มีการสอบถามฝ่ายบริหาร ว่า การขนถ่ายขยะจากเกาะล้านนั้นจะขนถ่ายมาขึ้นที่ท่าไหน ยานพาหนะในการขนถ่าย ซึ่งหากมีการใช้เรือบาสในการขนถ่ายขยะระดับนั้นมีระดับความลึกของน้ำเพียงพอหรือไม่ ทั้งนี้ การทำ RDF ในการกำจัดขยะนั้นผิดกฎหมายด้านไหน เนื่องจากการทำ RDF มีต้นทุนต่ำกว่าการดำเนินการฝังกลบ อีกทั้งการดำเนินการสามารถกำจัดขยะได้อย่างแท้จริง

โดย พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า รูปแบบวิธีการขนขยะไปยังหลุมฝังกลบนั้นจะใช้คงจะใช้วิธีขนถ่ายด้วยการบีบอัดขยะที่บ่อแล้วแพกเป็นก้อนพลาสติกบรรจุถุง เพื่อให้ไม่ให้ขยะหลุดออกมาแล้วนำลงเรือขนถ่ายสู่ฝั่ง ก่อนขึ้นรถไปกำจัด ส่วนจะนำไปฝังกลบที่ไหน ใช้รถอะไรขนถ่ายนั้นคงเป็นเรื่องที่งผู้รับเหมาจะต้องนำเสนอวิธีการที่ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของ TOR ที่เมืองพัทยาจะเร่งดำเนินการจัดทำ และจะมีการนำมาเสนอให้แก่สภาเมืองพัทยาร่วมพิจารณาอีกครั้ง เพื่อความรอบคอบ

ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก่อนจะมีการนำไปประมูล และเร่งกำจัดขยะให้หมดไปโดยเร็ว

ขณะที่ พล.ต.ต.ภพอนันต์ เหลือภานุวัฒน์ รองประธานสภาเมืองพัทยา กล่าวว่า หากการดำเนิน การแก้ปัญหาขยะบนเกาะล้านด้วยวิธีการแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิง หรือพลังงาน หรือระบบ RDF นั้นก็เพื่อประหยัดงบประมาณ และเป็นการดำเนินการก็ยั่งยืนกว่าการขนถ่ายไปฝังกลบ แต่เมื่อมีปัญหาเรื่องของผลประโยชน์ที่เมืองพัทยาจะได้รับจากการนำ RDF หรือเชื้อเพลิงชีวภาพไปจำหน่ายมันก็น่าจะเป็นเรื่องดี เพราะยังได้รับเงินตอบแทนไม่ต้องหางบประมาณจ่ายเพียงอย่างเดียว แต่ด้วยข้อกฎหมายไม่เอื้ออำนวยให้ จึงอยากให้มีการหยิบยกนำเรื่องนี้ไปหารือ หรือเสนอแนวทางแก่จังหวัด และกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณา

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแม้สภาเมืองพัทยาจะมีการอนุมัติจ่ายขาดเงินสะสม จำนวน 95 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดการขยะตกค้างบนเกาะล้าน ด้วยวิธีขนถ่ายขยะออกจากพื้นที่เกาะล้านโดยการนำไปฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาลตามการนำเสนอของฝ่ายบริหาร 

แต่สมาชิกบางส่วนยังเห็นว่า แนวทางการดำเนินการด้วยการแปรสภาพขยะเป็นเชื้อเพลิงพลังงานชีวภาพ หรือ RDF จะเป็นแนวทางที่สามารถกำจัดขยะได้อย่างถาวร และหมดไปอย่างแท้จริง อีกทั้งการดำเนินการดังกล่าวก็ใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่าการฝังกลบ แต่สิ่งที่ดีกว่า และถูกกว่ากลับขัดด้วยข้อกฎหมาย