"ไบโอไทย" ชี้ "ซีพี" ตัดสินใจถูกต้อง หนุนแบน 'พาราควอต' หากพบตกค้างในดิน (5 ม.ค.61)
สำนักข่าวอิศรา 5 มกราคม 2561
ไบโอไทยชี้ซีพีตัดสินใจถูกต้อง หนุนแบน ‘พาราควอต’ หากพบตกค้างในดิน
“วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” เห็นด้วยเจ้าสัวธนินท์หนุนแบน “พาราควอต-คลอร์ไพรีฟอส” ชี้ตัดสินใจถูกต้อง สอดคล้องกระเเสโลก ขณะที่ความคืบหน้าประชุมคณะทำงานเฉพาะพิจารณาเพิกถอนยังไม่ก้าวหน้า คาดได้ข้อสรุป มี.ค. 61
กรณีนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี กรุ๊ป) ระบุถึงบทบาทของบริษัทฯ ต่อข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีมติเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2560 เสนอให้ดำเนินการเพิกถอนทะเบียนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส โดยหากพบสารเคมีที่นำเข้าโดยบริษัท เจียไต๋ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ตกค้างในดิน จะต้องยกเลิก ซึ่งหลังจากนี้จะให้นายสุภกิต เจียรวนนท์ บุตรชาย ไปติดตาม และถึงแม้มีการยกเลิกจริง ยืนยันจะไม่สร้างความเสียหายกับบริษัทฯ (อ่านประกอบ: ‘เจ้าสัวธนินท์’ หนุนเลิก ‘พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส’ หากพบตกค้างในดิน)
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ในฐานะหนึ่งในองค์กรร่วมขับเคลื่อนให้มีการเพิกถอนทะเบียนสารเคมีดังกล่าว เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org โดยเห็นสอดคล้องกับที่นายธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวไว้ เพราะตัวผลกำไรที่บริษัทฯ จะได้รับจากการขายสารเคมีทั้งสองชนิด เมื่อเทียบกับธุรกิจใหญ่อื่น ๆ ของซีพี กรุ๊ป แล้ว ธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นธุรกิจขนาดเล็กกว่าแน่นอน
“หากซีพี กรุ๊ป จะเดินตามแนวทางของบริษัทใหญ่ทั่วโลกที่สมัครใจเพิกถอน ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะในระยะยาวแล้ว แม้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) จะต่ออายุแล้ว แต่ในทางปฏิบัติ หากไม่มีการเพิกถอน ผู้บริโภคต่างประเทศจะกดดันให้มีการแบนผลิตภัณฑ์ของซีพีกรุ๊ปในที่สุด ฉะนั้นการตัดสินใจของบริษัทใหญ่ที่จะยกเลิกจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสม”
เมื่อถามถึงท่าทีของนายธนินท์อ่อนลงหรือไม่ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ท่าทีของผู้บริหารด้านหนึ่งน่าจะเกิดจากพลังของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศที่จะสะท้อนเป็นสัญญาณไปยังภาคธุรกิจโดยรวมต้องตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นร่วมกัน สำหรับภาคธุรกิจในประเทศไทยยังมีความอ่อนไหวในเรื่องลักษณะนี้น้อย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในโลก เช่น มาเลเซีย ที่ภาคธุรกิจเกษตรสมัครใจยกเลิกมาหลายปีแล้ว ฉะนั้น การเคลื่อนไหวของซีพี กรุ๊ป ครั้งนี้ จึงทำสอดคล้องกับกระแสโลก
นายวิฑูรย์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการประชุมคณะทำงานเฉพาะ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยมีกรอบระยะเวลาทำงาน 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค. 2560 ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเรียกประชุมหรือความก้าวหน้าใด ๆ คาดว่าจะมีผลสรุป มี.ค. 2561 แต่สิ่งที่จะเป็นปัญหาใหญ่ คือ ความโปร่งใส และการเปิดเผยข้อมูล รวมถึงข้อเรียกร้องจะต้องไม่นำกลุ่มที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนมีส่วนร่วมการพิจารณาการเพิกถอนครั้งนี้ .