"อัครา" ยันเหมืองไม่ใช่ต้นเหตุน้ำเน่า (6 ม.ค. 61)
ไทยโพสต์ 6 มกราคม 2561
อัครายันเหมืองไม่ใช่ต้นเหตุน้ำเน่า
อัคราฯ ลุยตรวจสอบแหล่งน้ำใกล้พื้นที่บ่อเก็บกาก หลังชาวบ้านร้องพบน้ำเน่าเสีย แย้มเบื้องต้นไม่มีสารอันตรายเกินค่ากำหนด ชี้เป็นการหมักหมมของพืช รอ กพร.เผยผลศึกษาที่ชัดเจน
นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไป ด้านงานกิจการภายนอก บมจ.อัครา รีซอร์สเซส เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีประชาชนได้ร้องเรียนเรื่องพบน้ำเน่าเสียในพื้นที่นาใกล้กับบริเวณบ่อกักเก็บกากแร่ของเหมืองแร่ทองคำชาตรี ต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และกรมควบคุมมลพิษ เพื่อขอให้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณดังกล่าว บริษัทได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์และสุขภาพลงพื้นที่ พร้อมทั้งช่วยประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการเข้าสำรวจจุดที่ได้รับแจ้งอย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เก็บตัวอย่างน้ำเพื่อส่งตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงพร้อมกับวัดคุณภาพของน้ำที่เก็บไป ว่ามีคุณลักษณะทางเคมีและกายภาพที่มีสารปนเปื้อนจากการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ของหมืองแร่ทองคำชาตรีหรือไม่
เบื้องต้นผลวิเคราะห์จากทั้ง 3 หน่วยงาน คือ กรมควบคุมมลพิษ มหาวิทยาลัยนเรศวร และบริษัทไม่พบสารไซยาไนด์ หรือสารใดๆ ที่ใช้ในโรงงาน แต่พบสารอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ธาตุเหล็ก แมงกานีส สารหนู ไทโอไซยาเนต และซัลเฟต เป็นต้น แต่มีค่าไม่แตกต่างจากจุดควบคุมแต่อย่างใด โดยธาตุเหล็กและแมงกานีสจากน้ำป่าบัวซึ่งเป็นที่ลุ่มและเป็นพื้นที่น้ำซึมน้ำซับตามธรรมชาติที่เกิดมานานตั้งแต่สมัยโบราณก่อนที่จะมีเหมือง มีค่า 23.9 และ 6.27 มิลลิกรัมต่อลิตร เทียบกับน้ำในนาควบคุมที่อยู่ห่างจากเหมืองไปทางต้นน้ำประมาณ 5 กิโลเมตร ที่มีผลวิเคราะห์ 30.6 และ 5.85 มิลลิกรัมต่อลิตร
"คำตอบที่น่าจะถูกต้องตามข้อเท็จจริงมากที่สุด คือ เกิดจากการหมักหมมของตอซังข้าวที่แช่น้ำอยู่เป็นเวลานาน และเมื่อไหลไปตามลำรางสาธารณะซึ่งมีใบยูคาลิปตัสล่วงลงมาสะสมตัวอยู่ด้านล่างในลำรางเป็นจำนวนมาก ยิ่งส่งผลให้น้ำเกิดการเน่าเสียได้ในระดับที่สูงขึ้น" นายเชิดศักดิ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผลศึกษาจาก กพร. ระบุว่า ยังไม่มีการเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ของบริษัท อัคราฯ เนื่องจากต้องให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ พิจารณาก่อนที่จะเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดทำรูปเล่มรายงานฉบับสมบูรณ์ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการต่อไป.