"เดชรัต สุขกำเนิด" แนะปลดล็อกปมขัดแย้งโรงไฟฟ้าเทพา (5 ธ.ค. 60)
Thai PBS 5 ธันวาคม 2560
"เดชรัต สุขกำเนิด" แนะปลดล็อกปมขัดแย้งโรงไฟฟ้าเทพา
นักวิชาการด้านพลังงาน แนะวิธี "ปลดล็อก" แก้ปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา รัฐบาลต้องประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และพลังงาน ก่อนตัดสินใจเดินหน้า ระบุกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองไทยสูง 1 หมื่นเมกะวัตต์
วันนี้(5 ธ.ค.2560) นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส กรณีปัญหาความขัดแย้งการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ว่า ยังมีข้อถกเถียงสำคัญอยู่ 2 เรื่อง คือ ความมั่นคงทางพลังงาน และด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
ในด้านความมั่นคงทางพลังงาน มีข้อถกเถียงว่า ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองในระบบมากเกินไปหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองมากถึง 10,000 เมกะวัตต์ ในขณะที่ภาคใต้เอง ก็มีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่สูง แต่ยังติดปัญหาความไม่ชัดเจนของนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งหากมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ศักยภาพความมั่นคงทางด้านพลังงานของภาคใต้ก็จะมีความมั่นคงมากขึ้น และเป็นความมั่นคงที่ตั้งอยู่บนฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมาจากฐานการผลิตของภาคใต้เอง ดังนั้น การมองภาพรวมด้านพลังงานทั้งระบบจึงมีความสำคัญ
““การจะสร้างหรือไม่สร้างอะไร จุดสำคัญที่สุดคืออยู่ที่การวางแผนพลังงานในภาพรวม หรือที่เรียกว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP ในเมื่อเรามีกำลังผลิตไฟฟ้ามากกว่าความต้องการไฟฟ้า เราก็จำเป็นจะต้องทบทวน และหนึ่งในการทบทวนที่เป็นไปได้ก็คือ การที่จะเลื่อนหรือยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าทั้งกระบี่และเทพา ถ้าเกิดว่าทั้ง 2 แห่งไม่มีความจำเป็นต่อเรื่องของกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพียงพอต่อความต้องการ และเรามีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า เราก็สามารถที่จะเลื่อนหรือยกเลิกทั้ง 2 โครงการพร้อมๆ กันได้””
ส่วนในด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ข้อถกเถียงสำคัญคือ การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโรงไฟฟ้าเทพา หรือ EHIA ที่ไม่ได้เปิดให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางเพียงพอ ประกอบกับท่าทีของฝ่ายความมั่นคงที่ดูเหมือนเข้าข้างฝ่ายสนับสนุน จึงยิ่งทำให้มีคำถามจากประชาชนมากขึ้น รวมทั้งปัญหาจากการกำหนดขอบเขตพื้นที่ศึกษาไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ และการแยกศึกษาระหว่างโรงไฟฟ้ากับท่าเทียบเรือออกจากกัน ทั้งๆ ที่ควรมองเป็นโครงการเดียวกัน
“จริงๆ คือต้องศึกษาไปพร้อมกัน คู่กัน ถ้าไม่มีโครงการหนึ่ง ก็ไม่มีอีกโครงการ แต่พวกเราก็มักจะดำเนินการในลักษณะแบบนี้เสมอ สิ่งที่พูดก็คือการมองเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภาพรวมในระดับยุทธศาสตร์ หรือที่เรียกว่า SEA เพราะจริงๆ ทุกกรณีควรต้องมองเป็นภาพรวม นายกรัฐมนตรีก็พูดถึงเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ต้นปีว่า ต่อไปเรื่องการประเมินผลกระทบจำเป็นต้องมองเป็นภาพรวม แต่สิ่งที่รัฐบาลทำ บางครั้งไม่ได้เป็นไปในลักษณะนั้น”
ก่อนหน้านี้เมื่อ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เดินเท้าเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.สงขลาในวันที่ 27-28 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อร้องเรียน และขอคำชี้แจงกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่มีการปะทะกับตำรวจ กระทั่ง 15 แกนนำถูกจับดำเนินคดี และนำมาสู่การเรียกร้องจากเครือข่ายอนุรักษ์ ภาคประชาสังคม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ให้ปล่อยตัวแกนนำที่ถูกจับตัว3 วัน