"ทะเลจร" รองเท้าแตะรีไซเคิ่ลจาก "ขยะรองเท้าแสนข้าง" เกาะหลีเป๊ะ - ฝีมือ "แทรช ฮีโร่-ม.อ.ปัตตานี" (2 ธ.ค. 60)
มติชนออนไลน์ 2 ธันวาคม 2560
คลื่นซัดรองเท้าแสนข้างเกาะหลีเป๊ะ “แทรช ฮีโร่-ม.อ.ปัตตานี”เก็บมารีไซเคิ่ลสร้างรองเท้าแตะคู่ใหม่ “ทะเลจร” ยอดขายพุ่ง
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)เปิดเผยว่า จากการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาขยะทะเลพบว่า ร้อยละ 80 ของขยะทะเลมาจากบนบก ส่วนขยะจากกิจกรรมทางทะเล มีเพียงร้อยละ 20 รัฐบาลกำหนดให้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ โดยเน้นจัดการ ขยะตกค้าง 30 ล้านตัน ให้หมดไป และจัดการขยะใหม่ ปีละ 27 ล้านตัน ต้องลดที่ต้นทาง นำมาใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งนี้ในปี 2561 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 3Rs Forum ในกลุ่มประเทศเอชีย – แปซิฟิก รวมทั้งการออกกฎหมายและการสร้างวินัยคนในชาติ นอกเหนือจากการเก็บขยะขึ้นมาจากทะเลแล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือ การกำจัดขยะเหล่านั้นด้วย แค่กำจัดอย่างเดียวยังไม่พอ จะต้องเอาขยะเหล่านั้นมาสร้างเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสังคม ซึ่งใครเลยจะรู้ว่า ประเทศไทย เป็นประเทศแรกในโลกที่เก็บรองเท้าอันเป็นขยะที่ลอยเท้งเต้งอยู่ในทะเลจำนวนเกือบแสนข้าง มาแปรสภาพแล้วจับคู่ใหม่ ให้กลายสภาพเป็นรองเท้าแตะคู่งาม เป็นที่ต้องการของหลายๆคนทั่วโลก
นายจีรวัฒน์ สมบูรณ์ ผู้ประสานงานกลุ่มทราส ฮีโร(Trash hero) เกาะหลีเป๊ะ ประเทศไทย เปิดเผยว่า กลุ่มทราส ฮีโร เป็นกลุ่มจิตอาสาที่ออกทำงานด้านการเก็บขยะในทะเล เป็นชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวประมาณ 90% และคนไทย ทุกคนมองเห็นความสำคัญของการดูแลรักษาทะเล อยากให้ท้องทะเลไทยสะอาดสวยงามตลอดไป จะได้กลับมาเที่ยวทุกๆปี โดยเมื่อเร็วๆนี้กลุ่มทราส ฮีโร ได้ตกลงที่จะไปเข้าค่ายพักแรม เพื่อเก็บขยะทะล ที่บริเวณอ่าวลึก เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล โดยเข้าค่ายพักแรมเป็นเวลา 3 เดือน ออกเก็บขยะริมชายหาด ช่วงเช้า และเย็นทุกวัน
“ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าพวกเราสามารถเก็บขยะได้ประมาณ 3 แสนกิโลกรัม ในจำนวนนี้เป็นขยะที่เป็นรองเท้าหนึ่งแสนกว่าข้าง เฉพาะรองเท้ายางรองเท้าแตพ 80,000 ข้าง ที่เหลือเป็นรองเท้าผ้าใบ นอกจากนี้เป็นขยะพลาสติกขวด ลังโฟม ขยะจากเรือประมง และพวกเครื่องมือประมง ซึ่งมีจำนวนเยอะมาก ตอนแรกที่เรายังไม่ได้แยก เอามากองรวมๆกันมีขนาดเท่าภูเขาลูกย่อมๆลูกหนึ่ง ต้องว่าจ้างเรือขนาดใหญ่ ที่รับจ้างบรรทุก อิฐ หิน ดินทราย ไปยังเกาะต่างๆ ราคาค่าขนส่ง ที่เจ้าของเรือคิดในราคามิตรภาพจาก 150,000 บาท เหลือเพียง 50,000 บาทเท่านั้น”นายจีรวัฒน์ กล่าว
นายจีรวัฒน์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้คิดว่า ขยะในทะเลจะมีมากมายขนาดนี้ แต่เนื่องจากพื้นที่บริเวณนั้นเป็นอ่าว ห่างจากฝั่ง 76 กิโลเมตร ห่างจากเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย นั่งเรือราว 30 นาที ดังนั้นขยะราว 80% คือขยะที่ถูกคลื่นซัดมากจากเกาะลังกาวี ที่เหลืออีก 20% เป็นขยะที่มาจากเรือประมาณ และเครื่องมือประมง ทั้งนี้ในเรือประมงนั้น มีพื้นที่จำกัดสำหรับการทิ้งขยะ จึงทิ้งลงทะเลทั้งหมด เก็บกันทุกวันเช้าเย็น รุ่งเช้าเดินมาเก็บใหม่ ก็มีขยะลอยเข้ามาเหมือนเดิมน่าตกใจมาก และล่าสุดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาพวกเราก็ไปเก็บขยะในพื้นที่เดิมอีก ปรากฏว่าแค่ไม่กี่ชั่วโมง ได้ขยะมา 200 ถุง เต็มๆเป็นรองเท้าประมาณ 500 ข้าง
“ตอนเห็นขยะกองมหึดังกล่าว คิดหนักเหมือนกันว่าจะเอาไปไหน กำจัดอย่างไรดี เพราะเราทุกคนเป็นแค่อาสาสมัคร ไม่มีใครได้รับค่าตอบแทนอะไรทั้งสิ้น มีแต่รีสอร์ต ที่พักที่อยู่บนเกาะหลีเป๊ะ ช่วยกันเลี้ยงข้าว แต่โชคดีที่มีโอกาสได้รู้จักกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี้่านได้แนะแนวทางและขอนำรองเท้ายางทั้งหมดไปรีไซเคิ่ลเปลี่ยนรูปแบบจาก รองเท้าขยะที่ลอยไร้ประโยชน์อยู่กลางทะเล กลายเป็นรองเท้าแตะที่ดูมีคุณค่า ตั้งชื่อรองเท้าที่ถูกเอาทำทำใหม่ว่า รองเท้าทะเลจร โดยมีชุมชนชาวมุสลิม ที่อาศัยอยู่ริมชายหาดปัตตานี มาช่วยกันทำ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น คู่ละ 220-400 บาทสร้างรายได้ให้ชุมชนในพื้นที่ริมทะเลในพื้นที่ดังกล่าวอย่างมาก”นายจีรวัฒน์ กล่าว
นายศรายุทธ ตันเถียร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า ขยะที่ลอยมาจากทุกสารทิศในทะเล เป็นเรื่องน่าหนักใจมาก เพราะไม่สามารถควบคุมได้แน่นอน ที่ทำได้ก็คือ การเก็บทำความสะอาด ถือเป็นเรื่องดีอย่างมากที่เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีผู้แทนจากกลุ่มประเทศอาเซียนได้มาประชุมหาวิธีการลดปัญหาขยะทางทะเลร่วมกัน สำหรับพื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงานั้น เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ต้องรับกับขยะที่ถูกคลื่นซัดมาจากทะเลข้างนอก
“นอกจากเก็บขยะแล้ว เราก็ต้องหาวิธีการเอาขยะเหล่านั้นมากใช้ประโยชน์ด้วย ในส่วนของอ่าวพังงานั้น เราได้นำเอาเศษอวนที่เก็บได้มาทำเป็นที่ช้อนตักขยะ เมื่อออกไปเก็บขยะในทะเล มีชาวบ้านช่วยกันทำ แล้วแจกจ่ายไปยังพื้นที่หมู่บ้านริมทะเลหลายๆพื้นที่ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการจัดการขยะในทะเล เรียกว่า เอาขยะมากำจัดขยะนั่นเอง
ภาพ ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์