"ศิริ" ส่งสัญญาณทบทวนนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนทั้งระบบ (28 ธ.ค. 60)
energynews 29 ธันวาคม 2560
"ศิริ"ส่งสัญญาณทบทวนนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนทั้งระบบ
รัฐมนตรีพลังงาน “ศิริ จิระพงษ์พันธ์” ส่งสัญญาณทบทวนพลังงานทดแทนทั้งระบบของประเทศใหม่ ตั้งเป้าหมายราคาไฟฟ้าเฉลี่ยของไทยไม่ควรถึง 5 บาทต่อหน่วย และราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไม่ควรแพงกว่าพลังงานหลักและไม่เป็นภาระต่อประเทศ ในขณะที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ระบุ การส่งเสริมพลังงานทดแทนในปี 2561 ส่งกระทบค่า Ft ประมาณ27-28 สตางค์ต่อหน่วย
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy news center -ENC) ว่า กระทรวงพลังงานจะต้องทบทวนแผนส่งเสริมพลังงานทดแทนของประเทศใหม่ทั้งระบบ โดยตั้งเป้าหมายให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจะต้องมีราคาค่าไฟฟ้าที่ไม่แพงไปกว่าพลังงานหลัก และต้องไม่เป็นภาระต่อประเทศ
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy news center - ENC )รายงานว่า ในงาน"พลังงานพบสื่อมวลชน)ครั้งที่3 เมื่อวันศุกร์ ที่22ธ.ค.2560ที่ผ่านมา นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมาระบุว่า ส่วนตัวไม่ยอมรับค่าไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว หรือ PDP 2015 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะปลายแผนในปี 2579 ราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ยจะขึ้นมาอยู่ระดับกว่า 5 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 3.80 บาทต่อหน่วย
“โดยส่วนตัวผมไม่ยอมรับแผน PDP ที่ค่าไฟฟ้าจะขึ้นไปถึง 5 บาทต่อหน่วย หากทุกฝ่ายในสังคมเห็นร่วมกันว่าเราไม่รับแผน PDP ที่จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าถึง 5 บาท ก็ต้องร่วมกันแสดงความเห็น ซึ่งผมไม่คิดว่าจะมีใครอยากจ่ายตังค์ค่าไฟฟ้าเพิ่ม” นายศิริ กล่าว
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า แนวทางการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนในอนาคตของกระทรวงพลังงานนั้น ต่อไปจะรับซื้อในราคาที่ไม่สูงกว่าราคาขายปลีกที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA)และการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)ที่ประมาณ 2.60 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้เพื่อให้เป้าหมายราคาค่าไฟฟ้าทั้งประเทศลดลงไม่ขยับไปถึง 5 บาทต่อหน่วยตามแผน PDP 2015 ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องเลือกหาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ต้นทุนถูกลง
อย่างไรก็ตามแนวทางดังกล่าวมีความเป็นไปได้ โดยเห็นได้จากการประมูลรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบผสมผสานจากผู้ประกอบการรายเล็กแบบสัญญาเสถียร หรือ SPP Hybrid Firm ที่ผ่านมา ที่ผู้ประกอบการสามารถเสนอขายไฟฟ้าราคาต่ำสุดได้ถึง 1.85 บาทต่อหน่วย ซึ่งต่ำกว่าราคาต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ของโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงหลัก
ทั้งนี้รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนขนาดใหญ่ที่จะสร้างขึ้นใหม่ หากทำให้ราคาไฟฟ้าแพงกว่าราคาขายส่งดังกล่าว จะต้องทบทวนใหม่เช่นกัน โดยกระทรวงพลังงานจะเข้าไปดูการผลิตพลังงานทดแทนทั้งระบบ แต่ยืนยันว่าต้องไม่กระทบรายได้เกษตรกร
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)และในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า นโยบายค่าไฟฟ้าไม่เกิน 5 บาทต่อหน่วย ของกระทรวงพลังงานที่ออกมานี้ ทาง กกพ.ยังไม่ได้เข้าหารือกับกระทรวงพลังงานว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่เชื่อว่าในอนาคตการใช้วิธีประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจะทำให้ราคาค่าไฟฟ้าถูกลงได้ และถ้าราคาถูกมากเหมือนการประมูล SPP Hybrid Firm ที่ได้ราคาต่ำสุด 1.85 บาทต่อหน่วย และสูงสุด 3 บาทต่อหน่วย ก็อาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) ได้
ซึ่งปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนมีผลกระทบต่อค่า Ft อยู่ 25 สตางค์ต่อหน่วย และคาดว่าในปี 2561 จะกระทบ 27-28 สตางค์ต่อหน่วย เพราะมีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเข้าระบบมากขึ้น
สำหรับในปี 2560 มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบ 7,529 เมกะวัตต์ จากผู้ประกอบการ 7,083 ราย แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 189 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวมวล 3,202 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวภาพ 377 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 25 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังลม 614 เมกะวัตต์และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 3,025 เมกะวัตต์. อย่างไรก็ตามเมื่อนับรวมพลังงานหมุนเวียนที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)แล้ว และได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้วแต่ยังไม่มี PPA จะมีพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบในอนาคตทั้งหมด 9,303 เมกะวัตต์ จากผู้ประกอบการ 7,232 ราย ส่วนในปี 2561 คาดว่าจะมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากผู้ประกอบการรายเล็กมาก(VSPP)เข้าระบบประมาณ 269 เมกะวัตต์