‘จีน’ ประกาศยุติ ‘ระเบิดแก่งโขง’ จริงใจหรือไม่ … ต้นปีนี้ได้รู้กัน !!? (4 ม.ค. 61)
Green News TV 4 มกราคม 2561
‘จีน’ ประกาศยุติ ‘ระเบิดแก่งโขง’ จริงใจหรือไม่ … ต้นปีนี้ได้รู้กัน !!?
นับเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมร้อนระอุหัวข้อหนึ่งตลอดช่วงปี 2560 สำหรับการ “ระเบิดเกาะแก่ง” ในโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง หลังมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมเมื่อคณะสำรวจจากประเทศจีน ย่างก้าวเข้าสำรวจภาคสนามในดินแดนประเทศไทยเมื่อช่วงครึ่งแรกของปี 2560
การสำรวจดังกล่าว มีขึ้นภายหลังได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อประสานการดำเนินการตามความตกลงสี่ฝ่ายว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (JCCCN) ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากประเทศจีน ลาว พม่า และไทย เมื่อวันที่ 9-12 ม.ค.2560
ท่าทีของประเทศไทยในขณะนั้น ได้นำมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2559 ที่เห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง พ.ศ.2558-2568 และการดำเนินงานเบื้องต้นในโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ไปรายงานให้ที่ประชุมทราบ โดยมอบหมายให้กรมเจ้าท่า เป็นหน่วยงานปฏิบัติและผู้ประสานงานหลัก
นั่นคือการเปิดไฟเขียวอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลไทย ให้มีการสำรวจตามเป้าหมายที่จีนมีความพยายามดำเนินการมาตลอดร่วม 20 ปี เพื่อที่จะเปิดแม่น้ำให้เรือพาณิชย์ระวางน้ำหนัก 500 ตัน สามารถล่องจากประเทศจีน ถึงท่าเรือหลวงพระบาง ประเทศลาว ได้
สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่มาตลอดนับแต่มีมติ ครม.ดังกล่าว คือเสียงคัดค้านอันหนาหูจากหลากหลายฝ่าย ซึ่งล้วนแสดงท่าทีห่วงกังวลต่อผลกระทบอันรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นทั้งในมิติด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึงความมั่นคง ผ่านการยื่นหนังสือ แถลงการณ์ กระทั่งการออกเรือชูป้ายคัดค้าน 3 ภาษา ประกบข้างเรือสำรวจจากประเทศจีน ในระหว่างทำการสำรวจช่วงเขตแดนประเทศไทย
ขณะเดียวกัน ฟากฝั่งของบริษัท CCCC Second Habor Consultant จากประเทศจีน ผู้รับหน้าที่ดำเนินการศึกษาโครงการฯ ก็ได้ทำการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาไทยคือ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการในส่วนของการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน โดยได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ 7 ตำบลริมแม่น้ำโขง จ.เชียงราย ในช่วงเดือน ก.ย.2560
จวบจนการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งหลังสุด กับตัวแทนกว่า 60 หน่วยงานรัฐของประเทศไทย ที่ห้องประชุมศาลากลาง จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2560 สิ่งหนึ่งที่ยังคงคลุมเครือและเป็นข้อสงสัยของใครหลายคน คือท่าทีของรัฐบาลจีนต่อโครงการดังกล่าวว่าจะดำเนินการต่อไป ใช้วิธีลดผลกระทบอย่างไร หรือล้มเลิกไปเลยหรือไม่ เมื่อภาพรวมของการรับฟังความคิดเห็นนั้นเต็มไปด้วยข้อคัดค้านและความเคลือบแคลง
อย่างไรก็ตาม ความกังวลที่ดำเนินมาตลอดปีก็ดูคล้ายจะคลายลง เมื่อในที่สุด “ดอน ปรมัตถ์วินัย” รมว.ต่างประเทศ ได้ออกมาเปิดเผยภายหลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 3 (MLC) ที่ประเทศจีน เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2560 โดยระบุว่า มหาอำนาจรายนี้มีท่าทีที่จะทบทวนวิธีการขนส่งรูปแบบอื่น
“จากการพูดคุยในประเด็นโครงการปรับปรุงร่องน้ำด้วยการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง จีนมีท่าทีสร้างสรรค์ หลังรับทราบว่าเป็นปัญหาต่อวิถีชีวิตของคนไทย จึงพร้อมจะเลิกโครงการหรือปรับเปลี่ยน ซึ่งช่วยคลายความกังวลแก่คนไทยได้มาก ถือเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับคนไทยด้วย” รมว.ต่างประเทศ ระบุ
แน่นอนว่าจากคำพูดดังกล่าวอาจทำให้หลายฝ่ายเบาใจลง แต่จะสามารถวางใจได้เลยหรือไม่นั้นอาจยังต้องพิจารณาต่อไป เมื่อทิศทางที่ว่ายังไม่ปรากฏออกมาอย่างเป็นทางการจากเจ้าของโครงการ
นั่นเพราะขณะนี้ยังมีการเดินหน้าจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามกำหนดที่จะแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.2561 ก่อนเสนอคณะทำงานสี่ประเทศ และ ครม.ไทย เพื่อพิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งนับเป็นการชี้อนาคตโครงการที่ต้องจับตา และสะท้อนถึงความจริงใจในท่าทีประเทศจีนได้ดีที่สุด
นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ระบุในทิศทางเดียวกันว่า แม้ท่าทีดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่น่ายินดี และนับว่าเห็นความสำคัญในการต่อสู้เรียกร้องเรื่องนี้มาตลอดเกือบ 20 ปีของกลุ่มรักษ์เชียงของ แต่การระเบิดเกาะแก่งเป็นเพียงมิติหนึ่งของกิจกรรมบนแม่น้ำโขง ซึ่งยังมีโครงการพัฒนาอื่นๆ อีก อย่างเขื่อนไซยะบุรี ประเทศลาว ที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลก่อนดำเนินการใดๆ
“แม้แต่การระเบิดเกาะแก่งก็อาจถูกหยิบยกมาดำเนินการได้อีกทุกเมื่อ จึงอยากให้ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง มีการจัดตั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วม ในการจัดการและพัฒนาแม่น้ำโขงร่วมกันอย่างยั่งยืน เป็นหน่วยงานที่จะประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารการทำกิจกรรมใดๆ ในแม่น้ำโขง ว่าจะมีผลดี ผลเสีย หรือมีทิศทางอย่างไร” ครูตี๋ ระบุ
ทั้งหมดนี้คือการประมวลความเคลื่อนไหวล่าสุดของปี 2560 และแน่นอนว่าในปีนี้ ประเด็น “ระเบิดแก่งโขง” จะต้องระอุขึ้นอีกครั้ง