ไขปมขับเคลื่อนอีอีซี ใช้ม.44บูรณาการทุกฝ่ายได้ประโยชน์ (15 พ.ย. 60)

ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 15 พฤศจิกายน 2560
ไขปมขับเคลื่อนอีอีซี ใช้ม.44บูรณาการทุกฝ่ายได้ประโยชน์

จากคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่ใช้อำนาจตามมาตรา 44เรื่องข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีและร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกพ.ศ. ...(อีอีซี)ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กำลังเป็นที่จับตาของหลายๆ ฝ่าย และกำลังสงสัยว่า จะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มนักลงทุนจนหลงลืมคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้น

-คณิศแจงข้อสงสัย

ในข้อสงสัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้ยืนยันถึงสิ่งที่รัฐบาลจะขับเคลื่อนว่า ต้องการให้การพัฒนาอีอีซีเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อเป็นแกนนำในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

โดยคำนึงถึงการต่อเนื่องเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์กับประเทศสูงสุดมีการจัดวางตำแหน่ง สถานประกอบการ และตำแหน่งการจัดวางระบบสาธารณูปการที่เหมาะสมและอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน ประชาชนในพื้นที่และผู้ประกอบกิจการ รวมทั้งการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจรซึ่งแน่นอนประชาชนในพื้นที่จะมีระบบสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นจากการพัฒนาที่เป็นระบบ

ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการต่างๆในอีอีซีเป็นการต่อยอดจากการพัฒนาโครงการที่มีอยู่เดิม ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยคำนึงถึงการสร้างนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และเป็นกลไกขับเคลื่อน“ประเทศไทย 4.0” แบบก้าวกระโดดและเป็นพื้นที่เป้าหมายแรกในการสร้างการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างระบบการถ่ายโอนเทคโนโลยีขั้นสูงสู่คนไทยด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม

-ดูแลการจัดทำผังเมือง

โดยเฉพาะเรื่องข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่อีอีซี เป็นการทำให้แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินสอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงเป็นการพัฒนาที่บูรณาการที่คำนึงถึงความต่อเนื่องเชื่อมโยงในทุกมิติของพื้นที่ทั้ง3จังหวัดหรือเป็นการทำผังเมืองกลุ่มจังหวัดครั้งแรกที่ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์กับชุมชน สภาพแวดล้อม และระบบนิเวศตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยโดยไม่ละเลยการสร้างความรับรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนในพื้นที่และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องควบคู่กับการดำเนินงานอีกทั้งจะนำไปเป็นมาตรฐานในการจัดทำผังเมืองในอนาคต

-ไม่เร่งออกกฎหมาย

ขณะที่คำสั่งเกี่ยวกับระเบียบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน (PPP) ในการพัฒนาอีอีซีเป็นเพียงการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้รวดเร็วขึ้น โดยไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหลักเกณฑ์ ตาม พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556โดยสามารถลดระยะเวลาจาก 40 เดือน เหลือเพียง 8-10 เดือน ซึ่งจะเป็นมาตรฐานในการนำไปปรับแก้ พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 ต่อไป

ส่วนร่างพ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ... ซึ่งเข้าสู่กระบวนพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ของคณะรัฐมนตรีถึง 3ครั้งนั้นแสดงถึงการให้ความสำคัญในทุกประเด็น ทุกมิติ อย่างรอบคอบ รัดกุม ของทุกภาคส่วนถึงแม้ปัจจุบันร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ ก็ไม่ได้มีการเร่งรัดหรือละเลยในทุกประเด็นที่หลายฝ่ายกังวล

-ยันทุกฝ่ายได้ประโยชน์

ดังนั้น โดยสรุปแล้วในการพัฒนาอีอีซี เป้าหมายที่สำคัญคือ ประชาชนในพื้นที่มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นยกระดับรายได้ให้ใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ ด้วยสภาพชีวิตที่ดีกว่า มีเมืองที่น่าอยู่ที่ดีกว่า อาทิ โอกาสมาถึงบ้าน-รายได้มาถึงตัว งานดีมีมากขึ้นเป็นโอกาสใหม่ให้เยาวชนลูกหลานไม่ต้องออกนอกพื้นที่เพื่อหาสถานศึกษาที่ดีขึ้น หางานที่ดีขึ้น ทำให้สามารถอยู่ได้กับพ่อแม่เป็นครอบครัวอบอุ่น

ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงสถาบันการศึกษาและโรงพยาบาลที่ดีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีระบบสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อมที่ดี จากโครงการลงทุนและการท่องเที่ยวมีเส้นทางคมนาคมที่ดีขึ้นมีกองทุนเพื่อพัฒนาชุมชนหากประชาชนได้รับผลกระทบรัฐจะให้การดูแลอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว โดยมีการตั้งกองทุนเยียวยาขึ้นมาโดยเฉพาะ