"รอเห็นชอบก่อน" กพร. ยันไม่มีเจตนาปิดข้อมูลผลศึกษา การรั่วซึม "บ่อกักเก็บกากแร่อัคราฯ" (29 ธ.ค. 60)

สำนักข่าวอิศรา 29 ธันวาคม 2560
รอเห็นชอบก่อน กพร. ยันไม่มีเจตนาปิดข้อมูลผลศึกษา การรั่วซึมบ่อกักเก็บกากแร่อัคราฯ

กพร. ยันไม่มีเจตนาปิดข้อมูลผลศึกษาการรั่วซึมบ่อกักเก็บกากแร่อัคราฯ รอดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนราชการ

ตามที่ปรากฏข่าวว่าตัวแทนชาวบ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวอิศรา กรณีคำสั่งห้ามเผยแพร่ผลวิจัยบ่อกักเก็บกากแร่รั่วเหมืองทองอัคราฯ นั้น (อ่านประกอบ:   ชาวบ้านพิจิตร จี้กรมอุตฯ เปิดผลวิจัยเหตุเหมืองทองรั่ว ชี้สาธารณะต้องรับรู้ )

ล่าสุด นายทับเที่ยง รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รักษาราชการแทนอธิบดี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ชี้แจงว่า ยังไม่มีการเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เนื่องจากต้องให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ พิจารณาก่อนที่จะเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดทำรูปเล่มรายงานฉบับสมบูรณ์ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการฯ ต่อไป

สำหรับการศึกษาโครงการ “การสำรวจตรวจสอบโอกาสการรั่วไหลของสารพิษจากบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF1) ของเหมืองทองคำ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จังหวัดพิจิตร” โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งชาติ The National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ศึกษา ได้ดำเนินการสำรวจทางด้านธรณีฟิสิกส์และด้านไอโซโทป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินว่าสารหนู ที่พบบริเวณท้ายน้ำของบ่อกักเก็บกากแร่ TSF1 เกิดจากการปนเปื้อนจากการรั่วไหลของสารปนเปื้อนจาก บ่อ TSF1 หรือไม่ และเพื่อประเมินว่าการตรวจพบไซยาไนด์ในนาข้าวเกิดจากการรั่วไหลของสารปนเปื้อนจาก บ่อ TSF1 หรือไม่

นายทับเที่ยง กล่าวอีกว่า คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ได้มีการประชุมคณะทำงาน เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 และมีความเห็นให้นำผลการศึกษาวิจัยโครงการดังกล่าวเสนอคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ต่อไปได้

ทั้งนี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ย้ำไม่มีเจตนาปิดบังข้อมูลผลการศึกษาโครงการดังกล่าว โดยการดำเนินการต้องทำตามระเบียบและขั้นตอนของส่วนราชการ ซึ่งจะมีการประชุมของคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาผลการศึกษาก่อน หากผลการพิจารณาความเห็นชอบผ่านแล้ว จึงจะสามารถเผยแพร่ได้