"อัคราฯ" แจงน้ำเน่ารอบบ่อเก็บกากแร่ คาดมาจาก "ตอซังข้าว-ขยะ" ยันสารหนู "พบตามธรรมชาติ" (3 ม.ค. 61)
สำนักข่าวอิศรา 3 มกราคม 2561
อัคราฯ แจงน้ำเน่ารอบบ่อเก็บกากแร่ คาดมาจากตอซังข้าว-ขยะ ยันสารหนูพบตามธรรมชาติ
บริษัทอัคราฯ ชี้แจงประเด็นน้ำเน่าเสียใกล้บ่อเก็บกากแร่ คาดเกิดจากการหมักหมมของตอซังข้าว-ขยะ ส่วนสารหนู-ไทโอไซยาเนตพบตามธรรมชาติ ย่าฆ่าแมลง ย้ำว่าบ่อเก็บกากแร่ไม่ใช้ตั้งแต่สั่งหยุด ขอให้รอผลสรุปจากทางหน่วยงานเกี่ยวข้อง วอนหยุดให้ข่าวด้านเดียว โจมตีบริษัท
สืบเนื่องจากกรณีประชาชนรอบเหมืองทองคำที่จ.พิจิตรได้ร้องเรียนเรื่องพบน้ำเน่าเสียในพื้นที่นาใกล้กับบริเวณบ่อกักเก็บกากแร่ของเหมืองแร่ทองคำชาตรี ต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และกรมควบคุมมลพิษ เพื่อขอให้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณดังกล่าว (อ่านประกอบ: ชาวบ้านพิจิตร จี้กรมอุตฯ เปิดผลวิจัยเหตุเหมืองทองรั่ว ชี้สาธารณะต้องรับรู้)
ต่อมา ทางรองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รักษาราชการแทนอธิบดีกรม ได้ชี้แจงว่า ยังไม่มีการเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เนื่องจากต้องให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ พิจารณาก่อนที่จะเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดทำรูปเล่มรายงานฉบับสมบูรณ์ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการฯ ต่อไป ยืนยันว่าไม่มีเจตนาปิดบังข้อมูล (อ่านประกอบ: รอเห็นชอบก่อน กพร. ยันไม่มีเจตนาปิดข้อมูลผลศึกษา การรั่วซึมบ่อกักเก็บกากแร่อัคราฯ)
ล่าสุดผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ทางบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการเหมืองทองคำแห่งนี้ ได้ชี้แจงประเด็นเรื่องน้ำเน่าเสียในพื้นที่นาใกล้กับบริเวณบ่อกักเก็บกากแร่ของเหมืองแร่ทองคำชาตรีว่า ทันทีที่บริษัทฯได้รับทราบเรื่องดังกล่าวในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 บริษัทฯ ได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐอย่างเต็มที่ และตรงไปตรงมา โดยได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์และสุขภาพลงพื้นที่ พร้อมทั้งช่วยประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการเข้าสำรวจจุดที่ได้รับแจ้งอย่างเร่งด่วนในวันเดียวกัน
ทางบริษัทอัคราฯยังชี้แจงอีกว่า ในเบื้องต้นผลวิเคราะห์จากทั้ง 3 หน่วยงานคือ กรมควบคุมมลพิษ มหาวิทยาลัยนเรศวร และบริษัทฯ ไม่พบสารไซยาไนด์ หรือสารใดๆ ที่ใช้ในโรงงาน แต่พบสารอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่นธาตุเหล็ก แมงกานีส สารหนู ไทโอไซยาเนต และซัลเฟตเป็นต้น แต่พบว่ามีค่าไม่แตกต่างจากจุดควบคุมแต่อย่างใด โดยธาตุเหล็ก และแมงกานีส จากน้ำป่าบัวซึ่งเป็นที่ลุ่มและเป็นพื้นที่น้ำซึมน้ำซับตามธรรมชาติที่เกิดมานานตั้งแต่สมัยโบราณก่อนที่จะมีเหมือง มีค่า 23.9 และ 6.27 มิลลิกรัมต่อลิตร เทียบกับน้ำในนาควบคุมที่อยู่ห่างจากเหมืองไปทางต้นน้ำประมาณ 5 กิโลเมตร ที่มีผลวิเคราะห์ 30.6 และ 5.85 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามลำดับ
ในส่วนสารหนูนั้น ทางบ.อัคราฯ เผยว่า สามารถตรวจพบได้ตามธรรมชาติในปริมาณที่ต่ำเนื่องจากเป็นส่วนผสมของยาปราบศัตรูพืชและยาปราบวัชพืชที่เกษตรกรใช้กันทั่วไปบนพื้นที่การเกษตรอยู่แล้ว โดยพบในปริมาณที่เท่ากันระหว่างในป่าบัวและในนาข้าวจุดควบคุมที่ 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่วนซัลเฟตนั้น แม้จะพบว่ามีค่าสูงในป่าบัว แต่ก็ยังต่ำกว่าค่ามาตรฐานของน้ำผิวดิน หรือในน้ำดื่มและน้ำบาดาลที่ใช้บริโภค ตามเกณฑ์อนุโลมสูงสุดที่ 250 มิลลิกรัมต่อลิตร
บริษัทอัคราฯ ชี้แจงเพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนของไทโอไซยาเนตนั้น เป็นสารที่ไม่มีอันตรายและพบได้ตามธรรมชาติอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นส่วนผสมของยาปราบศัตรูพืชและยาปราบวัชพืชเช่นกัน โดยพบว่ามีค่า 0.27 มิลลิกรัมต่อลิตรในป่าบัว ซึ่งต่ำกว่าในนาข้าวควบคุม ที่มีค่า 0.91 มิลลิกรัมต่อลิตร
ประเด็นเรื่องน้ำเน่าเสียในนาข้าว ทางบริษัทอัครฯ เผยว่า เกิดจากการหมักหมมของตอซังข้าวที่แช่น้ำอยู่เป็นเวลานาน และเมื่อไหลไปตามลำรางสาธารณะซึ่งมีใบยูคาลิปตัสล่วงลงมาสะสมตัวอยู่ด้านล่างในลำรางเป็นจำนวนมาก ยิ่งส่งผลให้น้ำเกิดการเน่าเสียได้ในระดับที่สูงขึ้น นอกจากนี้จากปากคำของชาวบ้าน พบว่ามีการนำสิ่งปฏิกูลมาลอบทิ้งในบริเวณข้างทางซึ่งเป็นต้นน้ำของป่าบัวและนาข้าวร้องเรียนดังกล่าวเป็นประจำ
“บริษัทฯ ขอเรียนให้ทราบว่า บ่อกักเก็บกากแร่ที่มีผู้ร้องเรียนว่าอาจจะเกิดการรั่วไหลนั้น ไม่ได้มีการใช้งานแล้ว เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ถูกสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรีมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 1 ปีแล้วที่บริษัทฯ ไม่ได้ดำเนินงานการผลิตใดๆ ทั้งสิ้น”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางบริษัทได้ขอให้มีการหยุดฉวยโอกาสให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน เป็นเท็จและไม่ได้รับการรับรองจากผู้เกี่ยวข้อง โดยให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวเพื่อหวังให้เกิดประโยชน์กับฝ่ายตน เพราะขณะนี้บริษัทฯยังไม่ทาบการสรุปผลหรือการประกาศแจ้งผลใดๆ ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด พร้อมทั้งนี้ทางบริษัทฯยังย้ำอีกว่าที่ผ่านมาบริษัทได้ให้ความร่วมมือมาโดยตลอด พร้อมทั้งแจ้งว่าเมื่อมีผลการพิสูจน์เสร็จสิ้น จะมีการแจ้งผลให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และสังคมรับทราบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายต่อไป
ภาพถ่ายปี 2558 บ่อกักเก็บแร่แห่งแรก