เครือข่ายแบนสารพิษ จ่อยื่น ปธ.กก.วัตถุอันตราย สั่งห้ามนำเข้ารพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส (7 ธ.ค. 60)
ประชาไท 7 ธันวาคม 2560
เครือข่ายแบนสารพิษ จ่อยื่น ปธ.กก.วัตถุอันตราย สั่งห้ามนำเข้ารพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส
เครือข่ายแบนสารพิษเตรียมร้อง ประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย กำหนดให้สารพาราควอต และ คลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง เดินสายร้อง รมว.เกษตรฯเพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลการต่อทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อ
6 ธ.ค.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า ที่อาคารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, กรุงเทพ จากที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีการประชุมของคณะกรรมการเพื่อพิจารณายกเลิกและจำกัดการใช้วัตถุอันตราย โดยจะเริ่มมีการพิจารณาในการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 7 ธ.ค.2560 เป็นต้นไปนั้น เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไทยแพนได้จัดประชุมเพื่อสนับสนุนข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุนขให้มีการแบนพาราควอต และคลอร์ไพรีฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต และแถลงเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายดำเนินการอย่างโปร่งใสและป้องกันมิให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน
ผศ.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประธานคณะทำงานวิชาการไทยแพนแถลงว่า ขอสนับสนุนมติของกระทรวงสาธารณสุขและคณะทำงาน 4 กระทรวงหลักที่มีมติให้แบนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซตอย่างเข้มงวด ปัจจุบันมีประเทศต่างๆมากถึง 52 ประเทศที่แบนและประกาศแบนพาราควอต และมีมากกว่า 17 ประเทศที่ควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด สารพิษนี้จึงมีความเสี่ยงในระดับที่สูงมากเกินกว่าที่จะนำมาใช้งานได้อย่างปลอดภัยแม้จะมีการป้องกันที่ดีก็ตามเกณฑ์ทางจริยธรรมขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่า “สารเคมีใดที่เป็นอันตรายในระดับที่เกษตรกรต้องใช้เครื่องป้องกันที่อึดอัดไม่สะดวกสบาย แพง หรือไม่พร้อมที่จะนำมาใช้อย่างทันท่วงที ต้องยุติการใช้สารพิษดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เป็นการใช้ของเกษตรกรรายย่อยในประเทศเขตร้อน” ประเทศไทยต้องยุติสารพิษนี้โดยทันทีเพราะแม้แต่ประเทศผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่อย่างเช่นประเทศจีนก็ประกาศจะแบนพาราควอตทั้งหมดภายในเดือนสิงหาคมปี 2563 หลังจากประกาศแบนพาราควอตในรูปแบบของเหลว (AS) ซึ่งมีผลตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา
รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล จากสถานวิจัยความเป็นเลิศด้านวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งติดตามการตกค้างของพาราควอตในสิ่งแวดล้อมเปิดเผยว่า จากงานวิจัยพบว่าพาราควอตเข้าสู่รากพืชด้วยการแพร่ และดูดซับผ่านเยื่อเมมเบรน โดยมีโปรตีน กรดอะมิโนเป็นสารตัวนำ และเกิดการเคลื่อนย้ายพาราควอตจากรากไปเซลล์ต่างๆ ของพืช ดังนั้นการพบพาราควอตตกค้างในผักและผลไม้เกินมาตรฐานเป็นจำนวนมากนั้นไม่เกินความคาดหมาย เพราะผลการตรวจวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร และหลายประเทศก่อนหน้านี้ เช่น ในแคนาดา สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร บราซิล เป็นต้น ก็มีการตรวจเจอพาราควอตกค้างในธัญพืช และผัก เช่นกัน การกล่าวอ้างว่าอนุภาคของดินจะดูดซับพาราควอตได้ดีไม่น่าจะทำให้เกิดการดูดซึมไปสู่พืช ในทางปฏิบัติไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อมีการใช้พาราควอตอย่างต่อเนื่องปริมาณพาราควอตจะสะสมเกินกว่าที่ดินจะยึดเกาะไว้ได้ พาราควอตส่วนที่ไม่ได้ยึดเกาะสามารถคายซับ ละลายไปกับน้ำ แพร่กระจายไปสู่พื้นที่โดยรอบ และรากพืชสามารถดูดซึมพาราควอตไปสู่ส่วนต่างๆของพืชในที่สุด
ศ.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล ชี้ว่าปัญหาการใช้สารกำจัดวัชพืชนั้นมีการใช้มากในระดับที่น่ากังวล เพราะงานวิจัยพบว่า มีสารไกลโฟเสต และสารพาราควอต ซึ่งเป็นสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง โดยพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมจะมีความเสี่ยงต่อการรับสารไกลโฟเสต กว่าหญิงตั้งครรภ์ทั่วไปถึง 11.9 เท่า และมีความเสี่ยงรับสารพาราควอตมากกว่าคนทั่วไปประมาณ 1.3 เท่า ที่น่าตกใจ คือ แม้ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่หากอาศัยอยู่ใกล้พื้นที่เกษตรกรรมก็มีความเสี่ยงด้วย รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวที่อาศัยในบ้านเดียวกัน แต่ทำงานในพื้นที่เกษตร หญิงตั้งครรภ์ก็มีความเสี่ยงด้วย นอกเหนือจากนี้งานวิจัยล่าสุดยังพบคลอร์ไพรีฟอสในอุจจาระของทารกสูงถึง 32.4% และพาราควอทประมาณ 55% ของจำนวนตัวอย่าง
“สังคมไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงด้านสารเคมีและมลพิษ ที่แม้แต่เด็กแรกเกิดพึ่งลืมตาดูโลก ก็ต้องได้รับความเสี่ยงที่ตัวเองไม่ได้ก่อ” รศ.พรพิมล กล่าวสรุป
ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานไทยแพน เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ซึ่งมาจากการรวมตัวกันของประชาชนและองค์กรต่างๆใน 50 จังหวัดทั่วประเทศจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยมีข้อเรียกร้อง 5 ประการ ดังนี้
1. ขอให้ดำเนินการพิจารณากำหนดให้สารพาราควอต และ คลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง และจำกัดการใช้สารไกลโฟเซตตามมติข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง
2. การประชุมและดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณายกเลิกและจำกัดการใช้วัตถุอันตรายตามข้อ 1 ต้องเป็นไปโดยปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน โดยคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาเรื่องดังกล่าวต้องไม่มีผู้ที่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือทางอื่นใดเกี่ยวข้องกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง ๓ ชนิดโดยตรงและโดยอ้อมเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณายกเลิกและจำกัดการใช้วัตถุอันตรายดังกล่าว
3. การนำเสนอข้อมูลหรือรายงานวิชาการอื่นใดเพื่อสนับสนุนให้มีการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 รายการต้องไม่ใช้ข้อมูลหรือรายงานจากผู้มีผลประโยชน์ส่วนได้เสียหรือสนับสนุนโดยกลุ่มผู้มีผลประโยชน์ส่วนได้เสียมาใช้ในการพิจารณา
4. ขอให้พิจารณาตั้งตัวแทนของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและติดตามเกี่ยวกับปัญหาและการเสนอแนวทางแก้ปัญหาผลกระทบของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจำนวน 3 คนเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานอื่นใดที่มีการพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว จนกว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติที่ชัดเจนเกี่ยวกับวัตถุอันตราย 3 รายการดังกล่าว
5. ขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายเปิดเผยผลการประชุมของคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามและตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการ
ทั้งนี้หลังจากยื่นหนังสือที่กระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว ตัวแทนของเครือข่ายฯจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลการต่อทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชด้วย